การบำบัดทางพันธุกรรม | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการมองโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นเมื่อสูงอายุว่าเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน (uncertainty) และภายใต้ความไม่แน่นอนดังกล่าวยังมีความไม่เท่าเทียมกันของการรับรู้ข้อมูล (asymmetric information) ทำให้เกิดการบิดเบือน (distortions)
ส่งผลให้การรักษาพยาบาลนั้นค่าใช้จ่ายสูงมากและราคาจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยจะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลทุกประเทศ เพราะประชาชนมองว่าการดูแลและเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพนั้นเป็นสิทธิของประชาชน แต่ในอนาคต สมมติฐานพื้นฐานที่กล่าวถึงข้างต้นคือความไม่แน่นอน (uncertainty) นั้นอาจไม่ถูกต้อง
หมายความว่าในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่มนุษย์ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรม (genome sequencing) และปัจจุบันสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้อย่างรวดเร็วและละเอียดถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น โดยมีต้นทุนต่ำลงไปเรื่อยๆ ก็ทำให้การบำบัดทางพันธุกรรม (gene therapy) พัฒนาคืนหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว
การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับยีนต่างๆ ของมนุษย์กำลังคืบหน้าไปด้วยดี แต่คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะมีข้อมูลที่ค่อนข้างครบถ้วนเพราะมนุษย์มียีนมากถึง 20,000-25,000 ยีน
ประเด็นสำคัญคือ ยีนคือปัจจัยที่กำหนดทุกอย่างของตัวเราและเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บหลายโรค โดยเฉพาะโรคร้ายต่างๆ ที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในวันนี้น่าจะเกิดขึ้นจากความบกพร่องของยีนหรือความบกพร่องของการทำงานของยีนเกือบทั้งสิ้น
แปลว่าเมื่อมนุษย์มีความรู้อย่างครบถ้วนว่ายีนอะไรทำหน้าที่อะไรและเมื่อมนุษย์สามารถปรับเปลี่ยนตัดแต่งหรือตัดแปลงยีนได้ มนุษย์ก็จะสามารถรักษาโรคดังกล่าวได้
ถึงตรงนี้หลายท่านอาจคิดว่าน่าจะเป็นนิยายมากกว่าเรื่องจริง แต่ขอให้มาคิดกันในหลักการก่อน ในขั้นที่หนึ่งนั้น เมื่อเรามีความรู้อย่างครบถ้วนว่ายีนอะไรทำหน้าที่อะไร (และหากทำหน้าที่ไม่ได้ผลคือการป่วยเป็นโรคอะไร) สมมติฐานปัจจุบันที่บอกว่าเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนก็จะไม่เป็นความจริงอีกต่อไป
ตัวอย่างเช่นปัจจุบันเรารู้กันแล้วว่า
1. ผู้หญิงที่มียีน BRCA1 BRCA2 ที่กลายพันธุ์จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งที่เต้านม เพราะเป็นยีนที่โดยปกติจะมีหน้าที่ซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหาย แต่ในกรณีที่ยีนดังกล่าวกลายพันธุ์ก็จะไปกระตุ้นการเกิดเนื้องอกได้
2. มะเร็งประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น กว่า 50% น่าจะเกิดขึ้นเพราะยีน TP53 กลายพันธุ์ (โดยไม่ได้เป็นเพราะได้รับยีนจากบิดา-มารดา แต่เกิดจากการดำเนินชีวิต) ทำให้ไม่สามารถผลิตโปรตีนที่เรียกว่า P53 ได้ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไปฆ่าเนื้องอก (tumor suppressor) คือ ยุติการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติ (เซลล์ที่จะเป็นมะเร็ง)
3. โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของยีนเพียงตัวเดียวในปัจจุบันพบว่ามีกว่า 6,000 ชนิดและโรคภัยไข้เจ็บที่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยีนมากกว่า 1 ยีนผิดปกติ ซึ่งเป็นโรคที่เรารู้จักกันดี เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคอ้วน คอเลสเตอรอลสูง หรือแม้กระทั่งโรคหัวใจ ซึ่งผมจะกล่างถึงแนวทางในการรักษาด้วยการบำบัดทางพันธุกรรมในตอนต่อไป
มาถึงตอนนี้ผมเชื่อว่าหลายคนจะบอกว่าไม่ต้องการให้ใครมาพยายามดัดแปลงหรือตัดต่อยีนของตัวเองเพราะกลัวว่าจะมีผลกระทบข้างเคียงต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์เพราะเกิดขึ้นได้จริง เช่น กรณีของเทคโนโลยีที่เรียกว่า Crispr Cas9 หากมีการตัดต่อดีเอ็นเอผิดที่ (off-base editing) เป็นต้น
Crispr Cas9 คือ การนำเอากลไกภูมิคุ้มกันของแบคทีเรียมาใช้ในการตัดต่อและดัดแปลงพันธุกรรมของมนุษย์ สัตว์และพืช ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันทั่วโลก เพราะทำได้จริงในราคาถูกมากและผู้คิดค้นเพิ่งได้รับรางวัลโนเบลไปเมื่อปี 2563 (เป็นเทคโนโลยีที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารทางวิชาการเมื่อปี 2555)
และได้เคยมีนักวิจัยของจีนนำเอา Crispr Cas9 ทำให้เกิดทารกแฝดหญิงจีน 2 คนที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมทำให้มีภูมิคุ้มกันไม่เป็นโรคเอดส์ แต่รายละเอียดมีไม่มากเพราะเป็นการกระทำที่นักวิจัยถูกลงโทษจำคุกไปแล้ว
บางคนก็คงจะยังกลัวและยอมรับไม่ได้ว่าการรักษาโรคโดยการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยีนและแทรกแซงการทำงานของเซลล์นั้นจะต้องถูกนำใช้อย่างแพร่หลาย แต่การระบาดของโควิด-19 ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมานั้นได้กลายเป็น game changer ในการเร่งพัฒนาการของพันธุกรรมบำบัดไปแล้วในความเห็นของผม
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 12,700 ล้านโดส (มนุษย์เกือบทุกคนบนโลกนี้ได้รับวัคซีนไปแล้วคนละ 2 โดส) โดยวัคซีนโควิด-19 จะมีอยู่ 3 ชนิดคือประเภทเชื้อตาย ประเภท Viral Vector
(เช่น AstraZeneca ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่คงจะได้ฉีดแล้วและผลิตออกขายประมาณ 2,000 ล้านโดส) และประเภท mRNAได้แก่วัคซีนของ Moderna และ Pfizer-BioNTech
แต่ทราบหรือไม่ว่าวัคซีนของ AstraZeneca นั้นคือ เทคโนโลยีที่ในการทำการบำบัดทางพันธุกรรม? กล่าวคือการนำเอาไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดมาดัดแปลงให้ไม่เป็นอันตราย (adenovirus)
แล้วใส่คำสั่งทางพันธุกรรม (genetic code) ให้ไวรัสดังกล่าวแทรกตัวเข้าไปในเซลล์ของเราเพื่อสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนที่หน้าตาเหมือนกับปลายแหลม (corona spike) ของ โควิด-19 เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของเรารู้จักและสามารถปราบปรามไวรัส โควิด-19 ตัวจริงได้เมื่อเราติดเชื้อ
เทคโนโลยีดังกล่าวนั้นเรียกว่า คือ การสั่งการให้ยีนในเซลล์ปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีน เช่น การรักษาโรคมะเร็งบางชนิด อาทิ Kymriah ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อปี 2017 โดยสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐเพื่อรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (non-Hodgkin Lymphoma และ Lymphoblastic Leukemia)
ตอนต่อไปผมจะขยายความเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น CAR-T cell, Crispr Cas9 และ base editing ในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมทั้งการนำเอา mRNA เทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร