กางแผนพัฒนา“ระบบสาธารณสุข”รองรับคนในกทม. สร้างรพ.ใหม่ 3 แห่ง

กางแผนพัฒนา“ระบบสาธารณสุข”รองรับคนในกทม. สร้างรพ.ใหม่ 3 แห่ง

เปิดแผนพัฒนาระบบสาธารณสุข กทม. ขยับสร้างเพิ่มตั้งแต่ระดับโรงเรียน ศิริราช-รามาฯ-ธรรมศาสตร์ฯ ส่วนสังกัดกทม.อีก 3 แห่ง3โซน รพ.สังกัดสธ.ขยายบริการหลายจุด หลังคนในกทม.ต้องเผชิญจำนวนเตียงน้อย การส่งต่อผู้ป่วยสะดุด

KEY

POINTS

  • ปัญหาของระบบสาธารณสุข กทม. หลักๆอยู่ที่จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยมีน้อยไม่เพียงพอที่จะรองรับคนที่อยู่ในพื้นที่ ขณะที่ระบบส่งต่อผู้ป่วยก็ยังไม่ลื่นไหล เกิดการสะดุดในบางช่วงบางตอนบางเวลา
  • ระบบสาธารณสุข กทม. สิทธิ์บัตรทอง 30บาท ในปี 2566 ราว 5.4 ล้านคน ยังไม่รวมประชากรแฝง นับว่ามากที่สุดในพื้นที่ ได้มีการวางการพัฒนาด้วยการเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิหลากหลายมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่คลินิกชุมชนอบอุ่น 
  • แผนพัฒนาระบบสาธารณสุข กทม. ในระดับรพ.สังกัดสธ. กทม.และโรงเรียนแพทย์ก็มีแผนการขับเคลื่นเพื่อรองรับการให้บริการทางการแพทย์ได้มากขึ้นทั้งการขยายบริการนอกรพ.  การสร้างรพ.ใหม่ 3 แห่ง

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่มีความก้าวหน้าในเรื่องของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการรักษาพยาบาลมากที่สุดของประเทศไทย แต่ก็มีความซับซ้อนของระบบบริการในระบบสาธารณสุขมากที่สุดของประเทศเช่นเดียวกัน เนื่องจากหน่วยบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น อยู่ในทั้งภาครัฐและเอกชน และในภาครัฐเองก็มีหลากหลายสังกัด

ประชากรในกทม. 7.8 ล้านคน หรือถ้ารวมประชากรแฝงด้วยเป็น 10 ล้าน  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ผ่านมา สะท้อนภาพปัญหาของระบบสาธารณสุข กทม.ได้อย่างดี โดยเฉพาะเรื่องจำนวนเตียงผู้ป่วยที่ไม่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มาอาศัยอยู่ในกทม. รวมถึง เรื่องระบบการส่งต่อที่ไม่ลื่นไหล ยังมีการสะดุดอยู่ในบางช่วง 

สภาพปัญหาระบบสาธารณสุข กทม.

เตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ

สำนักการแพทย์  กรุงเทพมหานคร สำรวจข้อมูลสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากรในพื้นที่กลุ่มเขตพบว่า 

  • กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากรน้อยที่สุด เท่ากับ 2.19 : 1,000 ประชากร โดยเขตดอนเมือง น้อยที่สุด 0.77 เตียง ต่อ1,000 ประชากร
  •  กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันตก มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 2.8 เตียงต่อ 1,000 ประชากร
  • กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 3.3 เตียงต่อ 1,000 ประชากร
  • กลุ่มเขตกรุงเทพชั้นใน มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 5.54  เตียงต่อ 1,000 ประชากร
  • กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 9.3 เตียงต่อ 1,000 ประชากร
  • กลุ่มเขตกรุงเทพฝั่งธนบุรี  มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 10.23 เตียงต่อ 1,000 ประชากร
  • กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 12.63  เตียงต่อ 1,000 ประชากร

การส่งต่อผู้ป่วยไม่คล่องตัว

ข้อมูลปี 2566  มีประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30บาทในพื้นที่กทม.จำนวน 5,487,078 คน ไม่รวมประชากรแฝงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งโดยระบบนั้นผู้ป่วยจะต้องรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อน ซึ่งเดิมจะเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น หากเกินศักยภาพจึงจะมีการส่งต่อผู้ป่วย ทว่า รพ.รับส่งต่อในระบบบัตรทอง 30บาท มีจำกัด ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิและการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล
อย่างเช่นเมื่อราวเดือนมี.ค.2567 เกิดกรณีปัญหาเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยในกทม.ขึ้น  มีการร้องเรียนจากผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30บาทว่า ผู้ป่วยที่มีใบส่งตัวเพื่อไปรับบริการที่รพ.รับส่งตัวนั้นใช้ไม่ได้ แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มผู้ป่วยที่ถึงวันนัดแล้วแต่รับบริการที่ รพ.ไม่ได้ เพราะใบส่งตัวที่เคยใช้ไม่สามารถใช้ได้แล้ว มีประมา 10% ถือเป็นกลุ่มเร่งด่วนที่ต้องดูแล

2.กลุ่มมีนัดเข้ารับการรักษาในระยะเวลาอันใกล้ และเกิดความกังวลว่าจะไม่สามรถเข้ารับบริการได้

3.กลุ่มที่ยังไม่มีนัด แต่โทรมาสอบถามข้อมูลก่อน

ระบบสาธารณสุข เพิ่มหน่วยบริการบัตรทอง 30บาท

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีการเพิ่มหน่วยนวัตกรรมเพื่อรองรับการให้บริการระดับปฐมภูมิได้มากขึ้น หน่วยบริการนวัตกรรมนี้ ประกอบด้วย

  •  คลินิกเวชกรรม
  • คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์
  • คลินิกทันตกรรม
  •  คลินิกเทคนิคการแพทย์
  •  คลินิกการแพทย์แผนไทย
  • คลินิกกายภาพบำบัด
  • ร้านยา GPP+ร้านยาคุณภาพ

 ปัจจุบันสถานพยาบาลทั้งที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนและไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนใน กทม. ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ประมาณ 1 หมื่นแห่ง ในจำนวนนี้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. ประมาณ 1,000 แห่ง หรือ 10% สปสช. ตั้งเป้าจะเพิ่มให้ได้3,000 แห่ง ภายในสิ้นปี 2567

รพ.สังกัดกทม.สร้างใหม่ 3 แห่ง 

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระว่างการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และกองทัพอากาศเมื่อเร็วๆนี้ว่า  แผนของกรุงเทพมหานครเอง กำลังจะสร้างรพ.ขนาด 120-200 เตียงในพื้นที่กรุงเทพโซนเหนือ เขตสายไหมและดอนเมือง 

นอกจากนี้ มีระบบเทเลเมดิซีน มีการเชื่อมข้อมูล การที่หมายเลข 13 หลักของประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางด้านสุขภาพทั่วถึงกันไม่ไกลเกินเอื้อม ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีการทดลองกับรพ.ในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมดกับรพ.จุฬาลงกรณ์และรพ.เลิดสิน เพราะฉะนั้น หนทางที่จะทำให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลโดบมีข้อมูลเต็มมือของแพทย์คงไม่ยากเกินไป

กางแผนพัฒนา“ระบบสาธารณสุข”รองรับคนในกทม. สร้างรพ.ใหม่ 3 แห่ง

ระบบปฐมภูมิ คือ คำตอบของสุขภาพที่ดีของคนกรุงเทพมหานครอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคนตัวเล็กที่อาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการไปรพ.ไปรอเป็นวันๆแล้วต้องขาดงานได้ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.69 ศูนย์ และ 77 ศูนย์สาขา รวมถึง เครือข่ายกทม.

โดยรพ.สังกัดกทม.มีการส่งยาไปยังผู้ป่วยเฉพาะโรคที่มีค่าของเคมีบางอย่างและการรักษาโรคที่คงที่ 95 ร้านค้า ดังนั้น ประชาชนสามารถรับยาจากร้านขายยาใกล้บ้านได้ด้วย และในพื้นที่กทม.ยังมีคลินิกชุมชนอบอุ่น ในการรับให้บริการผู้ป่วยปฐมภูมิเบื้องต้น และมีระบบเชื่อมโยงกับหน่วยบริการของกทม.ในการส่งต่อ

“พยายามลดความแออัดที่รพ.ด้วย บุคลากรทางการแพทย์จะได้มีความสุขมากขึ้น ประชาชนจะได้บริการที่มีข้อผิดพลาดน้อยลงจนไม่มีเลย ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมสุขภาพผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขและปฐมภูมิ การมีโฮม วอร์ด การดูแลถึงบ้านพร้อมกับการขยายนวัตกรรมที่เป็นดิจิทัล น่าจะครอบคลุมคนทุกกลุ่มที่อาจจะไม่แคล่วคล่องว่องไวในการใช้เทคโนโลยี”รศ.ทวิดากล่าว 

อนึ่ง เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567  สภากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งเตรียมส่งรายละเอียดให้ฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ควรมีการก่อสร้างโรงพยาบาลใน 3 พื้นที่ ได้แก่
1. เขตยานนาวา เนื่องจากเขตยานนาวาไม่มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชน
2. เขตดอนเมือง เนื่องจากมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยจำนวนน้อย 

3. เขตทุ่งครุ เนื่องจากในพื้นที่เขตทุ่งครุไม่มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่จะรองรับการให้บริการ

ขยายบริการของรพ.เดิมหลายแห่ง 

สำหรับการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แม้จะมีรพ.ในสังกัดกรมการแพทย์อยู่ในพื้นที่กทม.ไม่กี่แห่ง แต่ก็มีการขยายบริการทางการแพทย์รองรับคนกทม.เช่นกัน ภายใต้นโยบายโรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล

  • โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ ดูแลประชาชนโซน กทม. ตอนเหนือ
  • โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีคุ้มเกล้า รับส่งต่อดูแลประชาชนโซน กทม.ฝั่งตะวันออก คือ เขตมีนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง กว่า 88,000 คน    
  • ร่วมกับกองทัพอากาศยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน)  ให้เป็นโรงพยาบาลเขตดอนเมือง ปัจจุบันให้บริการผู้ป่วยแล้ว 25,700 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปถึง 90% ส่วนอีก 10% เป็นข้าราชการกองทัพอากาศ
    กางแผนพัฒนา“ระบบสาธารณสุข”รองรับคนในกทม. สร้างรพ.ใหม่ 3 แห่ง

แผนพัฒนาระบบสาธารณสุข ระดับโรงเรียนแพทย์

อาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช

ส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาที่จะขับเคลื่อนในปี  2567 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กทม. คือ โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช

คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2566-2569 ด้วยวงเงิน 3.8 พันล้านบาท บนเนื้อที่ 4.67 ไร่โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการพัฒนาพื้นที่เป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย

อาคารสูง 15 ชั้น เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีแดง เป็น Smart Hospital ด้วยเครือข่าย 5G มีบริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน อาทิ ศูนย์ตรวจสุขภาพ คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพ คลินิกผิวหนัง การบริการผู้ป่วยด้านอายุรกรรม ผู้ป่วยหลังผ่าตัด Ambulatory Unit/ One Day Surgery รวมถึง ห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ เช่น การเจาะเลือด เป็นต้น ขณะนี้มีแบบในการก่อสร้างแล้ว คาดว่าปี 2567 จะเริ่มต้นโครงการและแล้วเสร็จในปี  2570

สร้างอาคารรพ.รามาธิบดี ย่านนวัตกรรมโยธี

คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มีแผนการลงทุนที่เป็นแผนต่อเนื่อง  คือ การสร้างอาคารรพ.รามาธิบดี ย่านนวัตกรรมโยธี ฝั่งตรงข้ามรพ.รามาฯ พื้นที่ 3 แสนตารางเมตร งบประมาณก่อสร้าง 10,000 ล้านบาท โดยได้รับจากสำนักงบประมาณ 7,000 ล้านบาท  อีก  3,000 ล้านบาท รามาฯจะต้องจัดหาเอง รวมถึงค่าอุปกรณ์ เวชภันฑ์ต่างๆ ที่นี่รองรับคนไข้ทั่วไปได้ประมาณ 800-1,000 เตียง มีห้องไอซียู ห้องผ่าตัดทันสมัย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2567 ใช้เวลา 5-6 ปี

กางแผนพัฒนา“ระบบสาธารณสุข”รองรับคนในกทม. สร้างรพ.ใหม่ 3 แห่ง

รวมถึง มีการจัดหางบประมาณ ก่อสร้าง ศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา อาคาร29 ชั้น เพื่อเป็นการให้บริการผู้ป่วยนอกได้ราว 1,000 คนต่อวัน เป็นศูนย์เวลเนส ศูนย์ตรวจสุขภาพ ดูแลโรคตา โรคผิวหนัง เป็นต้น คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2568
 

 รพ.ธรรมศาสตร์ฯ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไปจนถึงในอีก 4-5 ปีข้างหน้า มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการให้บริการประชาชน ทั้งด้านการนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงขยายพื้นที่ในเชิงกายภาพกว่า 1 แสนตารางเมตร เกิดอาคารใหม่ มากกว่า 5 อาคาร

เช่น อาคารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์, อาคารศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์, อาคาร 88 ปี มธ., อาคาร 90 ปี มธ., อาคารชวนชูชาติ วพน.7 ฯลฯ ซึ่งเป็นอาคารสำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) รวมถึงศูนย์นวัตกรรมสุขภาพธรรมศาสตร์ ฯลฯ
ส่วนแผนพัฒนาในเรื่องการให้บริการดูแลรักษาและการสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม จะมีการนำเทคโนโลยีด้านการแพทย์เข้ามาใช้มากขึ้น เน้นไปที่โรคหายากที่มีความซับซ้อน เช่น การนำเข้าเครื่องฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตรอนเพื่อรักษามะเร็งที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอัจฉริยะ da Vinci การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในทางการแพทย์

รวมถึง พัฒนาศูนย์พันธุศาสตร์ทางการแพทย์  จะให้บริการตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การวางแผนดูแลรักษาที่แม่นยำเฉพาะเจาะจง (Precision Medicine) บริการด้านนิติพันธุศาสตร์ และการพยากรณ์ก่อนการเกิดโรค ครอบคลุมโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อย (โรคหายาก) โรคมะเร็ง และเภสัชพันธุศาสตร์