“สังคมสูงอายุ” โอกาสผู้ประกอบการ ลงทุนวิจัย นวัตกรรมตอบโจทย์
การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทำให้ไทยมีสัดส่วน กำลังแรงงาน : ผู้สูงอายุ : เด็ก อยู่ที่ 4 : 1 : 1 ขณะที่กลุ่มต่างชาติ "เกษียณอายุ" ที่เดินทางมาอาศัยที่ไทยกว่า 9 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นผู้มีกำลังซื้อสูง นับเป็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว
เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ เมื่อประเทศไทยก้าวสู่ สังคมผู้สูงอายุ โดยขณะนี้ผู้ประกอบการหลายภาคส่วนได้พัฒนา นวัตกรรมสุขภาพ สินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุ ที่มีความต้องการงานบริการที่มีคุณภาพสูง ซึ่งผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 100,000 ถึงมากกว่า 300,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17.9% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุโดยเฉลี่ย เป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ
สูงอายุต่างชาติในไทยโตเฉลี่ย 9% ต่อปี
ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนของ กำลังแรงงาน : ผู้สูงอายุ : เด็ก อยู่ที่ 4 : 1 : 1 ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติสูงอายุเดินทางเข้าอยู่อาศัยเป็นประเทศ เกษียณอายุ ของกลุ่มชาว ต่างชาติ สูงอายุที่มีกำลังซื้อ โดยในปี 2563 มีผู้สูงอายุต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 90,000 คน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี มีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน เป็นอีกกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติให้วีซ่าระยะยาว 10 ปี สำหรับผู้มีเงินฝากไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท การทำธุรกิจบริการเพื่อผู้สูงอายุจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ
ลงทุนวิจัยพัฒนายา 4.51 แสนล้านบาท
"ฟาริด บิดโกลิ" ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวในงาน สัมมนา Health & Wealth Forum : สร้างสุขก่อนสูงวัย อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ เนชั่นทีวี ช่อง 22 และ สปริงนิวส์ จัดสัมมนา เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ว่า โรชเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพ เป็นทั้งพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นผู้นำด้านการวินิจฉัยและยา มีพนักงานกว่า 100,920 คนทั่วโลก ในปี 2564 มีคนไข้ 16.4 ล้านคนที่รักษาด้วยยาจากบริษัท โรช อีกทั้งเป็นหนึ่งในบริษัทดูแลด้านสุขภาพที่ยั่งยืนที่สุดจากดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์
บริษัท โรช เชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจะช่วยพัฒนาสุขภาพมนุษย์ได้ จึงได้ลงทุนในการพัฒนาและวิจัยทั้งยาและนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งยาของบริษัทติดบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลกถึง 32 ตัว รวมทั้งติดบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยอีก 12 รายการ
“นวัตกรรมเทคโนโลยีจะทำให้แนวทางการดูแลสุขภาพในอนาคตนั้น มีความแม่นยำมากขึ้น มีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น และจะทำให้แพทย์สามารถตรวจพบและวินิจฉัยโรคได้ทั้งในเชิงป้องกัน และทันเวลา โรชเองก็เป็นบริษัทยาและเวชภัณฑ์ระดับโลกที่ทุ่มเทและให้ความสำคัญกับ การวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนายาและการรักษาแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการลงทุนในด้านนี้ปีละไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านฟรังก์สวิส หรือกว่า 4.51 แสนล้านบาท” ฟาริด กล่าว
นอกจากการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยแล้ว “โรช” ยังได้วิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับยีนและจีโนมที่ทำให้เกิดมะเร็งในแต่ละประเทศ และมียารักษามะเร็งที่เหมาะสมกับระดับอาการของโรคและสุขภาพของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งเป้าหมายในอนาคตคาดว่าสามารถคิดค้นและผลิตยาให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อสุขภาพและโรคของผู้ป่วยที่มีความแตกต่างกัน
“ถ้าเราสามารถตรวจเจอมะเร็งได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือระยะเริ่มต้น จะยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตหรืออยู่ได้นานขึ้น ซึ่งโรชมีนวัตกรรมที่พร้อมตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและมียารักษามะเร็งในแต่ละระดับด้วย” ฟาริด กล่าว
รวมถึง ยังให้ความสำคัญการส่งเสริมประชาชนมีความรู้มากขึ้นในเรื่องยาและการใช้ยา มีการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับฐานข้อมูล (data base) และการวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนางานด้านการวิจัยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งรวมทั้งงานวิจัยและพัฒนาด้านพันธุกรรมบำบัด (Gene Therapy) ที่จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆในอนาคต
หนุนเทคโนโลยีพัฒนาสุขภาพคนรุ่นหลัง
สำหรับ โรช ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเพิ่งครบรอบก่อตั้ง 50 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา (บริษัทก่อตั้งในปี 2514) ดำเนินงานสอดคล้องกับบริษัทแม่โดยมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงการรักษา และการรักษา โรคมะเร็ง สำหรับผู้ป่วยชาวไทย บริษัทลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
รวมถึง ยังเข้ามีส่วนร่วมอย่างมากต่อการค้นคว้าด้านมะเร็ง ภูมิคุ้มกัน โรคไตเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และโรคหายาก สามารถนำนวัตกรรมการแพทย์ที่ทันสมัยมากกว่า 50 อย่างมาพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยได้ ขณะนี้มีพนักงาน 440 คน ทั้งแผนกยาและแผนกการวินิจฉัย สิบกว่าปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยชาวไทยได้รับการรักษาด้วยยาของโรช 2.9 ล้านคน และมีผู้ป่วยกว่า 1,000 คน เข้าร่วมการทดลองยาใหม่ทางคลินิก และมีความมุ่งมั่นลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยกว่า 1,000 ล้านบาทตลอด5 ปีที่ผ่านมา
บริษัทให้ความสนับสนุนโครงการวิจัยทางคลินิกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีผู้ป่วยชาวไทยเกินกว่า 1,000 คนซึ่งได้รับการรักษาจากการเข้าร่วมใน 35 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยยังมีผลิตภัณฑ์ของบริษัทโรชอยู่ถึง 12 รายการ
“สำหรับการเตรียมตัวรับมือกับสังคมผู้สูงอายุนั้น ควรลงทุนพัฒนาสุขภาพคนรุ่นหลังด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าคนเจเนเรชันหลัง ๆมีสุขภาพดีและสามารถดูแลผู้สูงอายุต่อไปได้ และได้ฝากถึงรัฐบาลไทยให้เพิ่มการลงทุนเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพและสุขภาพดีขึ้น” ฟาริด กล่าว
สูงวัย 60 ปีขึ้นควรตรวจสุขภาพตา
ศ.คลินิก นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคจากภาวะเสื่อมภายในดวงตา เกิดจากโปรตีนที่ผิดปกติส่งผลให้หลอดเลือดไม่แข็งแรง หลอดเลือดที่เจริญผิดปกติ ของเหลวที่รั่วออกมาจากหลอดเลือดที่เจริญผิดปกติ จุดรับภาพชัดเสื่อม โปรตีนที่ผิดปกติดส่งผลให้หลอดเลือดรั่วและเจริญผิดปกติ โดยในประเทศไทยมีการสำรวจและการดูแลตรวจสุขภาพตา ตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน รวมถึงการตรวจโรคต้อกระจก และการตรวจสุขภาพตาอื่นๆ
“ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักจะมองว่าสายตาไม่ดี ตาเสื่อมเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เมื่ออายุ 60 ปี ขึ้นไป ทุกคนควรตรวจสุขภาพตา โดยการเช็กง่ายๆ ขอให้ปิดตาข้างหนึ่งหากอีกข้างมองไม่ชัด แสดงว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับตา” ศ.คลินิก นพ.ไพศาล กล่าว
สำหรับความเสี่ยงเบาหวานขึ้นตานั้น หากเป็นโรคเบาหวานเกิน 10 ปี มีโอกาสสูงที่เบาหวานขึ้นตา แต่หากลด 2 ปัจจัยหลัก มีการควบคุมน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือดได้ ก็จะช่วยลดเบาหวานขึ้นตาได้ ซึ่งจะต้องมีการควบคุมดูแลเรื่องอาหารการกินร่วมด้วย