"ไซบูทรามีน" สารต้องห้ามผิดกฎหมาย อันตรายถึงตาย
ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "ไซบูทรามีน" (Sibutramine) ซึ่งการใช้ ไซบูทรามีน อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
จากกรณี ตำรวจ ปคบ. กล่าวถึงกรณีเคยจับ 2 สามีภรรยา CEO แบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชื่อดัง หลังพบสาร "ไซบูทรามีน" หรือสารต้องห้ามใส่ไปในผลิตภัณฑ์ยาลดน้ำหนัก ตามที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แฉ ปมจับ CEO แบรนด์อาหารเสริมดัง พบใส่สารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์
ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "ไซบูทรามีน" (Sibutramine) ซึ่งปัจจุบันยานี้เป็นยาผิดกฎหมาย มีการห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายในประเทศไทย มีการระบุว่า การใช้ ไซบูทรามีน อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย หากมีโรคประจำตัวและกำลังใช้ยาบางชนิด
สำหรับ ไซบูทรามีน เป็นยาที่ใช้รักษาโรคอ้วนหรือโรคอื่นที่มีสาเหตุมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป จัดเป็นยาอันตรายที่มีผลข้างเคียงรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก เพิ่มเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
ไซบูทรามีน จัดเป็นยาที่มีฤทธิ์รุนแรง เป็นยาผิดกฎหมายห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย แต่ก็มักมีการลักลอบนำไปผสมใน "อาหารเสริม" ที่ช่วยลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วน รวมถึงนำไปโฆษณาจนเกินความเป็นจริงซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
ความอันตรายของ "ไซบูทรามีน"
ไซบูทรามีน จะเข้าไปยับยั้งการหลั่งของสารเคมีภายในร่างกาย ส่งผลให้ไม่อยากอาหารและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังนี้
- ปวดหัว
- เวียนหัว
- ปากแห้ง
- ท้องผูก
- นอนไม่หลับ
- คัดจมูก
- น้ำมูกไหล
- มีไข้
- อยากอาหาร
- เวียนศีรษะ
อาการที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ ไซบูทรามีน เท่านั้น
ยาชนิดนี้ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่น เช่น โรคคลั่งผอม (Anorexia) ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคจิต ภาวะอารมณ์ดีกว่าปกติ (Mania) ภาวะซึมเศร้า และเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้
ดังนั้น หากพบสัญญาณใดสัญญาณหนึ่งในข้างต้นหรืออาการอื่นหลังจากใช้อาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนัก ควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
การใช้ ไซบูทรามีน อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หากมีโรคประจำตัวและกำลังใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะโรคและยาต่อไปนี้
- โรคหัวใจ
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคตับ
- โรคต้อหิน
- โรคไต
- ภาวะซึมเศร้า
- โรคลมชัก
- ภาวะเลือดไหลผิดปกติ
- โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
- โรคไทรอยด์
- ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงหรือชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้
- ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด ยารักษาไมเกรน ยาเสพติด และยากระตุ้นความอยากอาหาร
นอกจากนี้แล้ว สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ หรือ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยานี้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก pobpad.com