เส้นทางแห่งความหวัง จุดประกายความฝันของคนหลังกำแพง
“ชีวิตหลังกำแพงที่เต็มไปด้วยความทุกข์ กังวล และความหดหู่ นอกจากรู้สึกหมดหวังแล้ว อิสรภาพทางกายและจิตใจดูเหมือนว่าจะถูกจองจำอยู่ภายในลูกกรงที่คับแคบเช่นกัน” นี่เป็นความรู้สึกจากก้นบึงหัวใจของนักโทษหญิงหรือผู้ร่วมเรียนรู้ในเรือนจำชั่วคราวโคกก่อง จ.อุดรธานี
KEY
POINTS
- “คนอุดรธานี ทำเพื่อคนอุดรธานี” พัฒนาผู้ต้องโทษให้มีภูมิคุ้มกันเพื่อการใช้ชีวิตในชุมชนทั้งทางด้านกาย ใจ ความคิด ความรู้ และทักษะเพื่อประกอบอาชีพต่างๆ
- ให้ความรู้ใหม่ๆ แก่นักโทษหญิงในเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การทำขนมปั้นสิบ ทำให้พวกเขาสนุก และสนใจการทำขนม เมื่อออกจากเรือนจำแล้วจะขายขนมปั้นสิบเพื่อสร้างรายได้
- พื้นที่ปลอดภัย เป็นที่พักพิงทางใจให้กับผู้พ้นโทษได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ได้มีที่พึ่งพิง เพื่อให้พวกเขามีที่ยืนในสังคม และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในสังคม เป็นสิ่งที่นักโทษต้องการ
ก่อนที่โครงการการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสร้างทักษะอาชีพสำหรับผู้ต้องขังจะมาสร้างความหวังและเป็นแรงผลักดันให้เธอไม่ย่อท้อและพร้อมออกไปใช้ชีวิตเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม
ปัจจุบัน ‘บุคคลพ้นโทษ’ ถือเป็นบุคคลกลุ่มชายขอบที่มักไม่ได้รับการยอมรับในสังคมไทย และถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี ซึ่งผลของทัศนคตินี้ได้กลายมาเป็นตราบาปติดตัวพวกเขาตลอดไป แม้ว่าจะกลับตัวเป็นคนดีแล้วก็ตาม ผลที่ได้รับจากสังคมส่งผลให้ผู้ต้องขังจำนวนมากที่ผ่านการแก้ไขและฟื้นฟูต้องประสบปัญหาในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการว่างงาน ปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การกระทำผิดซ้ำของบุคคลพ้นโทษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปล่อยตัว ผู้ต้องขังคดีกัญชา หลังปลดล็อกกัญชา
สปสช. เพิ่ม 10 สิทธิประโยชน์กลุ่ม 'ผู้ต้องขัง' ทั่วประเทศ เช็กเลยมีอะไรบ้าง?
โครงการพัฒนาทักษะคนหลังกำแพง กลับคืนสู่สังคม
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เรือนจำกลางอุดรธานีมีแนวคิดในการพัฒนาผู้ต้องโทษเพื่อให้พวกเขากลับคืนสู่สังคม และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสันติ โดยมีเป้าหมายคือ “คนอุดรธานี ทำเพื่อคนอุดรธานี” จึงตั้งใจใช้โอกาสนี้พัฒนาผู้ต้องโทษให้มีภูมิคุ้มกันเพื่อการใช้ชีวิตในชุมชนทั้งทางด้านกาย ใจ ความคิด ความรู้ และทักษะเพื่อประกอบอาชีพต่างๆ โดยเรือนจำกลางอุดรธานีได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) พร้อมออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นแก่ผู้ต้องโทษ ให้สามารถค้นพบโอกาส เพื่อคืนความหวังและความฝันของคนหลังกำแพงให้สามารถนำทักษะความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพและใช้ชีวิตอีกครั้งในสังคมภายนอก
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า โครงการการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสร้างทักษะอาชีพสำหรับผู้ต้องขังนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และเรือนจำกลางอุดรธานีที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ต้องขังทุกคนมีความพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมแบบไม่แปลกแยก รวมถึงเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีอาชีพ สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และหวังว่าโครงการนี้จะสามารถกระจายไปยังเรือนจำอื่นๆในประเทศไทย
ข้อมูลจากจากวารสารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า โครงการการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสร้างทักษะอาชีพสำหรับผู้ต้องขัง เป็นการรวมตัวกันของคณะอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร การเงินและการบัญชี การตลาด รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ มาทำงานร่วมกับผู้ต้องโทษในเรือนจำกลางอุดรธานี แต่เฉพาะเจาะจงไปที่ผู้ต้องโทษหญิงจำนวน 50 คน
เสียงแห่งความหวังจากคนหลังกำแพง
โดยต่อยอดมาจากผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับจากโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวโคกก่อง เรือนจำกลางอุดรธานี มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น โดยวางขายที่ร้านค้าสวัสดิการเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ต้องโทษ
แต่เนื่องจากเรือนจำเป็นพื้นที่ที่มีความเฉพาะ กิจกรรมเรียนรู้แรกที่คณะทำงานออกแบบจึงเป็นกิจกรรมเปิดใจผู้ร่วมเรียนรู้ด้วยการเข้าหาแบบพี่น้องมากกว่าในฐานะอาจารย์ ใช้วิธีสบตา สัมผัส ชวนคุยอย่างเป็นมิตร เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้พวกเขาสามารถมองเห็นคุณค่าในตนเอง และเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น
หนึ่งในผู้ต้องขังหญิงหรือผู้ร่วมเรียนรู้ในโครงการ เล่าว่า หลังจากที่ถูกจับและเข้าเรือนจำ ก็มีความรู้สึกหดหู่และหมดหวัง จนได้มาเข้าร่วมโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสร้างทักษะอาชีพสำหรับผู้ต้องขัง จึงรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น
เนื่องจากอาจารย์ผู้ฝึกสอนในโครงการสอนทุกอย่างมากกว่าการแค่การแปรรูปอาหาร ทั้งความรู้เรื่องการเงินและบัญชีและทักษะการทำงานอื่นๆ ที่อย่างครอบคลุมตลอด ทำให้เรามีความหวังและมีความรู้เพิ่มเติม เมื่อออกจากเรือนจำแล้วจะเปิดร้านอาหารเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว จะไม่กลับไปทำความผิดซ้ำสองอีกแล้ว
ขนมปั้นสิบ ปั้นโอกาสแห่งการเรียนรู้
ผศ.ดร.ศศิณี กันยาบุญ ตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้รับผิดชอบโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพสำหรับผู้ต้องขัง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเราเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนและท้องถิ่น เราจึงมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้เรียนรู้ที่อยู่ในเรือนจำ โดยการสอนทักษะการแปรรูปอาหาร เพื่อให้ผู้ร่วมเรียนรู้ในเรือนจำมีทักษะติดตัวในการประกอบอาชีพ ด้วยการนำของที่มีอยู่มาแปรรูปให้มีมูลค่ามากขึ้น รวมถึงหนุนเสริมให้ผู้ร่วมเรียนรู้มีสุขภาวะทางด้านจิตใจที่ดี รู้จักรักและเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น พร้อมสอดแทรกแนวคิดในการให้อภัยตัวเองและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้กับผู้ร่วมเรียนรู้
“ชีวิตก็เหมือนกับการปั้นขนม เราอาจทำผิดพลาด อาจปั้นไม่สวย แต่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากลองหัดปั้นแป้งโดก่อน และลองทำซ้ำเรื่อยๆ จนกว่าจะชำนาญ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อรู้ว่าเราผิดพลาด ต้องรู้จักให้อภัยตนเอง และกล้าที่จะเริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่พลาดแล้วพลาดเลย แต่พลาดแล้วต้องรู้ตัวและพร้อมแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น”
ผศ.ดร.วรรณศิริ วรรณสืบเชื้อ คณะทำงานและวิทยากรการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร กล่าวว่า ทักษะการแปรรูปอาหารที่สอนผู้ร่วมเรียนรู้นั้น จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและมอบโอกาสแห่งการเรียนรู้ในการผลักดันให้พวกเขานำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพหลังกลับคืนสู่สังคม
กลุ่มผู้ต้องขังหญิงหรือกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้ในโครงการ อายุระหว่าง 20-35 ปี เล่าว่า โครงการนี้ได้ให้ความรู้ใหม่ๆ ที่พวกเราไม่เคยทำมาก่อน เช่น การทำขนมปั้นสิบ ซึ่งทำให้เราสนใจและสนุกไปกับการทำขนมดังกล่าว พร้อมตั้งใจว่าเมื่อออกจากเรือนจำแล้วจะขายขนมปั้นสิบเพื่อสร้างรายได้ต่อไป
พื้นที่ปลอดภัย ให้คนหลังกำแพงมีชีวิตใหม่
ในวันที่ 5 เมษายน 2567 บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด ได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมคนทำดีสู่สังคมไม่จำกัดขึ้น เพื่อให้ผู้ต้องโทษทั้งที่เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโครงการฯ และผู้สนใจ ได้มาร่วมงานกันวิสาหกิจฯ ซึ่งจะเป็นที่พื้นที่ปลอดภัยและเป็นที่พักพิงทางใจให้กับผู้พ้นโทษได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ได้มีที่พึ่งพิง เพื่อให้พวกเขามีที่ยืนในสังคม และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในสังคม รวมถึงเป็นพื้นที่จุดประกายความหวังและความฝัน เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนดีของสังคมต่อไป