รู้จัก "ไคโกโดะ" ศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพจากญี่ปุ่น รองรับคนเมือง "สังคมสูงวัย"
รู้จัก "ไคโกโดะ" ศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพจากญี่ปุ่น ที่โรงพยาบาลเอกชนไทยนำมาใช้ดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อภาวะ "ป่วยติดเตียง" เพื่อเตรียมรับ "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ไทยกำลังตามรอยญี่ปุ่นไปติดๆ กับการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” ซึ่งภาครัฐต้องเผชิญหน้าปัญหาสุขภาพของประชากร โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และกลุ่ม “ผู้ป่วยติดเตียง” รวมถึงปัญหาแรงงานลดลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
หน่วยบริการสถิติข้อมูล กรมการปกครอง รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุปี 2565 ไว้ว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด โดยนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
นั่นหมายความว่า ไทยกำลังจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” คือมีประชากรอายุ 60 ปี เท่ากับหรือมากกว่า 20% ขึ้นไป ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ล่าสุด.. พบว่ากรุงเทพฯ กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ไปแล้ว โดยมีข้อมูลจากเวทีเสวนา Health & Wealth Forum รายงานว่าในปี 2565 กรุงเทพฯ มีผู้สูงอายุ 1,194,171 คน คิดเป็นสัดส่วน 21.6% ของประชากรทั้งหมด
ทำให้ภาครัฐต้องเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์นี้ไว้ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณมาดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ทั้งเบี้ยผู้สูงอายุ สวัสดิการต่างๆ และการให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ ขณะที่ประชาชนคนไทยเองก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเช่นกัน โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากภาวะ “ป่วยติดเตียง” ซึ่งจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และอาจเป็นภาระลูกหลานในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หากโชคร้ายป่วยเป็นโรคเรื้อรังอย่าง โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดสมองตีบ, ภาวะสโตรก ฯลฯ จนนำไปสู่โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต ซึ่งส่วนใหญ่มักจะ “ป่วยติดเตียง” ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สิ่งที่จะตามมาก็คือ ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายสูงในการรักษาและการจ้างผู้ดูแลระยะยาว อีกทั้งหมดกำลังใจในการใช้ชีวิต
แต่ในความโชคร้ายนั้นก็ยังมีความโชคดี เพราะยุคนี้มีศาสตร์การแพทย์ด้านการฟื้นฟูสุขภาพสมัยใหม่ มาตอบโจทย์คนไทยมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือศาสตร์การแพทย์ที่เรียกว่า “ไคโกโดะ” (Kaigo-do) เป็นศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพจากประเทศญี่ปุ่น ที่ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ นำมาใช้ดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อ ภาวะป่วยติดเตียง ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้อีกครั้ง
ธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ (PNKG Recovery Center) อธิบายว่า ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยตั้งแต่ปี 2010 นั่นคือเกิดขึ้นก่อนประเทศไทยประมาณ 20 ปี ทำให้ญี่ปุ่นมีศาสตร์ในการดูแลผู้สูงอายุมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะศาสตร์ “ไคโกโดะ” ที่กำลังโด่งดังในวงการแพทย์เพื่อการฟื้นฟูสุขภาพในขณะนี้
สำหรับศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพ “ไคโกโดะ” เป็นการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยสูงอายุที่ป่วยด้วยอาการสโตรก (เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ) และเสี่ยงต่อ ภาวะป่วยติดเตียง หรือใช้ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียงมาแล้วในระยะหนึ่ง
โดยให้ผู้ป่วยเข้ารับโปรแกรมการฟื้นฟูที่จะมีวิธีและขั้นตอนต่างๆ ด้วยการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์สหสาขาวิชาชีพ จากหลากหลายสาขาเฉพาะทาง มาทำงานร่วมกัน ซึ่งมีหลักการสำคัญอยู่ 4 ประการ ได้แก่
- อิคิไก (Purpose of life) : ออกแบบการฟื้นฟูเพื่อความหมายของชีวิต
โปรแกรมนี้จะเริ่มจากการประเมินว่าผู้ป่วยที่เข้ามาดูแลรักษามีแรงใจที่อยากจะหายหรือไม่? มีแรงใจที่อยากจะฟื้นฟูตัวเองจากอาการติดเตียง แล้วกลับมาใช้ชีวิตปกติหรือไม่? โดยทีมบุคลากรจะมีนักจิตวิทยาช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีกำลังใจขึ้นมา เพราะต้องยอมรับว่าผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่เป็นสโตรก จะมีภาวะแขนขาเป็นอัมพาต เดินไม่ได้ ดังนั้นการกลับมาฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาได้นั้น พลังใจเป็นสิ่งสำคัญ
- ทำงานเป็นทีม : ผู้ป่วย ครอบครัว และทีมฟื้นฟู คือหนึ่งเดียวกัน
ทีมบุคลกรที่ให้บริการในโปรแกรมนี้ ประกอบไปด้วยสหสาขาวิชาชีพหลากลหายสาขา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและในญี่ปุ่น เข้ามาร่วมดูแลคนไข้เคสต่อเคส ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย กิจกรรมต่างๆ รวมถึงติดตามอาการเมื่อกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน
- พึ่งพาตัวเองเป็นหลัก : ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น
ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุด หากมองในบริบทสังคมไทยจะพบว่าหากครอบครัวไหนมีผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่บ้าน ก็มักจะจ้างแม่บ้านหรือพยาบาลมาคอยป้อนอาหาร เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนสายสวนต่างๆ แต่ที่ญี่ปุ่นไม่มีแบบนั้น เขาจะฝึกให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเอง เพราะคุณค่าของคนคือการช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น ไปเข้าห้องน้ำเองได้ การกินอาหารเองได้ โดยมีเทคนิค วิธีฝึกฝนต่างๆ และใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านการแพทย์โดยเฉพาะ
- Mortor Learning : เรียนรู้ผ่านสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้
การทำ Mortor Learning เป็นการฝึกให้ร่างกายส่วนต่างๆ กลับมาใช้งานได้ปกติได้เหมือนเดิมอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นสโตรกนั้น ยิ่งได้เข้ารับการฟื้นฟูร่างกายเร็วเท่าไหร่ ผู้ป่วยก็จะยิ่งมีโอกาสหายและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น โดยโปรแกรมนี้ใช้ฟื้นฟูผู้ป่วยสโตรกและผู้ป่วยหลังผ่าตัดโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ มีเคสตัวอย่างผู้ป่วยท่านหนึ่งเป็นนักกอล์ฟ สุขภาพร่างกายแข็งแรงดีมาก ไม่เคยป่วยหนักมาก่อน แต่วันหนึ่งเกิดเป็นสโตรกขึ้นมา ทำให้ป่วยติดเตียงอยู่ 2 ปี จนครั้งหนึ่งเขาอยากจะจบชีวิตตัวเอง แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเข้ามาฟื้นฟูร่างกายโดยใช้ศาสตร์ “ไคโกโดะ” และเข้าฝึกฝนร่างกายตามโปรแกรมฟื้นฟูอยู่ 3-6 เดือน ผลปรากฏว่า ทุกวันนี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม โปรแกรมการฟื้นฟูร่างกาย ดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมถึงสิทธิ 30 บาทหรือสิทธิบัตรทองของภาครัฐ ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาฟื้นฟูด้วยโปรแกรมนี้ จึงต้องใช้สิทธิจากประกันส่วนตัว รวมถึงออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร แต่สิ่งที่ดีกว่าการรักษาด้วยศาสตร์หรือวิธีใดๆ ก็ตาม นั่นคือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ
--------------------------------------
อ้างอิง : กรมกิจการผู้สูงอายุ, Health & Wealth Forum 2022