สังคมสูงวัย ‘กับดัก’ ฉุดเศรษฐกิจ

สังคมสูงวัย ‘กับดัก’ ฉุดเศรษฐกิจ

ประเทศไทยเราประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 ราย น้อยที่สุดในรอบ 70 ปี จำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย

ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวรับสิ่งใหม่ และการต่อสู้กับปัจจัยท้าทายที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด คือ สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในหลายประเทศทั่วโลก กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นในหลากหลายมิติ

ประเทศไทยเองก็เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ดัชนีชี้วัดการเติบโตไม่เป็นไปตามที่คาด แถมยังมีปัจจัยลบหลายเรื่องที่กำลังรอวันปะทุ

หนึ่งในนั้นคือ การก้าวเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงวัย’ อย่างเต็มที่ คนสูงอายุเพิ่มขึ้น แต่เด็กเกิดใหม่กลับน้อยลง ประเทศที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ มักไร้แรงดึงดูดการลงทุนจากภายนอกประเทศ

ในรายงาน Aging and The Labor Market in Thailand ของธนาคารโลก ชี้ว่า ภาวะประชากรสูงวัยส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานไทย และการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม

จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของบุคคลในประเทศเติบโตลดลง

นอกจากนี้ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คาดการณ์ว่า จะส่งผลให้การเติบโตของจีดีพีต่อหัวลดลงอีก 0.86% ในทศวรรษ 2020 ซึ่งจะกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมากทีเดียว

รายงานระบุด้วยว่า หากอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานนั้น คงที่ตามอายุและเพศแล้ว โครงสร้างประชากรของประเทศไทยจะเปลี่ยนไป

คาดว่าจะส่งผลให้อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานโดยรวม ลดลงประมาณ 5% ระหว่างปี 2563 ถึงปี 2603 และจำนวนแรงงาน ลดลงถึง 14.4 ล้านคน นั่นแปลว่า จำนวนแรงงานที่ลดลงอาจส่งผลให้ประเทศอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน และขัดขวางโอกาสการเติบโตของประเทศไทยได้

ประเทศไทยเราประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 ราย น้อยที่สุดในรอบ 70 ปี จำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย ทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดการณ์ว่า ในอีก 60 ปี ข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน ถือเป็นความเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศในอนาคต

ความเคลื่อนไหวของ ‘รัฐบาล’ ที่กำลังยกเรื่อง “การส่งเสริมให้มีบุตร” เป็น “วาระแห่งชาติ” ภายใต้แนวคิด “Give Birth Great World การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่" ที่จะประกาศในเดือน มี.ค.นี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม และควรต้องทำให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ท่ามกลางความท้าทายและการตีโจทย์ให้แตกของทีมบริหารประเทศ ทั้งเรื่องมาตรการสนับสนุนการมีบุตร สวัสดิการที่รองรับและจูงใจ ทั้งการเกิด รวมถึงการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กให้สามารถพัฒนาทักษะได้ไปจนถึงวัยแรงงานเพื่อเพิ่ม Productivity ให้มากขึ้น....

เรื่องนี้นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ “รัฐบาลเศรษฐา” ต้องตกผลึกให้ดี เพราะมีผลอย่างยิ่งยวดต่อโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศนับจากนี้...