บทเรียนซ้ำๆ โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู สงครามยาเสพติดเฟส 2 รัฐบาล "ประยุทธ์"
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหว ภายหลังเหตุการณ์เศร้าสลดหัวใจคนไทยทั้งประเทศ สุดท้ายแรงขับเคลื่อนจากเหตุการณ์นี้ จะทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง หรือแค่ “วัวหายล้อมคอก” ก่อนจะเงียบหายไปกับสายลมอีกหรือไม่ ต้องติดตาม
สปอร์ตไลต์ทางสังคมกำลังฉายแสงไปที่การปราบปรามค้ายาเสพติดอย่างเร่งด่วน
พลันที่เกิดเหตุ “โศกนาฏกรรม” กราดยิงเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเฉียด 40 ศพ โดยเฉพาะเด็กเล็ก โดยฝ่ายตำรวจมีการระบุว่า “ผู้ก่อเหตุ” ซึ่งเป็น “อดีตนายสิบตำรวจ” นั้น มีพฤติการณ์เสพยาเสพติดมาหลายปี และถูกจับกุมข้อหาครอบครองและเสพยา
เรื่องนี้ถูกสังคม รวมถึงพรรคการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น ทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยดูแลเด็ก การเข้าถึง-ครอบครองอาวุธปืน แต่ที่ถูกโฟกัสมากที่สุดเห็นจะเป็นนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังคงไม่เข้าเป้า
ร้อนถึงหน่วยงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อย่าง “กระทรวงมหาดไทย” โดย “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัด มท. นัดประชุมด่วน หารือแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน โดยมีการ “ถอดบทเรียน” เกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมกับเคาะนโยบาย “สงครามยาเสพติด” เต็มรูปแบบ มีมาตรการหลัก ๆ 5 ด้าน ได้แก่
1.ให้กำชับมาตรการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด Re X – Ray กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด เพื่อลด Demand และ Supply ของยาเสพติด พร้อมทั้งนำผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา และเพิ่มความเข้มข้นการตรวจตรา ตั้งด่านชุมชน โดยปลัดอำเภอฝ่ายป้องกัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุด ชรบ. เพื่อตรวจสารเสพติด เฝ้าระวังเหตุการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อสังคมและอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการค้ามนุษย์
2.การปลุกจิตวิญญาณให้คนในหมู่บ้านช่วยกันระวังภัย ทั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนในชุมชน มีการสื่อสารหรือรายงานสถานการณ์ที่เป็นความเสี่ยงให้กับฝ่ายปกครองทราบเพื่อจะได้เตรียมการป้องกันก่อนเกิดเหตุ
3.ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สนับสนุนการตั้งด่านชุมชนของกรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่
4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอให้ความสำคัญกับกิจกรรมของหมู่บ้าน/ชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดิน ต้องไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างแท้จริง และเฝ้าระวัง รวมถึงขยายผลไปยังเครือข่ายต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่ให้มีการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
5.ได้กำชับให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนด้วย หากพบว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขาดคุณสมบัติให้ดำเนินการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นทันที ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นศึกษา และทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชน พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือ สงเคราะห์ได้ครอบคลุมผู้เดือดร้อนทุกประเภท
เช่นเดียวกับหน่วยงานความมั่นคงอย่าง “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หรือ ตร. โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. สั่งข้าราชการตำรวจทั่วประเทศถอดบทเรียนเรื่องนี้เช่นกัน พร้อมกับมีนโยบายเร่งด่วนสั่งการให้เพิ่มมาตรการดูแลป้องกันเหตุคุ้มคลั่ง รวมทั้งปัญหายาเสพติดจะต้องกวาดล้างให้หมดทั้งเครือข่ายใหญ่และรายย่อย โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบายในชุมชน
นอกจากนี้ จะเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสุขภาพร่างกายของข้าราชการตำรวจ มากกว่าการตรวจประจำปีแค่ครั้งเดียว โดยเฉพาะการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นกรณี “วัวหายล้อมคอก” แบบที่ผ่าน ๆ มา
ในมุมมองหน่วยงานความมั่นคง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตรองผู้การกองปราบ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ปัญหาหนึ่งของเรื่องนี้ที่ถูกพูดถึงกันมาตลอดคือ ยังไม่มีมาตรการควบคุมอาวุธปืนที่ดีพอ ทั้งการครอบครองและจำนวนการมีอาวุธปืนของคนในประเทศ
“จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ถึงเวลาต้องยกเครื่องมาตรการใหม่ การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเป็นงานอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ต้องมีการตรวจสอบมากขึ้น จำนวนอาวุธที่มีการอนุญาต มีเท่าไหร่กันแน่ ต้องแยกแยะสำหรับบุคคลธรรมดา มีเท่าไหร่ ถ้าไปรวมกับหน่วยราชการที่จัดโครงการให้ข้าราชการในสังกัดซื้ออาวุธปืนจำนวนมาก ที่เรียกว่าโครงการปืนสวัสดิการ มีอีกจำนวนเท่าไหร่ เรื่องแบบนี้ต้องมีข้อมูลทั้งหมด และต้องไม่ทำแบบไฟไหม้ฟาง” พ.ต.อ.ทวี ระบุ
ฟาก “นักการเมือง” ออกมาผสมโรงเขย่าประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน นำโดย “พรรคเพื่อไทย” ชู “ยาแรง” ปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้น โดยยกตัวอย่างเมื่อครั้งสมัย “พรรคไทยรักไทย” จัดตั้งรัฐบาลระหว่างปี 2544-2549 มี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกฯ ประกาศ “สงครามยาเสพติด” เต็มสูบ
อย่างไรก็ดี สงครามยาเสพติดในสมัย “รัฐบาลทักษิณ” ถูกประชาชน นักวิชาการ และหลายภาคส่วนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เน้นหนักไปทาง “ฆ่าตัดตอน” โดยไม่นำตัวผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง มีการประเมินว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวกว่า 2 พันศพ ว่ากันว่าจำนวนนี้มากกว่าครึ่งอาจเป็น “ผู้บริสุทธิ์”
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหว ภายหลังเหตุการณ์เศร้าสลดหัวใจคนไทยทั้งประเทศ สุดท้ายแรงขับเคลื่อนจากเหตุการณ์นี้ จะทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง หรือแค่ “วัวหายล้อมคอก” ก่อนจะเงียบหายไปกับสายลมอีกหรือไม่ ต้องติดตาม