เปิด 10 จุดเติมน้ำฟรี ดื่มน้ำฟรี ดับร้อนทั่วกรุง ลดพลาสติก คนกรุงเทพฯ เช็กเลย
กทม. เปิด 10 จุดเติมน้ำฟรี "ดื่มน้ำฟรี" ดับร้อนทั่วกรุง และลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ย้ำผลการดำเนินโครงการฯ เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา ลดการใช้ขวดพลาสติกไปแล้ว 456,894 ขวด พร้อมเตรียมขยายจุดดับกระหายอีก 200 จุด คนกรุงเทพฯ เช็กเลย
คนกรุงเทพฯ เช็กเลย กทม. เปิด 10 จุดเติมน้ำฟรี "ดื่มน้ำฟรี" ดับร้อนทั่วกรุง และลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ย้ำผลการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา สามารถลดการใช้ขวดพลาสติกไปแล้ว 456,894 ขวด พร้อมเตรียมขยายจุดดับกระหายเพิ่มอีก 200 จุด เพื่อกรุงเทพฯ…ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว
วันนี้ 18 เมษายน 2567 เวลา 08.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เยี่ยมจุดบริการเติมน้ำดื่มตามโครงการ “Bottle Free Seas ลดก่อน ล้นโลก” บริเวณอุโมงค์หน้าพระลาน และท่ามหาราช ภายใต้นโยบาย “น้ำดื่มสะอาด ปลอดภัย ฟรี ทั่วกรุง”
โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ทำการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรี เพื่อบริการประชาชน และลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไปพร้อมกัน ซึ่งทุกการกดเติมน้ำที่ตู้ 1 ครั้ง จะถือเป็นการลดการใช้ขวดน้ำพลาสติก 1 ขวด
เปิด 10 จุดเติมน้ำฟรี "ดื่มน้ำฟรี" ดับร้อนทั่วกรุง
ปัจจุบันมีการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรีแล้ว 10 แห่ง ได้แก่
1. บริเวณประตู 6 สวนเบญจกิติ
2. สนามพิกเคิลบอล สวนเบญจกิติ
3. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
4. ลานหน้าศาลพระตรีมูรติ เซ็นทรัลเวิลด์
5. ป้ายรถเมล์ติดแอร์ หน้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์
6. ฟอร์จูนทาวน์ พระราม 9
7. สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ
8. “สวนรถไฟ” หรือสวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร
9. อุโมงค์หน้าพระลาน เขตพระนคร
10. ท่ามหาราช เขตพระนคร
แผนดำเนินการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรี 200 จุดทั่วกรุงเทพฯ
โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีแผนดำเนินการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรี 200 จุด ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง สำนักงานเขตทุกเขต และสวนสาธารณะ
ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว รวมถึงประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการใช้พื้นที่เพื่อติดตั้งตู้กดน้ำเพื่ออำนวยความสะดวก และบริการประชาชนอย่างทั่วถึง
“ต้องขอบคุณ EJF ที่ช่วยทําสิ่งดีๆ ให้คนกรุงเทพฯ สิ่งสําคัญคือ ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ ต้องเชิญชวนมาร่วมกัน ตึกต่างๆ ที่มีติดตั้งทุกตึก ที่ทำงานออฟฟิศต่างๆ
รวมถึงหน่วยงานราชการ ถ้าร่วมมือร่วมใจกันจะติดตั้งครบตามเป้าที่กำหนดในพริบตาเดียว แต่ถ้าให้ กทม. ติดตั้งเองทุกแห่งอาจจะช้านิดนึง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผลการดำเนินโครงการฯ ลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
- ผลการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา สามารถลดการใช้ขวดพลาสติกไปแล้ว 456,894 ขวด
อ้างอิง-ภาพ : กรุงเทพมหานคร
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์