ศิลปหัตถกรรม 'Soft Power' ไทย ปี 66 ส่งออกมูลค่า 3.4 แสนล้านบาท
ศิลปหัตถกรรมไทย สินค้า Soft Power สร้างรายได้เข้าประเทศ ปี 2566 ยอดการส่งออกมูลค่าสูงถึง 340,820 ล้านบาท เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง อันดับ 1 สินค้าส่งออกมากที่สุด มูลค่ากว่า 91,161 ล้านบาท 'sacit' เดินหน้าหนุนผู้ประกอบการไทย เติบโตอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา สินค้าศิลปหัตถกรรมไทยเป็นหนึ่งในสินค้า Soft Power ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติและชุมชนอย่างมหาศาล ซึ่งจากการส่งเสริมสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2566 ยอดการส่งออกสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยมีมูลค่าสูงถึง 340,820 ล้านบาท
สินค้าที่ส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก
1. เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง 91,161 ล้านบาท
2. เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน 56,060 ล้านบาท
3.เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 46,850 ล้านบาท
4. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง 22,982 ล้านบาท
5. เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย 17,719 ล้านบาท
ประเทศที่นำเข้าสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยมากที่สุด
อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการส่งออก 94,203 ล้านบาท
อันดับที่ 2 ฮ่องกง มีมูลค่าการส่งออก 26,764 ล้านบาท
อันดับที่ 3 ญี่ปุ่น มีมูลค่าการส่งออก 21,232 ล้านบาท
อันดับที่ 4 เยอรมนี มีมูลค่าการส่งออก 20,147 ล้านบาท
อันดับที่ 5 สหราชอาณาจักร มีมูลค่าการส่งออก 16,357ล้านบาท
นฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit กล่าวว่า สำหรับในปี 2566 ที่ผ่านมา มียอดจำหน่ายสินค้าศิลปหัตกรรมไทยผ่านช่องทางของ sacit มูลค่ากว่า 291 ล้านบาท และมีการจำหน่ายสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย ตามโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่ง (ไม่รวมอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารและยา) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (รวม OFFLINE, ONLINE) รวมกว่า 116,199,235,666 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รมว.วธ. ชวนเที่ยว '55 เมืองรอง' ร่วมผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปไกลทั่วโลก
- ภาพยนตร์ไทยคึกคัก Soft Power ไทย รุกคนรุ่นใหม่
- 8 จุดจำหน่าย ‘Thainess Station สินค้าไทย ร่วมใจเพื่อชุมชน’ ของ คิง เพาเวอร์
จากจุดเด่นทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายของประเทศไทย ทำให้รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power แห่งชาติ โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ 11 สาขา โดยมีสาขาศิลปะ ออกแบบ เป็นหนึ่งสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรม Soft Power เป้าหมายดังกล่าว
"จากการสำรวจของสื่อระดับโลก US.News ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านมรดกทางวัฒนธรรมในอันดับที่ 9 ของโลก จากทั้งหมด 87 ประเทศ และที่ 2 ของเอเชีย และมีอิทธิพลทางวัฒนธรรม ในอันดับที่ 20 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ และควรพัฒนาศักยภาพให้ดียิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง"
ดังนั้น sacit จึงได้เร่งส่งเสริมในสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้ปรับตัวรับกับกระแสความนิยมวัฒนธรรมไทย ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมสำคัญของนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล โดยการเร่งพัฒนาศักยภาพสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยการจัดงาน “sacit Craft Power” ซึ่งจะรวบรวมทิศทางการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในทุกสาขา เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
sacit Craft Power หนุนผู้ประกอบการ
นฤดี กล่าวต่อไปว่า การที่จะยกระดับสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยไปสู่การเติบโตในตลาดโลกอย่างยั่งยืน จำเป็นที่ต้องรู้แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต ทั้งในเรื่องของรูปแบบ การนำไปใช้งาน และเทคโนโลยีในการผลิต ดังนั้น sacit จึงได้จัดงาน sacit Craft Power ซึ่งจะรวบรวมผูู้้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในแต่ละด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาระดมสมองวิเคราะห์ถึงทิศทางแนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัยในอนาคตว่าจะไปทางใด
ซึ่งจะนำแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตมาวิเคราะห์ถึงให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภค และไลฟ์สไตล์ที่จะเปลี่ยนไป รวมไปถึงข้อจำกัดทางการค้า และสิ่งแวดล้อม มาสังเคราะห์ เพื่อให้มองแนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัยในอนาคตได้อย่างชัดเจนและรอบด้าน
sacit จะนำข้อมูลที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบกิจการสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ใช้เป็นแนวทางนำไปปรับปรุงสินค้า เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่มในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญของงาน sacit Craft Power ที่จะนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้โดดเด่นในเวทีโลก
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัยของตลาดโลก จะมุ่งไปสู่กระแสความต้องการสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติและที่ปราศจากสารเคมี เช่น เครื่องแต่งกายที่ผลิตจากเส้นใยและสีย้อมตกแต่งจากธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยก็มีความโดดเด่นในงานสิ่งทอจากฝ้ายและไหม การแกะสลักไม้ งานจักสาน งานเซรามิก
รวมทั้งการผลิตตามหลักการของ BCG (บีซีจี) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยก็ยึดแนวทางนี้เป็นหลักแต่ผู้ซื้อยังขาดความเข้าใจ โดยหลังจากนี้จะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ และเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มาจากธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความนิยม และมั่นใจว่าสินค้าเหล่านี้มีความทนทานและใช้งานได้ดี
มาตรฐานสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย
นอกจากนี้ sacit ยังได้เริ่มจัดทำมาตรฐานสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยขึ้น โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมจัดทำมาตรฐานสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในทุกกลุ่ม เพื่อให้ผู้ซื้อได้มีความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน ปี 2570 ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย
โดยสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยยังมีโอกาสอีกมากทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าในภูมิภาคนี้จะมีวัตถุดิบในการสร้างสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยคล้าย ๆ กัน เช่น งานไม้ งานเซรามิก งานจักสาน หรือสิ่งทอ แต่ไทยก็มีความโดดเด่นในเรื่องของลวดลาย การตกแต่ง ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่ไม่เหมือนที่อื่น เช่น งานแกะสลัก เครื่องเงินมาลัยกลอนดอกมะลิ มาลัยสาน งานแทงหยวกกล้วย งานลงรักปิดทอง และงานเครื่องเบญจรงค์ เป็นต้น
สอดคล้องกับกระแสความโด่งดังของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นจุดดึงดูดให้ทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมชมในด้านวัฒนธรรมไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเกิดกระแสความต้องการของสินค้าที่สะท้อนวัฒนธรรมไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็น สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ และควรพัฒนาศักยภาพให้ดียิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง
ต่อยอดสินค้า เชิงพาณิชย์
รวมทั้ง sacit มีนโยบายเข้าไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้กับสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยเหล่านี้ ให้สามารถสนับสนุนนโยบายด้านอาหาร เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ออกแบบการผลิตให้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น เช่น การถอดเอาบางส่วนของงานชั้นสูงเหล่านี้มาประกอบเป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน เพิ่ม Function การใช้งาน หรือย่อขนาดให้เล็กลง เพื่อให้คนทั่วไปรู้จักในวงกว้าง และคนรุ่นใหม่นำไปใช้ได้ในชีวิตจริง และร่วมผลักดันประเทศไทยในด้าน Hospitality
การผลิตสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยเหล่านี้ให้เกื้อหนุน Soft Power ในด้านอาหารไทย เช่น จาน ชาม เครื่องใช้ และของตกแต่งบนโต๊ะอาหาร การนำไปใช้งานเป็นของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น รวมทั้งยังได้ใช้โอกาสที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นมาก จัดกิจกรรมกับหน่วยงานท้องถิ่น นำสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยไปร่วมจำหน่ายในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ โดยในปีนี้จะจัดกิจกรรมการจำหน่ายในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดกระแสความนิยมสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยเพิ่มขึ้น