"บริจาคเลือด" 1 ถุง ช่วยคนได้มากกว่า 3 ชีวิต และต่อลมหายใจผู้ป่วย "โรค MPN"
รู้จัก "มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก" และทางออกของการรักษาด้วยการ "บริจาคเลือด" เพิ่มโอกาสมีชีวิตของผู้ป่วย "โรค MPN"
หนึ่งใน มะเร็งโรคเลือด ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก คือ มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN (Myeloproliferative Neoplasm) ทางมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง Thai Cancer Society จึงร่วมมือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโลหิตวิทยาชมรมโรคเอ็มพีเอ็น แห่งประเทศไทย (Thai MPN Working Group) และชมรมผู้ป่วย โรค MPN ประเทศไทย พร้อมศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อเสวนา “มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN ครั้งที่ 2” ในวันเสาร์ 17 กันยายน 2565 เวลา 14.00 – 16.00 น. ทางเพจเฟซบุ๊ก Thai cancer society หรือ ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ : https://bit.ly/3C1Bp7I
ร.อ. นพ. รัฐพันธ์ ละมูล แผนกโลหิตวิทยา กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า โรคมะเร็งเลือดหายากกลุ่มเอ็มพีเอ็นเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดมีการกลายพันธุ์และแบ่งตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่เกิดจากการสร้างเม็ดเลือดที่เพิ่มขึ้น เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน ตับและม้ามโต เป็นต้น
โดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ 1. โรคเลือดข้น (PV) คือร่างกายมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดทุกชนิดมากกว่าปกติ แต่ลักษณะเฉพาะคือมีเม็ดเลือดแดงที่สูงกว่าโรคชนิดอื่น 2. โรคเกล็ดเลือดสูง (ET) ร่างกายมีการผลิตเกล็ดเลือดมากกว่าปกติ 3. โรคพังผืดในไขกระดูก (MF) มีการสร้างพังผืดในไขกระดูก ซึ่งส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ ซึ่งกลุ่มโรค MPN นี้พบมากขึ้นในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยจากการศึกษาในทวีปยุโรปพบว่า อัตราการเกิดโรคในผู้สูงอายุเหล่านี้เฉลี่ยอยู่ที่ 9.53 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี และในปัจจุบันยังไม่มีการเก็บข้อมูลอุบัติการณ์การเกิด "โรค MPN" ในประเทศไทย
ด้าน อ. พญ. ลัลธริมา ภู่พัฒน์ หน่วยโลหิตวิทยา สาขาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า โรคมะเร็งเลือดหายากกลุ่มเอ็มพีเอ็นถือเป็นหนึ่งในโรคหายากที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ โดยอาการที่พบบ่อย คือ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า (Fatigue), ซีดจาง (Anemia), คัน (ltching), เหงื่อออกมากผิดปกติในตอนกลางคืน (Night sweat) และปวดกระดูก (Bone pain) บางรายอาจมีไข้ และน้ำหนักลด ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน หรือมีภาวะเลือดออกง่าย หรือผู้ป่วยโรคเอ็มพีเอ็นบางรายมีการกลายเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้องจากม้ามโต (Splenomegaly) ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามการรู้ทันและเริ่มการรักษาตั้งแต่แรกและต่อเนื่อง จะทำให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตอยู่กับโรคได้ และเพื่อทำให้เรารู้จักโรคนี้กันมากขึ้น การเข้าใจอาการของโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ
หนึ่งในสมาชิกชมรมผู้ป่วยโรคเอ็มพีเอ็นประเทศไทย ผู้มีประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN อย่าง อ.ดร.สุภาสเมต ยุนยะสิทธิ์ หลังได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคเลือดข้น (PV) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เล่าว่า ตนมีอาการเริ่มต้น คือ เวียนศีรษะ บ้านหมุน อาเจียนอย่างหนักวันละ 4-5 ครั้ง อาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตมาก อีกทั้งยังเป็นกลุ่มอาการที่เกิดกับโรคต่างๆ ได้มากมาย กว่าจะทราบว่าเป็นอาการที่เกิดจากโรคเลือดข้นโดยตรงก็ใช้เวลานาน สมองบางส่วนเริ่มขาดเลือด แต่โชคดีที่ได้รับการรักษาทันเวลา โรค PV นี้แม้จะเป็นมะเร็งเลือดที่ดูเหมือนจะไม่รุนแรง สามารถควบคุมอาการและมียารักษาได้ แต่กับผู้ป่วยบางคน ยาก็ส่งผลข้างเคียงกับเม็ดสีผิว ทำให้เป็นรอยปื้นคล้ำหลายแห่งตามร่างกาย เช่น แขน ขา และส่งผลความผิดปกติของรอบประจำเดือนด้วย ดังนั้นสิ่งสำคัญผู้ป่วยรวมถึงญาติผู้ป่วยเองควรรู้จักและเข้าใจการรักษาโรคนี้เพื่ออยู่กับโรคได้ดีขึ้น
ส่วน อ.พญ.สุนิสา ก้องเกียรติกมล สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงภาวะขาดแคลนเลือดและสเต็มเซลล์ว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือด รวมถึง โรค MPN โดยเฉพาะ อย่างยิ่งโรคพังผืดในไขกระดูก และผู้ป่วยโรคเลือดอื่นๆ จำนวนมาก มีความจำเป็นต้องได้รับเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะซีด และไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้เพียงพอ จำเป็นต้องได้รับเลือดจำนวนมากพอในกระบวนการรักษา ซึ่งในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา มีการบริจาคเลือด แล สเต็มเซลล์ลดน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านที่มีคุณสมบัติสามารถร่วมบริจาคโลหิตและสเต็มเซลล์ สามารถติดต่อบริจาคเลือดได้ที่ศูนย์รับบริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
พรรณี มิ่งอารีวาณิช หัวหน้างานสื่อสารองค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยกล่าวถึงสถานการณ์การขาดแคลนเลือด และสเต็มเซลล์ว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดหาอาสาสมัครบริจาคเซลล์ ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วย มาตั้งแต่ปี 2545 สามารถจัดหาอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดโลหิตได้ จำนวน 312,601 ราย ซึ่งมีผู้ที่สามารถบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดโลหิตให้กับผู้ป่วยได้จริงเพียงแค่ 518 ราย และยังมีผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโลหิตอีก 2,615 ราย อาทิ ผู้ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
“การบริจาคโลหิต 1 ถุง โลหิตจะถูกนำไปปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิต 3 ส่วน 1. เม็ดเลือดแดง นำไปรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ไขกระดูกฝ่อ ผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดจากการผ่าตัดหัวใจ 2. เกล็ดเลือด นำไปรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว 3. พลาสมา นำไปรักษาผู้ที่มีอาการช็อคจากการขาดน้ำ ผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อปั่นแยกแล้วจะนำโลหิตไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ตรงตามอาการฉะนั้นการบริจาคโลหิตแต่ละครั้งจึงสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต”
ผู้ที่สนใจลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ ลงทะเบียนพร้อมกับการบริจาคโลหิตเพื่อเก็บตัวอย่างโลหิตนำไปตรวจเนื้อเยื่อ HLA โดยขึ้นทะเบียนได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 0 2256 4300