“ระบบสวัสดิการ-หลักประกันรัฐ” มีแนวโน้มล้มละลาย  ผลกระทบสังคมสูงวัย

“ระบบสวัสดิการ-หลักประกันรัฐ” มีแนวโน้มล้มละลาย  ผลกระทบสังคมสูงวัย

วิกฤตประชากรไทย เกิดน้อย-สังคมผู้สูงอายุ สุ่มเสี่ยง 3 ผลกระทบต่อสังคมไทย “ระบบสวัสดิการ-หลักประกันรัฐ” มีแนวโน้มล้มละลาย  พม.เร่งขับเคลื่อน “นโยบาย 5X5”สกัดปัญหาลดผลกระทบ

KEY

POINTS

  • สถานการณ์วิกฤตประชากรไทย  อัตราเจริญพันธุ์รวมปี 2566 อยู่ที่ 1.1  ขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่เพียงปีละราว 5.18 แสนคน แต่มีผู้สูงอายุมากถึง 13 ล้านคน คิดเป็น 20 % ของประชากรทั้งประเทศ
  • วิกฤตประชากร 3 ผลกระทบต่อสังคม “ระบบสวัสดิการและหลักประกันของรัฐมีแนวโน้มล้มละลาย”   อีก 10 ปีข้างหน้า วัยทำงานเพียง 2 คนดูแลผู้สูงอายุ 1 คน จากปัจจุบัน 3 ต่อ 1
  • นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร ครอบคลุมมิติสร้างเสริมพลังวัยทำงาน ผู้สูงอายุ เพิ่มคุณภาพเด็กและเยาวชน เพิ่มโอกาสผู้พิการ 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กำหนดทิศทางผลกระทบของสังคมสูงวัย ต่อความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาสังคม” ภายในการประชุมธุรกิจของสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน(ACMA Business Forum 2024) ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯเมื่อเร็วๆนี้ว่า  วิกฤตประชากรไทย เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัยเร็วขึ้น โดยเด็กเกิดน้อย

ภาวะเจริญพันธุ์ลดต่ำลงอย่างต่อเรื่องและลดสู่ระดับต่ำมาก  ปี 2538-2539 อัตราเจริญพันธุ์รวมอยู่ที่ 2.02 ลดลงมาต่อเนื่องจนปี 2566 อยู่ที่ 1.1  ขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่เพียงปีละราว 5.18 แสนคน แต่มีผู้สูงอายุมากถึง 13 ล้านคน คิดเป็น 20 % ของประชากรทั้งประเทศ

“ระบบสวัสดิการ-หลักประกันรัฐ” มีแนวโน้มล้มละลาย  ผลกระทบสังคมสูงวัย

3 ผลกระทบของสังคมสูงวัย

สถานการณ์นี้จะทำให้ประชากรไทยลดลง ในปี 2576 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ซึ่งการดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุจะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของประชากรวัยทำงาน และผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เป็นผู้สูงอายุ(50-59ปี) ก็มีภาวะในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุรุ่นพ่อแม่(80ปีขึ้นไป)เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันวัยทำงาน  3 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะลดลงเหลือเพียง 2 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้สูงอายุมีมากแต่ผู้สูงอายุเป็นพลังในการพัฒนาประเทศ

สำหรับผลกระทบของสังคมสูงวัยต่อสังคมไทย มี 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.ระบบสวัสดิการและหลักประกันของรัฐมีแนวโน้มล้มละลาย 

2.ครอบครัวไทยกำลังเลือนหาย 

3.ประชากรวัยเด็กและแรงงานน้อยลงและผลิตภาพ(Productivity)ของประชากรยังคงอยู่ในระดับต่ำ เด็กน้อย แรงงานน้อย ด้อยคุณภาพ 

นโยบาย5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากร นายวราวุธ กล่าวว่า  มี  5 เรื่องสำคัญ โดยแต่ละเรื่องจะมี 5 มาตรการย่อยในการดำเนินการ หรือ นโยบาย5X5 ประกอบด้วย 

1.เสริมพลังวัยทำงาน ด้วยการเพิ่มโอกาสสร้างความตระหนักในการพัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อการประกอบอาชีพ และบูรณาการฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงาน,การส่งเสริมการมีงานทำและรายได้ด้วยการกระจายงานสู่พื้นที่ สู่ชุมชน ,ส่งเสริมการออม สร้างแรงจูงให้ออมภาคบังคับ,ส่งเสริมสุขภาพของประชากร เพิ่มสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพ และมาตาการส่งสริมสมดูลในชีวิต เช่น สร้างแรงจูงใจด้านภาษีให้ผู้ประกอบการการทำงานแบบยืดหยุ่น ส่งเสริมบทบาทชายหญิง 

2.เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน   โดยการส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาให้มีความเข้มแข็ง,ดูแลสุขภาพทางกายและจิตใจของเด็กและแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์,การมีศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน มีมาตรฐาน รับเด็กอายุน้อยลง มีความยืดหยุ่น ชุมชนช่วยจัดการได้ ,การพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพตามวัย สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เป็นพลวัต,การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัย

สร้างพลังผู้สูงอายุ-เพิ่มโอกาสผู้พิการ  

3.สร้างพลังผู้สูงอายุ  ในการเสริมการมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ,ขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการจ้างงาน,ส่งเสริมการรู้ดิจิทัล,พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ,ส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ และเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติ 

4.เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าผู้พิการ  มุ่งเรื่องการศึกษาสำหรับคนพิการ การจ้างงานคนพิการในทุกภาคส่วน ทำให้เกิดตลาดแรงงานปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน,สิทธิประโยชน์ที่ครบถ้วน ทัศนคติในการอยู่ร่วมกัน การพัฒนาระบบการดูแลแทนครอบครัวชั่วคราว การสร้างแรงจูงใจด้วยSocial Credit ,การป้องกันการพิการแต่กำเนิดและการพิการทุกช่วงวัยและฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและทางใจ ,Universal Design และระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยในการดำเนินชีวิต  และการจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อประโยชน์ในการหางานและการจ้างงาน

5.สร้างระบบนิเวศ(Eco-System)ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว  ด้วยการพัฒนาระบบสวัสดิการเหมาะสมและทั่วถึงโดยรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเป็นหลักประกันในยามที่เผชิญกับวิกฤต(Social Safety Net),ชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มทุกวัย ,บ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย,เศรษฐกิจครัวเรือน เข้าถึงแหล่งทุน สร้างกลไกค้ำประกันเพื่อเสริมสภาพคล่อง เสริมสร้างความรู้การบริหารการเงินสำหรับครัวเรือน และการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชากร ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy)