“Long Covid” ร้ายแรงกว่าที่คิด แม้ไม่ป่วยแล้วก็ห้ามออกกำลังกายหนัก!
หลายคนที่หายป่วยโควิดแล้ว และรู้สึกว่าไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไรมากนัก อาจเลือกกลับไปออกกำลังกายตามปกติ แต่ความจริง ผู้ป่วยเกือบทุกรายจะมีอาการ “Long Covid” ตามมา และส่งผลเสียในระยะยาว
รู้หรือไม่? กลุ่มคนที่เคยออกกำลังกายเป็นปกติ หากป่วยเป็นโควิดและรักษาตัวจนหาย รวมถึงตรวจไม่พบเชื้อแล้ว อาจจะเข้าใจไปว่าตัวเองสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีร่างกายที่แข็งแรงดีเหมือนเดิม จึงเผลอไปออกกำลังกายหนักด้วยความเคยชิน แต่นั่นกลับทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คิด เนื่องจากหลังหายป่วยโควิด แทบทุกรายยังต้องต่อสู้กับอาการ “Long Covid” ต่อเนื่องไปอีก 3-4 เดือน และร่างกายก็อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด
โดยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป สำหรับบางคนอาจมีอาการหนักจนไม่สามารถออกกำลังกายได้เหมือนเดิมอีกเลยก็มี นั่นเป็นเพราะว่าหลังจากที่หายป่วยโควิดแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการ เหนื่อยง่าย หอบ ไอ และอ่อนเพลีย จากภาวะLong Covid
รวมถึงอาการไม่สบายอื่นๆ อีกทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากการติดเชื้อโควิด ซึ่งอาจเป็นผลกระทบทางตรงจากร่องรอยของโรค หรือเป็นผลกระทบทางอ้อมที่มาจากช่วงที่เคยติดเชื้อก็ได้
ทั้งนี้ ลักษณะอาการอาจคล้าย หรือแตกต่างกันกับอาการในช่วงที่ติดโควิด ในกรณีของผู้ที่มีอาการ Long Covid ไม่รุนแรงมากนัก และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่เผลอไปออกกำลังกายหนักเกินไป ตรงนี้ต้องระวัง! เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิด “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” ตามมาได้
ล่าสุด.. มีรายงานข่าวว่า พบผู้เสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันอย่างกะทันหัน หลังจากออกกำลังกาย และเตรียมตัวนั่งพักก่อนจะล้มลงหมดสติไป และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล กรณีนี้เจ้าหน้าที่มาทราบภายหลังว่าผู้เสียชีวิตคนดังกล่าวเพิ่งจะหายป่วยโควิดได้เพียง 1-2 สัปดาห์ โดยแพทย์ระบุว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะ “Long Covid” เพราะแม้ว่าโดยปกติแล้วผู้เสียชีวิตจะมีสุขภาพแข็งแรงและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่เนื่องจากผ่านการติดเชื้อโควิดมา ทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายและร่างกายอ่อนเพลียหลงเหลืออยู่
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า อาการ Long Covid มีรูปแบบที่หลากหลาย มีทั้งอาการที่คล้ายกับตอนเป็นโควิด และอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็มี
เช็กอาการ “Long Covid”
1. อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
2. มีอาการหายใจถี่ หรือหายใจไม่ทัน หอบเหนื่อย
3. ใจสั่น รู้สึกแน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก
4. ความจำสั้น สมาธิสั้น หรือรู้สึกสมองล้า
5. มีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ
6. มีการรับรสหรือได้กลิ่นน้อยลง
7. ปวดตามข้อต่อต่าง ๆ
8. นอนไม่หลับ หลับยาก
9. เวียนศีรษะ
10. ปวดท้อง ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร
11. มีผื่นขึ้นตามตัว
12. อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
สาเหตุของ Long Covid
- เชื้อโควิด อาจทิ้งร่องรอยความเสียหายในอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หากเกิดความเสียหายที่บางส่วนของสมอง อาจเกิดภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome) หรือหากมีความเสียหายที่ปอด ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติเวลาหายใจ เช่น หายใจถี่ เหนื่อยหอบง่าย เป็นต้น
- การทำงานของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงดีมาก กลายเป็นว่าเมื่อหายจากโควิดแล้ว ภูมิคุ้มกันอาจหันมาทำลายเซลล์ในร่างกายของเราเอง
- ยังหลงเหลือซากไวรัสโควิดในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนที่ไม่ทำงานแล้ว หรือยังทำงานได้อยู่ เป็นผลไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเราให้ต่อต้าน จนมีอาการป่วยเกิดขึ้น
หายจากโควิดแล้วควรทำอย่างไร ?
1. ออกกำลังกาย ประเภทคาร์ดิโอ (Cardio Exercise)
หลังหายจากโควิดแล้ว ควรพักผ่อนร่างกายต่ออีกสักระยะ หากต้องการออกกำลังกาย สามารถทำได้แบบเบาๆ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน กระโดดเชือก เป็นต้น เพื่อค่อยๆ ฟื้นฟูและเสริมความแข็งแรงให้ของระบบการทำงานของหัวใจ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด
ในช่วงแรกควรออกกำลังกายเบาๆ เมื่อเหนื่อยให้หยุดพัก แล้วหลังจากนั้น 10 วัน จึงจะสามารถค่อยๆ เพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังกายได้ ที่สำคัญคืออย่าหักโหมเด็ดขาด ไม่ควรออกกำลังกายหนักๆ ในรอบเดียว
2. ฝึกการหายใจ (Breathing exercise)
วิธีนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดได้ ทั้งนี้ การฝึกหายใจ เข้า-ออก ลึกๆ ในช่วงแรกของการฝึกหายใจอาจพบอาการไอได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีร่องรอยโรคเดิมจากการป่วยโควิด
3. รับประทานวิตามิน
วิตามินเสริมช่วยให้ฟื้นฟูร่างกายได้ดี ได้แก่ วิตามิน C, B , ซิงค์ (Zinc) , น้ำมันปลา และ โอเมก้า 3 เพื่อวิตามินเหล่านี้จะช่วยในการปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบในร่างกาย ควรทานติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
แต่ถ้ายังมีอาหารเหนื่อย เพลีย หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยจำแนกแยกโรคให้ชัดเจนว่าอาการดังกล่าวนั้นเกิดจากโรคอื่นหรือไม่ หรือเป็นภาวะอาการ Long Covid จริงๆ เพื่อวางแผนการดูแลรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม รวมถึงการตรวจสุขภาพปอดด้วย และที่สำคัญจะต้องพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างพอดีตามที่ร่างกายสามารถทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียตามมา
อ้างอิงข้อมูล : รพ.พระรามเก้า, รพ.เปาโล และ รพ.กรุงเทพฯ