สธ. ขยายบำบัดรักษา "ผู้ติดยาเสพติด" ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

สธ. ขยายบำบัดรักษา "ผู้ติดยาเสพติด" ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

สธ. ย้ำให้ความสำคัญนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด ชี้มีการขยายบำบัดรักษา "ผู้ติดยาเสพติด" ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ แนะ ผู้ติดยาและสารเสพติดสามารถเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้จากสถานบำบัดใกล้บ้าน

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข

มีผู้เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล

  • ปี 2652 จำนวน 263,834 ราย
  • ปี 2563 จำนวน 222,627 ราย  
  • ปี 2564 จำนวน  179,619 ราย  มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ

 

ส่วนใหญ่เป็นการบำบัดผู้เสพยาบ้า มากกว่า 75% ในทุกปี และยังมีผู้เสพยาเสพติดอีกส่วนหนึ่งอยู่ในการดูแลของกรมควบคุมประพฤติ ซึ่งการดำเนินงานบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด เป็นไปตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ให้ทุกภาคส่วนเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการบำบัดรักษา เปลี่ยนทัศนคติของสังคม สร้างแนวคิดที่ว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ควรเข้าถึงการบำบัด”

 

กระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมในการรองรับการบำบัดรักษา  มีการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน  มีการดูแลช่วยเหลืออย่างรอบด้านและต่อเนื่อง และมีระบบการส่งต่ออย่างไร้รอยต่อ ใช้กลไกบำบัดรักษาแบบสมัครใจเป็นหลักในการบริหารจัดการและแก้ปัญหายาเสพติด โดยขยายการบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในรูปแบบการจัดตั้งคลินิก และหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อม

 

เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติด ได้เข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึง และเมื่อรับการรักษาแล้ว มีระบบกลไกติดตามเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปเสพซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีการอบรมเจ้าหน้าที่ในทุกระดับให้ความรู้เรื่องการบำบัดรักษาเสพติด และมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลติดตาม รวมทั้งมีการให้ชุมชนมีส่วนช่วยในการดูแลอย่างต่อเนื่อง

 

ขอคำปรึกษาได้ที่ รพ.รัฐทุกแห่ง

โดยสามารถขอคำปรึกษาและรับการบำบัดรักษาได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น

  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
  • โรงพยาบาลชุมชน
  • โรงพยาบาลทั่วไป

โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น

  • โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลวชิระ
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. วัด และชุมชน เป็นต้น  

 

ทั้งนี้ กรมการแพทย์  โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาค  เป็นหน่วยงานที่รักษา บำบัด ฟื้นฟู และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด แก่ทุกภาคส่วน  และมีการให้คำปรึกษาผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งระบบ Tele Conference แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ  เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการรักษา  

 

สำหรับกรณีที่มีความยุ่งยากซับซ้อนในรักษาจะมีระบบส่งต่อไปยัง สบยช.และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาค รวมถึง สถานพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่าทันที อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครอบครัวและชุมชน ให้มีการนำส่งผู้เสพยาเสพติด ให้เข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องการเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา

 

 

กระบวนการรักษา

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการบำบัดรักษาแบบหลัก ๆ มี 2 รูปแบบ คือ

  • แบบผู้ป่วยนอก รักษาในรูปแบบกาย จิต สังคมบำบัดแบบไป-กลับ
  • แบบผู้ป่วยใน เน้นกระบวนการบำบัดให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็ง  มีครอบครัวเป็นหลักสำคัญ

 

ซึ่งในปัจจุบัน ยังเพิ่มการรักษาแบบ Hospital care @ Home เข้ามาโดยใช้บ้านเป็นเสมือนหอผู้ป่วย ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ติดต่อสื่อสารผ่านทาง DMS Telemed และ Application ห่วงใย

 

ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการทางยาเสพติดและไม่มีโรคแทรกซ้อนทางกายและจิตเวชที่รุนแรง ทางครอบครัวหรือญาติมีความพร้อมในการดูแล สามารถใช้ Smart phone, Computer หรือ Tablet ได้ ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบจะได้รับการดูแลจากแพทย์และทีมสหวิชาชีพ ให้การบำบัดรักษาอาการขาดยา รวมถึงภาวะแทรกซ้อนทางกาย ทางจิต โดยการให้ยาจนอาการดีขึ้นและให้การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ

 

ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2564 ทางสบยช.มีผู้มาเข้ารับบริการบำบัดรักษายาเสพติด 26,755 ราย ส่วนใหญ่ใช้ยาเสพติดกลุ่มสารกระตุ้นประสาท ซึ่งมีก่อให้เกิดโรคทางจิตประสาทและพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง สอดคล้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีการเสนอข่าวสารในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 และ สายด่วนเลิกยาเสพติด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมงหรือผ่านช่องทาง Line Official ‘ห่วงใย’ เพื่อประเมินตัวเองเกี่ยวกับการติดสารเสพติดและการให้คำปรึกษา  และสามารถเข้าบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) โรงพยาบาลธัญารักษ์ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (คลิก)