"แพทย์จบใหม่"ลาออกซบ"คลินิกเสริมความงาม" แล้วรพ.อำเภอจะเหลือแพทย์?
"แพทย์จบใหม่" ยอมจ่ายค่าปรับใช้ทุน แลกไม่ไปทำงาน "รพ.อำเภอ" ลาออกจากภาครัฐ เลือกเข้า "คลินิกเสริมความงาม" ท่ามกลางธุรกิจอัตราเติบโตสูง
KEY
POINTS
- แพทย์จบใหม่ จะต้องใช้ทุนในรพ.รัฐช มีแนวคิดที่จะไม่ใช้ทุน หรือใช้ทุนไม่ครบ 3 ปีเพิ่มมากขึ้น โดยจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไปทำงานในคลินิกเสริมความงามแทน
- ค่าปรับการไม่ใช้ทุนของแพทย์อยู่ที่ 4 แสนบาท ขณะที่รายได้แพทย์จบใหม่อยู่ที่ราว 50,000 บาท หากรายได้จากคลินิกเสริมความงามมากกว่าหรือน้อยกว่าเล็กน้อย ไม่นานแพทย์ก็คืนทุนค่าปรับ ยิ่งเทียบกับภาระงานที่ไม่หนักเท่ารพ.รัฐ
- แนวทางเพิ่มแพทย์จบใหม่เข้าสู่ระบบของสธ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปทำงานอยู่ในรพ.ชุมชน พบว่ามีโครงการเฉพาะที่เรียกว่า “ผลิตแพทย์เพื่อชนบท” เดินหน้าทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
ในอดีตแพทย์ลาออก ส่วนใหญ่จะถูกดึงไปทำงานในรพ.เอกชน แต่ปัจจุบันด้วยการเติบโตของอย่างมากของ “คลินิกเสริมความงาม” โดยเฉพาะที่ไม่ใช่การผ่าตัด ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องใช้แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่ง ทำให้แพทย์จบใหม่จำนวนมากเลือกลาออกแล้วเข้าทำงานที่คลินิกเสริมความงามแทนภาครัฐ
ดังที่มีผู้ใช้บัญชีชื่อ @whitechickpinkในX โพสต์ว่า “มาประชุมเลยได้พบกับเพื่อนๆ เพื่อนบอกว่า อนาคต รพ.ชุมชน จะลำบากและ เพราะทุกวันนี้ นักศึกษาแพทย์ที่กำลังสอนๆอยู่ 50-70% มีแนวทางความคิดว่าพอจบแล้วใช้ทุนครบ 1 ปี จะลาออกไปทำความงาม ไม่อยู่ รพช. เป็น intern2-3 บางคนก็คือจบปุ๊ปออกเลยก็มี”
หากลองพิจารณาทั้งการเติบโตของคลินิกเสริมความงาม,จำนวนศัลยแพทย์ตกแต่งในไทยที่มีน้อย, ค่าปรับกรณีแพทย์ไม่ยอมใช้ทุนในรพ.ชุมชนครบ 3 ปีที่ไม่ถือว่ามาก, รายได้ต่อเดือนของแพทย์จบใหม่ที่ทำงานภาครัฐ และ ภาระงานของแพทย์ในรพ.รัฐที่หนักหนา ล้วนเป็นปัจจัยทำให้แพทย์จบใหม่ตัดสินใจลาออกได้ไม่ยาก
เช่นนี้แล้วกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ต้นสังกัดของรพ.ชุมชนที่อยู่กว่า 800 แห่งทั่วประเทศ มีแผนเตรียมรับมืออย่างไร ในเมื่อคนที่จะแย่งแพทย์จบใหม่ไปจากระบบนั้นไม่ได้มีแค่รพ.เอกชนอีกต่อไป
คลินิกเสริมความงามอัตราเติบโตสูง
สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย ได้แบ่งเวชปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสวย เสริมความงาม ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1.Noninvasive Procedure คือ การใช้ยากินหรือยาฉีด การนวด การกดจุด การฝังเข็ม เป็นต้น ซึ่งแพทย์ทั่วไป หรือบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาต สามารถทําเวชปฏิบัติเหล่านี้ได้ในคลินิกทั่วไป ซึ่งการเสริมความงามในกลุ่มนี้ อาทิ การฉีดโบท็อกซ์ การฉีดฟิลเลอร์หรือสารเติมเต็ม (Soft Tissue Fillers) การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peel)
2.Minimally Invasive Procedure หรือการรักษาแบบ กึ่งศัลยกรรม คือ การทำหัตถการที่ต้องผ่าตัดเปิดแผลเพียงเล็กน้อย (Minor Surgery) ซึ่งอาจจะใช้การส่องกล้องเป็นเครื่องมือช่วย การใส่วัสดุเสริม การใช้ไหมร้อย เลเซอร์ เป็นต้น
3. Invasive Procedure ซึ่งก็คือ การผ่าตัดใหญ่ (Major Operation) หรือการศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยประเภทต่าง ๆ อาทิ การผ่าตัดเสริมหน้าอก การผ่าตัดเสริมจมูก การศัลยกรรมตา 2 ชั้น การดูดไขมัน
ขณะที่ ประเทศไทย ปี 2565 อุตสาหกรรมศัลยกรรมและความงาม มีมูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท
ส่วน ปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทยปี 2566 น่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 71,000-72,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 2.3%-3.6% (YoY)และมองว่า ธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามยังคงเผชิญกับอีกหลายปัจจัยท้าทาย การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์ตกแต่ง ที่อาจทำให้เกิดการแย่งชิงบุคลากรทางการแพทย์กันมากขึ้น และส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้น
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว อาจส่งผลต่อต้นทุน หากลูกค้ามาใช้บริการน้อยและไม่สม่ำเสมอ ความคุ้มค่าด้านการลงทุนก็จะน้อยและอาจขาดทุนในที่สุด
จะเห็นได้ว่าการทำเวชปฏิบัติในกลุ่มที่ 1 นั่นเองที่ คลินิกเสริมความงาม จะใช้แนวทางของการดึงแพทย์จบใหม่มาฝึกอบรมแล้วให้ปฏิบัติงานในคลินิกได้ เพราะงานส่วนนี้นั้นไม่จำเป็นต้องใช้แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งในประเทศไทยมีศัลยแพทย์ตกแต่งประมาณ 400 กว่าคน ย่อมไม่เพียงพอต่ออัตราการเติบโตของธุรกิจเสริมความงาม
แพทย์จบใหม่ทิ้งรพ.ชุมชนซบคลินิกเสริมความงาม
ลองมองถึงปัจจัยหนุนเสริมที่ทำให้แพทย์จบใหม่เลือกชดใช้ค่าปรับ เพื่อไม่ต้องไปปฏิบัติงานใช้ทุนที่รพ.ชุมชน อาจเนื่องจาก
ค่าปรับแพทย์ใช้ทุน ไม่สูงนัก
ปัจจุบันอยู่ที่ 400,000 บาท ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2516 แม้จะเคยมีแนวคิดเสนอให้ปรับเพิ่มเติมตามอัตราเงินเฟ้อเป็น 2.5 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีการปรับ
รายได้
แม้คลินิกเสริมความงามจะให้รายได้น้อยกว่า หรือเท่ากับรายได้แพทย์จบใหม่ที่ทำงานในภาครัฐ แต่เทียบภาระงานแล้วอาจแตกต่างกันไม่น้อย โดยรายได้แพทย์จบใหม่ในภาครัฐ รวมรายได้ราว 53,000 บาท แยกเป็น
- เงินเดือน 18,000 บาท
- เงินเพิ่มตำแหน่งพิเศษของปฏิบัติงานสาธารณสุข(พ.ต.ส.) เดือนละ 5,000 บาท
- เงินไม่ทำงานเวชปฏิบัติส่วนตัว(เงินไม่ทำคลินิก) เดือนละ 10,000 บาท
- เงิน P4P ค่าหัตถการทางการแพทย์ เดือนละประมาณ 7,000 บาท
- เงินเวร ค่าเวรวอร์ด เดือนละประมาณ 13,000 บาท
ภาระงานในรพ.รัฐ
กระทรวงสาธารณสุขมีแพทย์ในสังกัดราว 24,000คน ภาระงานดูแลประชากรยังสูงคิดเป็นสัดส่วน 1:2,000 คน มีการลาออกปีละ 455 คน เกษียณอีกปีละ 200 คน ความต้องการแพทย์ปีละประมาณ 2 พันกว่าคน แต่ได้รับจัดสรรปีละ 1,800 - 1,900 คน ขณะที่ภาระงานไม่ได้ลดลง
แนวทางผลิตแพทย์เพิ่มสู่รพ.ชุมชน
เมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้ ทางเดียวที่สธ.จะต้องสู้เพื่อยังคงให้มีแพทย์ทำงานอยู่ในรพ.ชุมชน รวมถึง รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป คือ การผลิตแพทย์เพิ่ม บริหารจัดการเรื่องภาระงาน และการสร้างขวัญกำลังใจผ่านค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน
- ปี 69 กรอบอัตราแพทย์กว่า 35,000
ในส่วนของการผลิตแพทย์เพิ่มนั้น สธ.ได้หารือกับ ก.พ.ในการเพิ่มกรอบตำแหน่งข้าราชการ ภายในปี 2569 เพื่อให้สอดคล้องกับภาระงานด้วย โดยปัจจุบันมีแพทย์ประมาณ 25,505 คน ได้ร่างกรอบตำแหน่งปี 2569 เพิ่มเป็น 35,578 คน
เพิ่มแพทย์โครงการซีเพิร์ด
นอกจากนี้ สธ.จะเพิ่มการผลิตในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท หรือซีเพิร์ด(CPIRD:Collaborative Project to increase Production of Rural Doctor) เนื่องจากพบว่า แพทย์กลุ่มนี้มีอัตราการคงอยู่ในระบบมากถึง 80-90% โดยเป็นการช่วยเติมเต็มแพทย์ในระบบบริการสุขภาพของไทย โดยคัดเลือกเด็กนักเรียนในพื้นที่ชนบทให้รับทุนจากสธ.เข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เป็นระยะเวลา 6 ปี
ภายหลังสำเร็จการศึกษา บัณฑิตแพทย์ทุกคนจะต้องกลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลสังกัดสธ.ตามพื้นที่ภูมิลำเนา ในเขตบริการสุขภาพ 12 แห่ง อย่างน้อย 3 ปี หรือ 12 ปี
ปีการศึกษา 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน จะกระจายไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในส่วนภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 133 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 398 คน ภาคกลาง 188 คน ภาคตะวันออก 79 คน ภาคตะวันตก 43 คน และภาคใต้ 218 คน
ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ในช่วง 29 ปีที่ผ่านมา มีแพทย์สำเร็จการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 23 รุ่น รวม 13,780 คน
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 3.7 หมื่นลบ.
อีกทั้ง เมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ โครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2568-2577 งบประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท
มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ทันตแพทย์ เภสัชกร นักฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาโครงการจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน
สธ.แยกตัวจากก.พ.
และแนวทางที่ดูจะเป็นความหวังของคนสธ.ไม่น้อย คือ การแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือก.พ. เรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่นพ.ชลน่าน สรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ประกาศไว้ในการเข้ารับตำแหน่งว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
หากแล้วเสร็จจะสามารถแก้ปัญหาในเรื่องของอัตรากำลังคนของสธ. เพราะ หากยังสังกัด ก.พ. ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของ ก.พ. ทั้งการลดกำลังคนภาครัฐ แผนลดค่าใช้จ่ายต่างๆ
ถ้าสธ. มีกฎหมายในการบริหารงานบุคคลเป็นการเฉพาะ จะสามารถดูความจำเป็นเรื่องของกำลังคน วางแนวทางอัตรากำลังให้สอดคล้องกับภารกิจงานได้
ก็ต้องจับตาดูว่าในรัฐบาลเศรษฐา 2 จะยังมีชื่อ นพ.ชลน่านเป็นรมว.สาธารณสุขสานนโยบายนี้ หรือมีรมว.คนใหม่แล้วจะรับลูกเรื่องนี้ต่อหรือไม่