เตรียมพร้อมอย่างไร? เมื่อเข้าสู่วัยทอง
วัยทอง หรือวัยหมดระดู เป็นช่วงวัยของสตรีที่รังไข่หยุดทำงาน ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่สร้างจากรังไข่ลดลง ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในเกือบทุกระบบของร่างกาย
ครบรอบ 30 ปี "คลินิกวัยทอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" ได้จัดงานเสวนาเรื่อง "มุมใหม่วัยทอง..มุมมองแห่งคามสำคัญ"
- สังเกตตัวเอง..เข้าสู่วัยทองแล้วหรือยัง?
โดยมี รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้หญิงวัยทองมากกว่า 30 ปี แพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และนายกสมาคมวัยหมดระดูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้หญิงจะเข้าสู่วัยทอง เมื่ออายุเฉลี่ยประมาณ 49- 50 ปี แต่ทั้งนี้ ผู้หญิงแต่ละคนเข้าสู่วัยทองแตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ดังนั้น การเตรียมตัวเมื่อก้าวสู่วัยทอง คือ ต้องดูแลสุขภาพของตัวเองและเก็บสุขภาพที่ดีก่อนจะหมดประจำเดือน และอายุ 45 ปี ขึ้นไปควรจะพบแพทย์
สำหรับอาการที่สังเกตได้ง่าย คือ
- หมดประจำเดือน หรือการเปลี่ยนแปลงของรอบประจำเดือน เช่น คนที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอทุกเดือนก็อาจจะมาถี่ขึ้น ถี่ขึ้น และห่างออกไปหลายเดือน จนหมดประจำเดือนไปเลย
- มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน
- ผิวหนังแห้ง บาง ผมแห้งและหลุดร่วงง่าย
- ช่องคลอดแห้ง ทำให้มีอาการแสบ คัน และติดเชื้อได้ง่าย
- นอนหลับยาก ตื่นเร็ว
- อารมณ์ผันผวน อาทิ หงุดหงิดง่าย และเครียด
- ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ยาก เบื่อหน่าย ซึมเศร้า
- ระบบทางเดินปัสสาวะ ไอ จามปัสสาวะเล็ด เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดตำราสมุนไพร ตัวช่วย-แก้ 10ปัญหาระบบภายใน กวนใจ สตรี
เตรียมความพร้อม ก่อนมีบุตรช่วงวัย 35 อัพ
- เมื่อเข้าสู่วัยทอง ..ต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง
30 ปีก่อน พอหมดการเจริญพันธุ์ ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ดูแลตัวเอง และจะไปดูแลตัวเองอีกทีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ดังนั้น ในช่วง 15 ปีที่ถูกละเลยเป็นวันของผู้หญิงที่กำลังทำหน้าที่ได้อย่างดี และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่พวกเขาต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต
รศ.นพ.อรรณพ กล่าวต่อว่า หากพบว่ามีอาการข้างต้น แม้จะยังไม่อายุ 49-60 ปี ก็ควรจะมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ฉะนั้น
- ผู้หญิงเมื่ออายุเกิน 45 ปีต้องมาพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เช่น ตรวจเช็กมะร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ระดับไขมันในเลือด และความหนาแน่นกระดูก
- ควรเตรียมประวัติการรักษาก่อนไปพบแพทย์ เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย และการจัดยาหรือฮอร์โมนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารไขมันต่ำ อาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูกหรืออาหารที่กากใยสูง เพื่อช่วยระบบขับถ่ายที่มักแย่ลงในวัยทอง
- ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันกระดูกพรุน อีกทั้งทำให้ปอดกับหัวใจแข็งแรง แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาหรือกิจกรรมที่มีความรุนแรง
- การรักษาด้วยฮอร์โมน ในบางรายแพทย์อาจทำการให้ฮอร์โมนรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นตามข้อบ่งชี้และข้อห้ามใช้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกฮออร์ เป็นต้น
- ต้องมีการติดตามดูแลอาการ เพื่อปรับการดูแลให้เหมาะสมแต่ละคน
- เฝ้าระวัง..โรคที่มาพร้อมกับวัยทอง
"คลินิกวัยหมดระดู หรือคลินิกวัยทอง" เกิดขึ้นเพื่อดูแลผู้หญิงวัย 45-60 ปี ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเปลี่ยนแปลง และลดลงอย่างมาก สิ่งสำคัญในคลินิกวัยทอง คือ ทีมพยาบาลจะรับฟังปัญหาให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ให้ผู้หญิงวัยทองเป็นกลุ่ม และให้แต่ละคนแบ่งปันประสบการณ์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
ทว่าวัยทอง ไม่ใช่มีเพียงอาการข้างต้น แต่ยังนำมาซึ่งโรคอื่นๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ อาทิ โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความจำเสื่อม ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดความเสี่ยงลงได้ หรือรักษาโรคได้ในระยะแรกที่ไม่มีอาการ การมาพบแพทย์เพื่อตรวจจึงมีความสำคัญมากขึ้น
รศ.นพ.อรรณพ กล่าวต่อไปว่าผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่ง 1-2 ปี แรก จะมีผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้ร้อนวูบวาบ เหงื่อแตก หงุดหงิด ซึมเศร้า แต่พอผ่านไป 1-2 ปีแรก จะมีอาการอื่นๆ และเป็นโรคอื่นๆ เช่น มีอาการฝ่อลีบของผิวหนังต่างๆ ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์มีแสบ มีเจ็บ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อที่ลีบลง และการสูญเสียของกระดูก กระดูกบาง กระดูกพรุน และไขมันในเลือดสูงขึ้น มีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้น ขณะที่สมอง ความจำ สมาธิก็มีภาวะที่เกิดจากวัยทอง
โรคกระดูกพรุนในวัยทอง มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมาก ต้องมีการดูแลสตรีวัยทองให้ครอบครัวทั้งในแง่ป้องกัน ชะลอการเสื่อมถอย และส่งเสริมสุขภาพให้กับสตรีในวัยนี้ โดยทีมแพทย์ต้องมีบทบาทในการคัดกรอง ป้องกันและรักษาการสูญเสียมวลกระดูก รวมถึงป้องกันกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย
- วัยทองปัจจัยเสี่ยง ทำให้เกิด"โรคกระดูกพรุน"
นพ.โชติตะวันณ ตนาวลี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกระดูก โดยเมื่ออายุมากขึ้น มวลกระดูกจะเริ่มบางลงตามธรรมชาติ และมีรูพรุนมากขึ้น ความแข็งแรงลดลง เมื่อเจอแรกกระทบก็จะทำให้หักได้ง่าย ซึ่งโรคกระดูกพรุนจะเป็นที่เนื้อกระดูก ผิวข้อกับเนื้อกระดูกจะอยู่ใกล้กัน เวลาเดินและใช้งานในชีวิตประจำวัน ถ้ากระดูกพรุนมากๆ ทำให้ข้อหักได้
พญ.นลินา ออประยูร สูตินรีแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ธรรมชาติของกระดูก เป็นอวัยวะที่สลายของเก่าออกและสร้างของใหม่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง โดยในผู้หญิงและผู้ชายจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้ต่างกัน แต่ในกลุ่มผู้หญิงช่วงวัยทอง ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่จะลดลง เมื่อไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งทำหน้าที่ปกป้อง ก็จะเกิดการสลายมากกว่าการสร้าง และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาจะทำให้กระดูกที่แข็งแรงสู่กระดูกบาง และกระดูกพรุนได้
"ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดระดู ก็จะสูญเสียมวลกระดูกได้อย่างรวดเร็ว 1-2 ปี ก่อนจะหมดประจำเดือน และกระดูกจะสลายไปอย่างรวดเร็วในช่วง 10ปี หลังจากหมดประจำเดือน เพราะฉะนั้น ช่วงก่อนวัยทอง เป็นช่วงเวลาสำคัญปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือดูแลชะลอการสลายกระดูก เพื่อป้องกันกระดูกบางหรือกระดูกพรุนในอนาคต"พญ.นลินา กล่าว
สำหรับใครที่หมดระดูก่อนอายุ 49-50 ปี หรือต้องไปผ่าตัดรังไข่ ทำให้การทำงานของรังไข่ลดลงและเอสโตรเจนก็จะลดลงด้วย มีความเสี่ยงโรคกระดูกมากขึ้น
- ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุน
รศ.พญ.ลลิตา วัฒนะจรรยา อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนและกระดูกบางเป็นได้ทุกช่วงอายุ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น กลุ่มวัยทอง ผู้สูงอายุเป็นโรคกระดูกพรุนตามธรรมชาติ แต่ยังมีโรคกระดูกพรุนแบบมีสาเหตุ เช่น มีโรคประจำตัว ได้รับยาบางอย่าง อาทิ ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน หรือโรคไทรอยด์ที่ไม่ได้รับการรักษา หรือคนผอมมากการดูดซึมอาหารไม่ได้ โรคต่อมไร้ท่อ หรือได้รับยาสเตีย รอยด์ หรือเป็นมะเร็งเต้านม และต้องได้รับยาลดฮอร์โมน เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ได้แก่
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติกระดูกหักง่าย หรือ หักบ่อยเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน
- ประวัติของตัวเราเองว่าเคยเกิดอุบัติเหตุไม่รุนแรงแล้วกระดูกหักง่าย เช่น หกล้มแล้วเอามือยันแล้วกระดูกข้อมือหักถือว่าเป็นภาวะไม่ปกติ อุบัติเหตุรุนแรงคือ รถชน ตกจากที่สูง ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะกระดูกหักได้เพราะมีความรุนแรง กระดูกหักจากอุบัติเหตุรุนแรงถือว่าเป็นภาวะปกติ
- ขาดฮอร์โมนเพศหญิง หากใครมีประวัติการตัดรังไข่และหรือมดลูกก่อนวัยหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ มวลกระดูกจะตกลงเรื่อยๆ ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้
- ประวัติการใช้ยาต่างๆ เช่น ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า
- คนที่ผอมมากๆ น้ำหนักตัวน้อย ค่า BMI ต่ำ ถือว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะโรคกระดูกพรุน
- ผู้ที่สูบบุหรี่ และ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
- การออกกำลัง ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนน้อยกว่า
- วิธีการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
สำหรัลวิธีป้องกันและการรักษาโรคกระดูกพรุนโดยไม่ต้องใช้ยา
- ได้รับแคลเซียมเพียงพอ (1,000 มก./วัน) แคลเซียมจากธรรมชาติคือ ปลาตัวเล็กที่สามารถกินได้ทั้งกระดูก, นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ในผู้สูงอายุควรเลือกนมไม่มีไขมันหรือไขมันต่ำ, เต้าหู้, ผักใบเขียว, ถั่วและธัญพืช
- ได้รับ Vit D เพียงพอ ร่างกายสามารถสร้างวิตามิน D ได้เองตามธรรมชาติผ่านแสงแดดที่มีรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตที่ทำปฎิกริยากับไขมัน Cholesterol ที่อยู่ในผิวหนังของเราและผลิตเป็น Vit D ที่มีประโยชน์ต่อกระดูกของเรา
- หยุดเหล้า หยุดบุหรี่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- สำคัญที่สุดคือ การป้องกันระวังอย่าให้หกล้ม ไม่ว่ากระดูกจะบางแค่ไหนก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าหกล้มเมื่อไหร่ปัญหาจะตามมามากมาย ควรระวังท่าทาง ไม่เอี้ยวตัวกดชักโครก ไม่นั่งยองๆ
กระดูกของคนเราจะเติบโตขึ้นตามวัยจนถึงช่วงอายุ 20-30 ก็จะหยุด (ยกเว้นคนที่มีภาวะผิดปกติกระดูกจะไม่หยุดโต) เพราะฉะนั้นในวัยเด็กหากได้กินอาหารอย่างเต็มที่และถูกสุขลักษณะก็จะทำให้กระดูกของคนๆ นั้นเติบโตได้อย่างเต็มที่ หลังจากกระดูกหยุดเติบโตก็จะนิ่งจนถึงวัย 40 หลังจากนั้นมวลกระดูกจะเริ่มบางลงตามธรรมชาติ
ถ้ากระดูกพรุนแบบรุนแรง ต้องระวังการก้ม การบิดตัว หรือน้ำหนักห้ามมากเกินไป และระวังล้ม เวลายกของจากพื้น ควรย่อตัวลงไป รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นๆ ดังนั้น หากใครที่มีอาการและกำลังเข้าสู่วัยทอง ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและการรักษา เพื่อให้ผ่านช่วงวัยทองได้อย่างสมดุล