สไตล์การเลี้ยงลูกแบบไหนให้ผลดีที่สุด
นักจิตวิทยาอธิบายว่ามีสไตล์การเลี้ยงลูกแบบใหญ่ 4 แบบที่แตกต่างกันและสร้างผลลัพธ์ที่ต่างกัน โดย 3 แบบแรกมีผลเสียมากกว่าผลดี
แบบที่ 1 Authoritarian การใช้อำนาจของพ่อแม่แบบเข้มงวด เน้นคำสั่งมากกว่าเหตุผล เน้นวินัยแบบการลงโทษรุนแรง เช่น ถ้ามีการทำผิดหรือไม่ได้มาตรฐานอย่างที่พ่อแม่คาดหวังไว้
การเลี้ยงดูเด็กแบบนี้จะสร้างเด็กที่มีปัญหา ขาดความมั่นใจในตนเอง เข้าสังคมไม่ค่อยได้ดี มีความกระฉับกระเฉงต่ำ เป็นคนมีอคติ และเรียนรู้ได้ต่ำ อาจเป็นคนแบบชอบใช้อำนาจกับคนอื่นที่ตนทำได้ต่อไป
แบบที่ 2 สุดโต่งไปและคนละขั้วกับแบบที่ 1 คือ Permissive หรือ Indulgent พ่อแม่ปล่อยเสรีตามใจลูกมากเกินไป ไม่ค่อยแนะนำ ไม่วางแผนแนวทางวินัยขอบเขตที่ควรมี ปล่อยให้เด็กมีเสรีคิดตัดสินใจทำเอง มองลูกเหมือนเป็นเพื่อนมากกว่าเป็นผู้ปกครอง เด็กพวกนี้อาจจะกระฉับกระเฉงมีอารมณ์ดีกว่าเด็กในครอบครัวแบบที่ 1 แต่ก็จะมีปัญหาทักษะทางสังคมและการเรียนรู้อื่นๆ ต่ำ
แบบที่ 3 Uninvolved, Neglect ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ไม่มีเวลาดูแล พูดคุยหรือเล่นด้วย เด็กกลุ่มนี้ต้องพึ่งตนเองสูง บางคนอาจปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดได้ดี แต่ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ดี รู้จักใช้ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาได้น้อย มีปัญหาทางเรื่องทักษะการเรียนและการเข้าสังคม
แบบที่ 4 ที่นักจิตวิทยาถือว่าเป็นแบบมาตรฐานที่ดีที่สุดคือ Authoritative ปกครองใช้สิทธิอำนาจของพ่อแม่เท่าที่จำเป็น ควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูอย่างเป็นประชาธิปไตย พูดคุยอธิบายให้ลูกเข้าใจเหตุผล วางขอบเขตให้ลูกเข้าใจว่าวัยไหนควรทำอะไร ใช้วิธีสร้างวินัยทางบวกแบบให้แรงจูงใจ ให้รางวัลแทนการลงโทษแบบรุนแรงเกินเหตุ
เด็กกลุ่มนี้จะมั่นใจในตนเอง เป็นอิสระ เป็นมิตร และมีทักษะทางทั้งในทางสังคมและการเรียนรู้สูงกว่าเด็กที่มาจากการเรียนรู้แบบอื่นๆ ทั้ง 3 แบบที่ก่อนหน้านี้
การเลี้ยงเด็กแบบที่ 4 นี้ คนไทยควรเรียนรู้และใช้วิธีเลี้ยงลูกให้เกิดผลดีทั้งต่อพัฒนาการในทางบวกของลูกเอง และการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้กับสังคม ก่อนอื่นต้องปฏิรูปที่ตัวพ่อแม่ อ่านหาความรู้ในเรื่องจิตวิทยามนุษย์เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจว่ามีสไตล์การเลี้ยงดูลูกที่ดีกว่าวิธีเดิมที่พวกเขาใช้อยู่
พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูลูกในแนวที่เน้นเหตุผลมักเป็นคนใจกว้างแบบเสรีนิยม สร้างและรักษาความสัมพันธ์ทางบวกกับลูก รู้จักการวางกฎระเบียบที่คิดว่าจำเป็น เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการและการเรียนรู้เรื่องวินัยของลูก พ่อแม่สามารถอธิบายเหตุผลสำหรับกฎระเบียบแต่ละข้อให้ลูกเข้าใจและเลือกทำด้วยตนเองได้
ขณะเดียวกันก็พิจารณาเรื่องพฤติกรรมลูกอย่างยืดหยุ่น คำนึงถึงความคิดความรู้สึกของลูกด้วย
การฝึกวินัยเน้นทางบวกคือการชมเชยและให้รางวัลเมื่อลูกทำดี เพื่อสนับสนุนเขาให้มีพฤติกรรมทางบวกมากกว่าการขู่เข็ญ การลงโทษ ซึ่งนักจิตวิทยาพบว่าแบบหลังเป็นผลเสียมากกว่า คนทั่วไปที่เคยชินกับอำนาจนิยมมักเข้าใจว่าการขู่เข็ญ การลงโทษ จะช่วยสร้างพลเมืองดี แต่ผลที่ได้อาจตรงกันข้าม
พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแนวนี้ให้ความรัก การดูแล ความอบอุ่นแก่ลูก ควบคู่ไปกับการเน้นเรื่องความรับผิดชอบกับลูกและวินัยที่สมเหตุสมผลด้วยการสื่อสารกับลูกอย่างสร้างสรรค์ มีขอบเขต
การคาดหมายจากลูกในระดับหนึ่ง เข้าใจว่าลูกอาจทำผิดได้ และใช้การทำผิดเป็นบทเรียนให้ลูกได้เรียนรู้ แก้ตัว ปรับตัวใหม่ได้ พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย พฤติกรรมของพ่อแม่ที่เด็กเห็นมีอิทธิพลต่อเด็กมากกว่าตัวคำพูดคำสั่งสอน
การเลี้ยงดูลูกแบบนี้ส่งผลดีต่อเด็กหลายทาง เช่น มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่และคนอื่นๆ เป็นคนรับผิดชอบ และนับถือคนอื่น จัดการกับอารมณ์โกรธรุนแรงของตนได้ มีความมั่นใจ ภูมิใจในตัวเอง ดูแลระเบียบวินัยด้วยตนเองได้
มีอารมณ์ที่ดี เรียนรู้ทางวิชาการและทักษะต่างๆ ได้ดี มีความสุข ความพอใจ ตัดสินใจเป็น มีความคาดหวังต่ออนาคตของตนเอง และเป็นเด็กวัยรุ่นที่มีโอกาสติดเหล้าหรือยาเสพติดน้อยกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงในแนว 3 กลุ่มแรก
ไทยจะปฏิรูปสไตล์การเลี้ยงดูเด็กได้อย่างไร วัฒนธรรมแบบศักดินานิยม อำนาจนิยม อาวุโสนิยม ที่คงตกค้างอยู่มาก ทำให้ครอบครัวไทยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงลูกแบบใช้อำนาจเผด็จการมากกว่าแบบอื่น พ่อแม่เองได้รับการเลี้ยงดูมาแบบนี้ และพอเขาโตเป็นผู้ใหญ่เขาก็เชื่อว่านี่คือวิธีเดียวที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีคนเก่งได้
คนที่ผ่านการเลี้ยงดูแบบนี้มาในอดีตบางคนก็ปรับตัวได้ดี พัฒนาเป็นคนเก่ง คนดี ภายหลังได้ เพราะพวกเขาได้เจอสภาพแวดล้อมแบบอื่นด้วย เช่น ได้เจอผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ที่ใจดีช่วยเหลือให้พวกเขาพัฒนาตนเองได้ดีขึ้น แต่เด็กวัยรุ่นและคนไทยส่วนมากมีปัญหาด้านต่างๆ จากการถูกเลี้ยงดูและถูกสอนให้คิดแบบอำนาจนิยมจริงๆ
สังคมไทยควรมีการสอน การแนะนำเรื่องจิตวิทยาเด็กมากขึ้น พ่อแม่อาจจะอ่านเอง คิดเองได้บ้าง ต้องเข้าใจว่าพัฒนาการทางจิตใจลูกสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องการเลี้ยงลูกในแง่ให้อยู่รอดทางกายภาพและการส่งไปเข้าโรงเรียน
การเลี้ยงดูแบบปล่อยเสรีมากเกินไปจนไม่ดูแลเรื่องพัฒนาการทางวินัยของลูกเลย มีในหมู่คนรวย คนชั้นกลาง ที่เน้นเรื่องการบริโภคทางวัตถุ เรื่องนี้สร้างปัญหาทั้งทางสุขภาพจิตและสุขภาพกายด้วย เช่น เด็กบางคนไม่มีวินัย กินอาหารตามสบาย เป็นโรคน้ำหนักเกินและโรคอื่นๆ หรือเล่นแต่สมาร์ตโฟนจนไม่มีสมาธิในการเรียน เพราะพ่อแม่ไม่ได้เอาใจใส่แนะนำดูแล บางทีพ่อแม่ก็เป็นเสียเองด้วย
การเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยมีมากในหมู่คนรายได้และการศึกษาต่ำ คนที่มีปัญหาอยู่แล้ว เช่น แม่ที่ยังเป็นวัยรุ่นหรือต้องเลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียว ต้องทำงานปากกัดตีนถีบ ตัวเองก็มีปัญหามาก ไม่มีเวลาหรือปัญญาจะดูแลลูกแบบเอาใจใส่และอย่างมีความรู้ความเข้าใจได้มากพอ
สไตล์การเลี้ยงลูก 3 แบบที่ให้ผลลบมากกว่าผลบวกนั้น เป็นปัญหามาจากทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ควบคู่ไปกับเรื่องพ่อแม่ขาดความรู้ทางจิตวิทยาการเลี้ยงดู
รัฐบาลควรเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา การกระจายสิทธิและโอกาสทางเศรษฐกิจสังคม การศึกษาสู่คนรายได้ต่ำเป็นธรรม ให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กทุกคนเพิ่มขึ้น การให้การศึกษา ให้ความรู้พ่อแม่ควบคู่ไปกับปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างเอาจริงเอาจัง