ทำไมพ่อแม่ ถึงต้องเล่นกับลูก และเล่นอย่างไรให้เป็นประโยชน์เสริมพัฒนาการ
“พ่อแม่ ผู้ปกครอง” ถือเป็นเพื่อนคนแรกของลูก ซึ่งการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และการเล่น ล้วนเป็นบทบาทหน้าที่ที่พ่อแม่ โดยเฉพาะการเล่นกับลูกมีประโยชน์ และข้อดีมากมาย
จากงานวิจัยของกรมอนามัยและสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศไทย (IHPP) เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการเด็กปฐมวัยกับการมีปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเล่านิทาน การร้องเพลง การเล่นร่วมกัน และการพาเด็กไปเล่นนอกบ้าน กับพ่อแม่และผู้ดูแล ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย
เด็กไทยมีปฎิสัมพันธ์ร่วมกับพ่อน้อยสุด แม่มากสุด
จากการสัมภาษณ์พ่อแม่หรือผู้ปกครอง เด็กปฐมวัย อายุ 3 ถึง 4 ปี จำนวน 5,787 คน ใน 17 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า การที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรรมต่าง ๆ ร่วมกับพ่อ จะส่งผลต่อการมีพัฒนาการสมวัยทั้งสี่ด้าน (ด้านสติปัญญา-ภาษา ร่างกาย สังคม-อารมณ์ และการเรียนรู้) สูงที่สุด โดยเฉพาะด้านสติปัญญา-ภาษา
นอกจากนั้น เด็กไทยยังมีปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรรมดังกล่าวร่วมกับพ่อ แม่ และผู้ดูแลน้อย
โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมร่วมกับพ่อมีน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 31
ปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมร่วมกับกับคนอื่นในครอบครัว มีร้อยละ 53
ปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมร่วมกับแม่มากที่สุด ถึงร้อยละ 58
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
5 เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้ การลงทุนกับลูก อย่างไร?ให้ประสบความสำเร็จ
เทคนิคเลี้ยงลูกยุคใหม่ เชื่อลูกอย่างไร? ให้ลูกเชื่อคุณ
หมอเด็กเผย 5 วิธี 'เลี้ยงลูก' ช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้ดีที่สุด
"เล่นกับลูก" ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
การที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้ใหญ่ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ หรือผู้ดูแล ส่งผลต่อพัฒนาการสมวัยที่ดีเมื่อเทียบกับการที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมกับผู้ใหญ่
การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เพราะเด็กที่มีพัฒนาการสมวัย จะมีเชาวน์ปัญญาดี และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ
ดังนั้น พ่อแม่ หรือผู้ดูแลจึงควรให้ความสำคัญในการใช้เวลากับเด็ก ผ่านการเล่นกับลูกให้มากขึ้น รวมทั้งการอ่านหนังสือ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน อันจะช่วยกระตุ้นสมองให้เกิดวงจรการเรียนรู้ เพิ่มหน่วยความจำ ส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์รวมถึงเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา กรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้นำแนวทางการเสริมพัฒนาการเด็กสำหรับครอบครัว ตามแนวคิด 3 F ได้แก่
F : Family เล่นกับครอบครัว เพื่อน พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ที่มีทักษะและสร้างแรงจูงใจในการเล่น
F : Free เปิดโอกาสให้เด็กเล่นอิสระตามความต้องการที่อยากจะเล่น โดยมีมุมเล่น ลานเล่น สนามเด็กเล่น ที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน ให้เด็กเล่นที่ไหนก็ได้ โดยดูแลเรื่องความปลอดภัย
F : Fun เล่นให้สุข สนุก มีกิจกรรมหรือสื่อของเล่นหลากหลาย หาง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นไปตามวัย และเน้นธรรมชาติ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
พ่อแม่คือของเล่นมีชีวิตแก่ลูก
พ่อแม่คือของเล่นที่มีตัวตน มีชีวิตจิตใจ และสามารถกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้รอบด้าน ทั้งฝึกสมาธิ ฝึกสมอง ฝึกไอคิว และยังทำให้ลูกอารมณ์ดีมีความสุข รู้สึกอบอุ่นใจคลายกังวล รวมถึงเล่นตามความสนใจของลูกได้ตลอดเวลา
การเล่นกับลูก เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างมาก และมีงานวิจัยมากมายยืนยันได้ว่า การเล่นนั้นจำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กทั้งด้านสติปัญญา ร่างกาย จิตใจ สังคม และอารมณ์ การเล่นทำให้เด็กได้ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ การเล่นช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองโดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ ของชีวิตที่เด็กกำลังทำความรู้จักกับโลกรอบตัว
การเล่นช่วยให้เด็กได้ประสบการณ์และสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตั้งแต่พ่อแม่ เด็กวัยเดียวกัน เด็กรุ่นพี่ ไปจนถึงการรับมือกับคนแปลกหน้า การเล่นช่วยให้เด็กค้นพบความสามารถของตัวเองซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความมั่นคงภายในตัวเอง
รวมทั้ง ทำให้เด็กได้ฝึกทักษะการตัดสินใจ การวางแผน การค้นพบสิ่งที่สนใจ และมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ตนสนใจ การเล่นช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาและการสื่อสาร และเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ต่อไป
ข้อดีของการที่พ่อแม่ชวนลูกเล่น
- ได้สังเกตตรวจเช็คพัฒนาการของลูก ว่าด้านใดช้าไปหรือไม่ หากพบสิ่งปกติจะได้พบแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาทันเวลา
- พัฒนาทักษะทางภาษาและการสื่อสาร ผ่านการพูดคุยระหว่างเล่นกับพ่อแม่ ได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ และการใช้ประโยคสนทนาต่างๆ จากคำพูดของพ่อแม่
- ค้นพบความถนัดและความสามารถพิเศษของลูก ผ่านการเล่นแบบต่างๆ ทำให้สามารถสนับสนุนต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นไป หรือช่วยเติมสิ่งที่ยังขาดให้สมบูรณ์
- ช่วยกระตุ้นต่อยอดความคิดของลูก ผ่านการตั้งคำถาม ชวนลูกคิดหาคำตอบ ชวนกันคิดวิเคราะห์ ท้าทายความคิดด้วยวิถีการใหม่ๆ และสามารถถกเถียงด้วยเหตุผลเพื่อหาทางออก
- เรียนรู้ทักษะทางสังคมและบทบาทต่างๆ จากการเล่นกับผู้อื่น ซึ่งเริ่มจากพ่อแม่ ทั้งการเล่นร่วมกัน ตามกติกา การอดทน รอคอย โดยมีพ่อแม่คอยเสริมสร้างความมั่นใจ ให้กำลังใจและให้คำแนะนำ
- สร้างความรักความเข้าใจภายในครอบครัว เพราะการใช้เวลาคุณภาพกับลูกจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์และความผูกพันที่จะแนบแน่นเป็นความอบอุ่นอยู่ในใจลูกไปอีกยาวนาน
- สร้างพัฒนาการที่ดีรอบด้านให้กับลูก เพราะสมองของลูกเปรียบเสมือนฟองน้ำที่คอยดูดซับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ไม่เพียงแต่การเล่นกับลูก การพูดคุยก็ทำให้ลูกได้เรียนรู้ถึงวิธีการสื่อสาร ลูกสามารถตอบโต้บทสนทนากับพ่อแม่ได้ ดังนั้นขึ้นอยู่กับพ่อแม่ด้วยว่าจะเลือกให้ลูกได้เรียนรู้อะไร หากต้องการให้ลูกมีความสุข เป็นเด็กที่อารมณ์ดี ก็ควรหากิจกรรมที่ทำให้เขายิ้มและหัวเราะบ่อยๆ มาเล่นอยู่เสมอ
- กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น การที่พ่อแม่มีส่วนร่วมในการเล่นสนุกกับลูก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นของเล่น เล่นเกม เล่นกีฬา หรือแม้แต่การทำกิจกรรมอื่นๆ ก็ล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ลูกมีความกระตือรือร้นและอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ต้องการให้ลูกมีทักษะในด้านใด หรือต้องการส่งเสริมลูกทางด้านใด ก็ควรเล่นกับเขาและหมั่นให้ลูกได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมนั้นๆ
- พ่อแม่มีช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันกับลูก เล่นด้วยกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน หรือแม้แต่การมีช่วงเวลาทานอาหารด้วยกัน ถือเป็นสิ่งพิเศษที่จะทำให้ครอบครัวมีสายใยรักที่แน่นแฟ้นขึ้นได้มาก เพราะการที่ลูกมีโอกาสได้ใช้เวลากับพ่อแม่บ่อยๆ จะทำให้เขาสามารถพูดคุยและปรึกษาเรื่องราวต่างๆ ได้ แม้ว่าลูกจะยังเล็ก แต่การได้ฟังและได้ใช้เวลาอยู่กับเขา ย่อมทำให้เขารู้สึกผูกพันกับพ่อแม่มากยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่า
- การเล่นสนุกกับลูก นอกจากจะได้ความสุขและความสนุกแล้ว พ่อแม่เองก็เกิดความรักต่อกันมากยิ่งขึ้น เพราะช่วงเวลาที่ร่างกายเผชิญกับความสนุกและความสุขอยู่ ต่อมใต้สมองจะเกิดการหลั่งฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ทำให้พ่อแม่เกิดความรักความผูกพันมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญยังเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย
ชวนลูกเล่น เรื่องเล็กๆ ที่ช่วยสร้างลูก
การเล่นกับลูก ง่ายกว่าที่คิด และอาจเป็นสิ่งที่คุณทำอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัวก็ได้ การเล่นที่มีประสิทธิภาพไม่จำเป็นต้องมาจากการซื้อของเล่นดีๆ ราคาแพงๆ อุปกรณ์ใกล้ตัว หรือแม้แต่ร่างกายของพ่อแม่ ก็สามารถเป็นอุปกรณ์การเล่นให้แก่ลูกได้
สำหรับหลักการชวนลูกเล่นมีดังนี้
- ประสาทสัมผัสทั้ง 6 จำให้ดี
เด็กๆ มักจะเกิดการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่แค่จำทั้ง 6 อย่างนี้ไว้ และนำไปประยุกต์ตามสถานการณ์ ใช้สิ่งของรอบตัว และกิจวัตรประจำวันที่ทำร่วมกันอยู่แล้ว
- ร่างกายของพ่อแม่คือของเล่นที่ลูกชอบ
ร่างกายของพ่อแม่กลายเป็นของเล่นชั้นดีที่ส่งเสริมพัฒนาการได้รอบด้าน และประยุกต์เล่นกับลูกได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนแอบ ขี่คอ อุ้ม กอด เล่นเงา ตบแผละ วิ่งไล่จับ วิ่งแข่ง หรือแม้แต่ยามที่เราหมดแรง หมดมุกจะเล่นแล้ว แค่นอนแผ่ให้ลูกปีนป่ายกอดหอมกัน เท่านี้ลูกก็สนุกและเกิดประโยชน์มากมายแล้ว
- ใช้สิ่งของรอบตัว
ลองเปลี่ยนมาชวนลูกเล่นจากสิ่งของรอบๆ ตัวดูบ้าง ช่วยให้ลูกสนุกและเสริมพัฒนาการได้ไม่แพ้ของเล่นที่ต้องใช้เงินซื้อ แค่ลองชวนลูกวาด ตกแต่ง ปะ ติด ประดิษฐ์งานฝีมือจากของจริงหรือของเหลือใช้ เช่น กล่องกระดาษ ขวดพลาสติก ไม้ไอติม หรือแกนทิชชู่ สามารถแปลงร่างกลายเป็นอะไรได้สารพัด สนุกทั้งตอนลงมือทำและตอนเห็นผลลัพธ์เมื่อทำเสร็จ และยังช่วยให้ลูกมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ และรู้ว่าความสุขอยู่รอบตัวไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อก็ได้
- เล่นกับธรรมชาติและเล่นอย่างอิสระ
การเล่นกับธรรมชาติดีต่อใจและกายของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อย่าปล่อยให้อิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาครอบงำจนลืมสัมผัสของธรรมชาติ ชวนลูกใช้มือปั้นดิน ปั้นทราย เก็บใบไม้แห้ง เรียงก้อนหิน ช่วยฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก สอนเรื่องประสาทสัมผัสต่างๆ ชวนออกมาวิ่งเล่นที่สนามหญ้ากว้าง ทำให้สดชื่นและแจ่มใส แถมคุณพ่อคุณแม่ได้ลดน้ำหนักไปในตัว
อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การเล่นกับลูกยังรวมถึงการปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระเสรี (Free play) โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่ควบคุมหรือกฏเกณฑ์มากำหนด มีความสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กอย่างมาก พ่อแม่เพียงแค่จัดเตรียมพื้นที่ที่ปลอดภัยและแน่ใจว่าไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องคอยจับตาดูทุกฝีก้าว ให้เขาได้เติบโตได้ด้วยตัวเอง
เด็กกับการเล่นเป็นของคู่กัน แต่การเล่นนั้นจะมีคุณค่าและความหมายมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมีพ่อแม่เล่นไปกับลูกด้วย เพราะพ่อแม่คือคนสำคัญที่สุดสำหรับลูก
แหล่งรวมข้อมูลการเล่น ส่งเสริมพัฒนาการลูก
โครงการ “สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก” พ่อแม่สามาระพบกับสื่อและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ผ่านการรับรองจากคุณหมอและหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เน้นความเข้าใจง่าย และนำไปปฏิบัติได้จริง รวมถึงติดตามกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมายได้ที่ Facebook Fanpage: สิ่งเล็กๆที่สร้างลูก อาทิ เว็บไซต์ : www.khunlook.com หรือ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน คุณลูก “KhunLook” เป็นต้น