11 ยาอันตราย พบลักลอบใส่ใน "ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร"
"ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร"กำลังเป็นกระแสของผู้บริโภคอย่างมาก แต่ต้องระวังอาจมีการลับลอบผสมยาอันตรายที่พบได้มี 11 ตัวยา ในผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลอันตรายต่อร่างกาย
ข้อมูลจากการรับเรื่องร้องเรียนของสภาองค์กรของผู้บริโภค(สอบ.) ทั้งหมด13,808 เรื่อง ใน 10 ด้าน ซึ่งด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นอันดับ 4 จำนวน 841 เรื่อง แยกย่อยเป็น อื่นๆ 218 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 145 เรื่อง ไม่ระบุ 124 เรื่อง อาหารและยา 2 เรื่อง โดย 5อันดับแรกคือ ด้านการเงินและการธนาคาร ,ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ,ด้านบริการสุขภาพ และ ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เผยผลงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จัดการปัญหาโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสถานประกอบการที่ผิดกฎหมาย สรุปดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดทั้งคดีโฆษณา ผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการ 1,792 คดี และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย 802 คดี รวม 2,594 คดี ขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดร่วมกับ ปคบ. รวมของกลางมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท
คดีที่สำคัญ ๆ เช่น ปฏิบัติการปูพรมจับร้านขายยาไม่มีเภสัชกรทั่วประเทศ การลักลอบผลิต/จำหน่ายชุดตรวจโควิดปลอม
- ลักลอบผลิตไส้กรอกใส่สารอันตราย
- ลักลอบนำเข้าและขายเครื่องสำอางปลอม
- แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกขายผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์
- ลักลอบนำเข้ายาโมลนูลพิราเวียร์
- ผลิตภัณฑ์สมุนไพรยากษัยเส้นปู่แดงใส่สารอันตราย และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลักลอบใส่วัตถุออกฤทธิ์
รวมมูลค่าของกลาง 1,321,130,000 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
วิธีเลือก “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”อย่างไรให้ได้มาตรฐาน ในยุคหลังโควิด-19
"ไซบูทรามีน" สารต้องห้ามผิดกฎหมาย อันตรายถึงตาย
อย. เปิด 4 หลักเกณฑ์ ใช้สถานที่ผลิต "เครื่องสำอาง" ร่วมผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น
- อย่าหลงเชื่อ-อย่าซื้อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
อย.ได้ให้ข้อมูลเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นอันตรายและผิดกฎหมาย โดยระบุถึง การอย่าหลงเชื่อ และอย่าซื้อ ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะ ดังนี้
1.อย่าหลงเชื่อ ว่าสามารถรักษาโรคต่างๆได้ เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยา รวมถึง อย่าหลงเชื่อ ลดน้ำหนัก ทำให้ผิวขาว เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ล้างพิษ ลดริ้วรอย เป็นต้น หรือทำให้อาหารเจ็บป่วยของโรคดีขึ้นได้ อาจปลอมปนยา จะสูญเสียโอกาสในการรักษา อาจพิการและมีอันตรายถึง ชีวิต
2.อย่าซื้อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณา อวดอ้างสรรพคุณ
- ใช้ในการบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยของมนุษย์
- ทำให้เกิดผลต่อสุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใดๆของร่างกายมนุษย์ เช่น ทำให้ผิวขาว
- ลดความอ้วน ลดน้ำหนัด ทำให้ผอมเพรียว รูปร่างดี
- มีผลต่อการเพิ่มหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศ
- 11ยาอันตรายลักลอบใส่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
นอกจากนี้ ยังระบุถึง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายนั้น บ่อยครั้งที่ตรวจพบมีการลักลอบผสมยาอันตราย ซึ่งที่พบได้มี 11 รายการ ซึ่งส่งผลต่ออาการไม่พึงประสงค์ ประกอบด้วย
1.ไซบูทรามีน อาการไม่พึงประสงค์ มึนงง วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดท้อง อาเจียน ความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว
2.ออริสแตท อาการไม่พึงประสงค์ ผิวหนังไวต่อแสงมากกว่าปกติ วิตกกังวล ปวดศีรษะ การนอนหลับผิดปกติ คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ
3.บิซาโคดิล อาการไม่พึงประสงค์ ปวดเกร็งท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด เวียนศีรษะ บ้านหมุน ทวารหนักระคายเคืองและอักเสบ
4.ฟลูออกซิทีน อาการไม่พึงประสงค์ วิตกกังวล มึนงง ง่วงซึม นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนแรง ตัวสั่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น
5.ฟีนอล์ฟทาลีน อาการไม่พึงประสงค์ ผื่นผิวหนัง ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
6.เฟนฟลูรามีน อาการไม่พึงประสงค์ ง่วงซึม ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ มึนงง ปวดศีรษะ ซึมเศร้า
7.ซิลเดนาฟิล อาการไม่พึงประสงค์ หน้าแดง ตัวแดง ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ กระเพาะอาหารอักเสบ เพิ่มเอนไซม์ตับ
8.ทาดาลาฟิล อาการไม่พึงประสงค์ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก
9.เฟนเทอร์มีน อาการไม่พึงประสงค์ มองเห็นภาพไม่ชัด นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว
10.ฟูโรซีไมด์ อาการไม่พึงประสงค์ ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หลอดเลือดอักเสบ อาการทางสมองที่เกิดจากการทำงานของตับบกพร่อง
11. 2-ไดเฟนิล เมทิลไพโรลิดีน อาการไม่พึงประสงค์ ประสาทหลอน หวาดระแวง มีพฤติกรรมรุนแรง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- วิธีตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก่อนซื้อ
1.ตระหนักว่าหามีการโฆษณาเกินจริง ในลักษณะรักษาโรค อย่าหลงเชื่อ
2.สังเกตบรรจุภัณฑ์ต้องมีเลขอย. 13 หลัก
3.ต้องมีการระบุผู้ผลิตชัดเจน สามารถตามตัวได้
4.นำเลขอย./ผู้ผลิตมาตรวจสอบในเวบไซต์อย.
5.พบเจอโฆษณาเกินจริงให้ร้องเรียนสอบ. หรืออย.
6.ตรวจเช็คผลิตที่อย.เพิกถอนอนุญาตในเวบไซต์อย.อยู่เสมอ
หากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทำผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 อย.ได้รายงานเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดย ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวปลอมของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีการเผยแพร่ในสื่อโซเชียลมีเดีย พบผลิตภัณฑ์ 5 ชนิดที่มีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผักเชียงดาผสมอบเชย ชนิดแคปซูล (ตรา ชีวา) / Gymnema mixed with Cinamon Capsule Dietary Supplement Products (Chewa BRAND) เลขสารบบอาหาร 50-1-02254-5-0006 อวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคเบาหวาน
2. เครื่องดื่มเชียงดา ผสมใบหม่อน และดอกคาโมมายด์ ชนิดผง (ตรา ชีวา) / Dried Gymnema mixed with Mulberry and Chamomile Beverage (Chewa BRAND) เลขสารบบอาหาร 50-1-02254-2-0052 อวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคเบาหวาน
3. อีเลฟเว่น ออยล์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 500 มก. (Eleven Oil Dietary Supplement Product 500 mg.) เลขสารบบอาหาร 19-1-15653-5-0101 อวดอ้างสรรพคุณลดเบาหวาน ความดัน ลดปวดตามข้อ เสริมภูมิต้านทาน ลดริ้วรอย
4. ยูคอร์ (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดแคปซูลนิ่ม)/UCore (Softgel Dietary Supplement Product) เลขสารบบอาหาร 13-1-07458-5-0233 อวดอ้างสรรพคุณรักษาไทรอยด์เป็นพิษ ให้หายขาดได้
5. ยูคอร์ (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดแคปซูลนิ่ม)/UCore (Softgel Dietary Supplement Product) เลขสารบบอาหาร 13-1-07458-5-0233 อวดอ้างสรรพคุณช่วยรักษาอาการลองโควิด