2 ปี “ผู้ว่าฯชัชชาติ” Bangkok health zoning ยังไม่เกิด

2 ปี “ผู้ว่าฯชัชชาติ” Bangkok health zoning ยังไม่เกิด

เมื่อพิจารณา “นโยบายผู้ว่าฯชัชชาติ”เกี่ยวกับเด้านสาธารณสุข นับว่า “ตรงเป้า”อยู่มิน้อย แต่ผ่านมาแล้ว 2 ปี ผลลัพธ์ภาพใหญ่Bangkok health zoning ยังไม่เกิด

ระบบสาธารณสุข กทม. มีความซับซ้อนอย่างมาก เนื่องจากหน่วยบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอยู่ในทั้งภาครัฐและเอกชน และในภาครัฐเองมีหลากหลายสังกัด ขณะที่ประชากรที่เข้ามาอยู่จำนวนมากกว่า 10 ล้านคน ช่วงที่โควิด-19 ระบาดสะท้อนปัญหาของกทม.อย่างมาก  ทั้งการเข้ารับบริการที่มีความไม่คล่องตัว และจำนวนเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ

ในสังกัดกรุงเทพมหานคร จะมี รพ. 11 แห่ง  ขนาดเทียบเท่ารพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป(รพ.จังหวัด)ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และศูนย์บริการสาธารณสุข(ศบส.) 69 ศูนย์ และ 77 ศูนย์สาขา                  

ข้อมูลสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากรในพื้นที่กลุ่มเขตพบว่า กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากรน้อยที่สุด เท่ากับ 2.19 : 1,000 ประชากร โดยเขตดอนเมือง น้อยที่สุด 0.77 เตียง ต่อ1,000 ประชากร

การแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขกทม.“การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ”และ”การเชื่อมต่อกับรพ.สังกัดต่างๆให้ได้แบบไร้รอยต่อ” จึงเป็นคำตอบของคนกรุง

เมื่อพิจารณา “นโยบายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”เกี่ยวกับสาธารณสุข นับว่า “ตรงเป้า”อยู่มิน้อย โดยเฉพาะเรื่อง “ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสาธารณสุข” ด้วยการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร เพื่อให้บริการประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น 

ทว่า ผ่านมาแล้ว 2 ปี สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น! ศบส.หน่วยบริการปฐมภูมิที่ควรจะเข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาสุขภาพคนกรุง ให้ได้เหมือนกับรพ.ชุมชนของคนต่างจังหวัด  ยังไม่สามารถพัฒนายกระดับเป็นหน่วยให้บริการตามสิทธิ์บัตรทอง 30 บาทให้กับประชากรในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ ทั้งที่ ประชากรอยู่ในสิทธิ์บัตรทองถึงราว 50 %และยังมีหน่วยบริการประจำตามสิทธิ์ไม่พอ

ส่วนการแก้ไขความไม่คล่องตัวในการเข้ารับบริการหรือส่งต่อผู้ป่วย ก็มีการขับเคลื่อน “นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ”ผ่านโครงการ “Sandbox ระบบสุขภาพ กทม.” ซึ่งยังคงเห็นภาพการดำเนินการที่ชัดเจนเพียง “ดุสิตโมเดล” และ”ราชพิพัฒน์โมเดล” ที่เป็นต้นแบบการบูรณาการหน่วยบริการปฐมภูมิ ภาคีเครือข่าย และภาคประชาชน ทำให้การเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของประชาชนง่ายขึ้น แต่พื้นที่กลุ่มเขตอื่นยังไม่เห็นผล

ณ วันนี้ ภาพใหญ่ของนโยบายสาธารณสุข กทม. ที่ต้องการให้เกิด “Bangkok health zoning”ครอบคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร จึงยังไม่เกิดขึ้น