ยกเครื่อง "ผลิตแพทย์"- กำลังคนด้านสาธารณสุข

ยกเครื่อง "ผลิตแพทย์"- กำลังคนด้านสาธารณสุข

สธ.ยกเครื่องการผลติแพทย์ ยกร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข ตอบโจทย์ทั้งดูแลคนไทย-ต่างชาติ เพิ่มผลิตจาก 3,500 คนเป็น 5,000 คน พร้อม ร่วม 16 สถาบันการศึกษาผลิตแพทย์ซีเพิร์ดอยู่รพ.บ้านเกิด

KEY

POINTS

  • ภาพรวมการผลิตแพทย์ปัจจุบันได้ราว 3,500 คนต่อปี อยู่ในสธ. 1,000 คน ที่เหลืออีก 50 % อยู่ภาคเอกชน และอีก  50 %อยู่ภาครัฐอื่นๆ 
  • สธ.ยกร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข รองรับการดูแลผู้ป่วยทั้งคนในประเทศ และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทย คาดจะผลิตแพทย์ได้เพิ่มเป็นราว 5,000 คนต่อปี 
  • ผลิตแพทย์ซีเพิร์ด หรือแพทย์เพื่อชาวชนบท สธ.ร่วมกับ 16 สถาบันการศึกษา คัดเลือกเด็กนักเรียนในพื้นที่ชนบทให้รับทุนจากสธ.เข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ภายหลังสำเร็จการศึกษา กลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในรพ.สังกัดสธ.ตามพื้นที่ภูมิลำเนา

แม้สถานการณ์ขาดแคลนแพทย์จะไม่มากเหมือนในอดีต แต่ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ รวมไปถึงปัญหาเรื่องการกระจายตัวของแพทย์ พื้นที่ที่ยังขาดจะเป็นพื้นที่ไม่ค่อยมีคนอยากไปอยู่ อีกทั้ง ยังมีปัญหาเรื่องแพทย์ลาออกจากหลากหลายปัจจัย เช่น ภาระงานหนัก ค่าตอบแทนไม่สอดคล้อง และอื่นๆเป็นต้น 

ปัจจุบันประเทศไทย มีจำนวนแพทย์ต่อประชากร 1:1,305 คน ขณะที่สิงคโปร์ 1:411 คน มาเลเซีย 1:448 คน และเวียดนาม 1:1,204 คน ซึ่งจากกำลังการผลิตแพทย์ในปัจจุบันปีละ 3,386 คน หากจะให้มีจำนวนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1:650 คน จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ในปี 2580 

อนาคตไทยผลิตแพทย์ปีละ 5,000 คน

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2567 ที่ ห้องประชุมเมตตาประชารักษ์ ชั้น 9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่งว่า ในมุมมองส่วนตัวเรื่องสถานการณ์บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทย ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ 50,000 คนอยู่ในสธ.ราว 25,000 คน ที่เหลืออีก 20-30% อยู่ภาครัฐอื่นๆ และอีก 20% อยู่ที่เอกชน

ถามถึงความต้องการว่า 50,000 คนพอหรือไม่ หากเทียบกับ 20 ปีที่แล้วก็ยังไม่ขาดแคลนมากนักแต่ยังไม่พอ เพราะการผลิตแพทย์หนึ่งคนเป็นการสร้างประสิทธิภาพของประเทศได้เป็นอย่างดีโดยแพทย์หนึ่งคนเทียบกับการใช้งานถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะแพทย์คนหนึ่งในช่วงอายุสามารถสร้างผลผลิตเทียบกับตัวเงินเป็นหลาย 10 หลาย 100 ล้านบาท การผลิตแพทย์เพิ่มจึงทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

แต่ละปีจะผลิตแพทย์ได้ราว 3,500 คน  อยู่สธ.ราว 1,000 คน แต่ยังต้องการเพิ่ม ที่เหลือ 2,500  คน  50 % อยู่ภาคเอกชน และ 50 % อยู่รพ.รัฐอื่น  อย่างไรก็ตาม มติ ครม.เห็นชอบผลิต 9 หมอของสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีแผนผลิตบุคลากรแพทย์เพิ่มปีละ 1,000 คน ก็รวมเป็น 4,500 คน มหาวิทยาลัยหลายแห่งเพิ่มผลิตแพทย์ เพื่อตอบสนองเรื่องเมดิคัล ฮับ เพิ่มขึ้นอีก

“อนาคตข้างหน้าไทยจะผลิตแพทย์ได้ปีละ 5,000 คน ในช่วงระยะ 6-10 ปีข้างหน้า ทำให้จำนวนบุคลากรต่อประชากรมีความเพียงพอที่จะรองรับเรื่องระบบสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศ ทั้งเรื่องสังคมผู้สูงอายุ เมดิคัล ฮับ เทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ”นพ.โอภาสกล่าว 

ทั้งนี้ สธ.เริ่มมีบทบาทในการร่วมผลิตแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะSubject ในการเรียนการสอนมากที่สุด โดยรพ.สังกัดสธ.แต่ละวันมีคนไข้นอกมารับบริการราว 1 ล้านคน และคนไข้ในอีกประมาณ  110,000 คนต่อวัน

ยกร่างยุทธศาสตร์กำลังคนสาธารณสุข

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า  นโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องของการพัฒนาสาธารณสุขพี่น้องประชาชน โครงการที่เป็นไฮไลท์สำคัญ คือ การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ และอิกไนท์ ไทยแลนด์ (IGNITE THAILAND) ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว อาหาร เมดิคัลฮับหรืออุตสาหกรรมการแพทย์ชั้นสูง

ในส่วนของเมดิคอลเซอร์วิสฮับ สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศหลาย 10,000 ล้านบาทและในอนาคตเป็นหลักแสนล้านบาท จึงมีความต้องการบุคลากรในการขับเคลื่อน ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการเป็นรูปธรรม  ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังยกร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุขฉบับใหม่ล่าสุด

“ยุทธศาสตร์ฉบับนี้แตกต่างจากการมองบุคลากรทั่วไป ซึ่งเดิมการใช้งานของประเทศเป็นหลัก ตอบสนองการบริการสาธารณสุขของประชาชน แต่การบริการใหม่จะมองเมดิคัลฮับไปด้วย คือ สนองต่อความต้องการบริการทางการแพทย์ที่เป็นชาวต่างชาติมาร่วมด้วย เพราะมีความต้องการบุคลากรทางการแพทย์หลายระดับ”นพ.โอภาสกล่าว   

 

ยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพต้องมองภาพรวม อย่างของแพทย์นั้น มีแพทย์ในระบบ 5 หมื่นคน ครึ่งหนึ่งอยู่ใน สธ. 2.5 หมื่นคน อีก 20-30% อยู่ใน รพ.รัฐอื่นๆ อีก 20% อยู่ภาคเอกชน ไม่สามารถวางแผนผลิตบุคลากรโดยมองแต่ สธ.อย่างเดียว เพราะจะมองแค่ครึ่งเดียวของทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะมีตัวแทนของทั้งมหาวิทยาลัย กทม. เอกชน และนักกฎหมายต่างๆ มาช่วยกันดู รวมถึงสายวิชาชีพอื่นๆ ทั้งพยาบาล เทคนิคการแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย มาร่วมกันทำ

ขณะนี้มีการยกร่างยุทธศาสตร์กำลังคนฯร่างแรกเสร็จ ตอนนี้เป็นร่างปรับปรุง ซึ่งก็จะมองทั้งเรื่อง การผลิต การกระจาย การคงอยู่ การมีค่าตอบแทน ภาระงานที่เหมาะสม ทั้งหมดจะเป็นรายละเอียดที่อยู่ในยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์จะเป็นภาพกว้างเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย ซึ่งนโยบายเป้าหมายเราไม่ได้มองแค่ความต้องการในประเทศ แต่มองเรื่องการแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมการแพทย์ชั้นสูงตามนโยบายนายฯ ด้วย

17 หน่วยงาน ร่วมผลิตแพทย์ซีเพิร์ด

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า  การที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง ผลิตแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์และกระจายแพทย์ให้เหมาะสม โดยมีโรงพยาบาลในสังกัด 39 แห่ง เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รองรับการฝึกทักษะวิชาชีพช่วงปีที่ 4 - 6 พร้อมดูแลให้คงอยู่ในระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพของประเทศในอนาคต

ยกเครื่อง \"ผลิตแพทย์\"- กำลังคนด้านสาธารณสุข

การบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการจัดทำข้อกำหนดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและสามารถดำเนินการผลิตแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยทุกแห่ง จะเป็นผู้จัดการศึกษาตามหลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานของแพทยสภา ส่วนกระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกคู่ความร่วมมือของโรงพยาบาลในสังกัด จะรับผิดชอบจัดการศึกษาในชั้นปีที่ 4-6 ตามหลักสูตร

 โดยจะเริ่มดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือทั้ง 16 แห่ง  มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันผลิตแพทย์ที่ดี มีคุณภาพ และดูแลให้คงอยู่ในระบบให้มากที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพของประเทศในอนาคต

สำหรับ 16 สถาบันประกอบด้วย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยนเรศวร ,มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,มหาวิทยาลัยมหิดล ,มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและ สถาบันพระบรมราชชนก

รพ.จังหวัดเป็นศูนย์แพทยศาสตร์ฯทุกแห่ง 

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ความฝันของตนคืออยากให้โรงพยาบาลศูนย์เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโดยมี 3 วัตถุประสงค์ที่กระทรวงสาธารณสุขคาดหวัง คือ

1. หากมีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกอยู่ในพื้นที่ จะฝึกนักศึกษาแพทย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้กลับมาเป็นแพทย์ประจำอยู่ในจังหวัดหรือบ้านเกิดตัวเอง จะอยู่ได้นาน  ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดสธ.อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง สามารถเปิดเป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกหรือร่วมมือกับคณะแพทย์เพื่อให้เด็กในท้องถิ่นได้เรียนได้ฝึกอบรมและกลับมาดูแลรักษาคนในพื้นที่ได้

2.บุคลากรที่เป็นอาจารย์แพทย์  เกิดการพัฒนาตนเอง เพราะครูผู้สอนต้องเก่งกว่าเด็กอย่างน้อยต้องรู้มากกว่า 2-3 เท่า ตรงนี้จะช่วยให้แพทย์ในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น เป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรไปในตัว

3.ประเทศไทยจะมีแหล่งเรียนรู้แหล่งวิจัยทางคลินิกที่ใหญ่มาก   ตรงนี้จะทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ชั้นสูงเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จึงหวังว่าศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกและโรงเรียนแพทย์จะเป็นแหล่งต่อยอด รวมไปถึงเป็นศูนย์วิจัยทางคลินิกระดับโลกได้ในอนาคต

ซีเพิร์ดผลิตแพทย์รักษาคนบ้านเกิด

โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท หรือซีเพิร์ด สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ เข้าสู่ระบบและกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา

ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง และมีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รองรับการฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่  4-6 จำนวน 39 แห่ง ผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบแล้ว 13,780 คน ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้ยังคงอยู่ในระบบ 77 %
ในปี 2566 มี ผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน กระจายแพทย์สู่

  • ภาคเหนือ 133 คน  
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  398 คน
  • ภาคกลาง 188 คน
  • ภาคตะวันออก 79 คน
  • ภาคตะวันตก 43 คน
  • ภาคใต้ 218 คน

ผลิตทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 37,234.48 ล้านบาท เพื่อโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2568-2577 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น

รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ทันตแพทย์ เภสัชกร นักฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาโครงการจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน  

เนื่องจากปัจจุบันแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในระบบบริการปฐมภูมิ มีเพียง 2,043 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 3.11 ต่อ 100,000 จึงต้องส่งเสริมให้มีการผลิตเพิ่มและบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวอย่างเหมาะสม

โครงการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมนวัตกรรมสุขภาพ จะคัดเลือกคนจากในพื้นที่หรือ นำบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่มาศึกษาต่อยอดและกลับไปทำงานในหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่