"โรคอิวารี่"ปอดอักเสบรุนแรง อัดบุหรี่ไฟฟ้าแค่ 3 เดือน ก็ป่วยได้
คนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน มีการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น จากการเข้าใจผิดอย่างมหันต์ว่าปลอดภัย และช่วยให้เลิกบุหรี่มวน แต่ความจริงกลับพบอันตราย "โรคอิวารี่"ปอดอักเสบรุนแรง ที่เกิดขึ้นได้ในเวลาเร็ว แม้จะสูบมาไม่นาน
จากการสำรวจและรายงานขององค์การอนามัยโลก(WHO)เกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนของไทย พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 6-7%เมื่อ 5 ปีก่อน เป็นมากกว่า 10%ในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว เรื่อง “ไทยพบป่วยปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) อีก!! จากบุหรี่ไฟฟ้า หวั่นคนไม่รู้อันตราย” โดยการจัดงานมุ่งหวังให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ที่ได้มีการวิจัยและค้นคว้าหาข้อมูลในด้านอันตรายมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคมวงกว้าง
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คนเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย โดยคิดว่าควัน ไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเพียงละอองน้ำ ไอน้ำมีเพียงสารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม อ้างว่าสูบชนิดที่ไม่มีนิโคติน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
แพทย์เตือนสูบกัญชาร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายถึงชีวิต!
การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้า บุหรี่ไฟฟ้า | กฎหมาย 4.0
บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าชื่อดัง ยอมจ่ายกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท จำนนต่อหลักฐาน
- อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า
ในความเป็นจริง ควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เห็น
-มีฝุ่นขนาดเล็ก PM 1.0 และ PM 2.5
- มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล และอโครลิน
-โลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว ซึ่งที่มาของโลหะหนักอาจจะมาจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์สูบที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา
- สารปรุงแต่งกลิ่นรสที่มีนับพันชนิดที่ถูกความร้อนจนเกิดเป็นไอระเหย
บุหรี่ไฟฟ้า มีผลกระทบต่อสุขภาพคือทำให้มีภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน และโรคอื่นได้
บุคคลที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจึง มีความเสี่ยงที่จะพัฒนาต่อไปเป็นสูบบุหรี่ธรรมดา
-จากการศึกษา พบว่า คิดเป็น 3.3 เท่าของคนไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า
- ในสหรัฐมีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีโอกาสสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือ E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury (EVALI หรืออิวารี่) จนถึงวันที่ 18 ก.พ. 2564 พบผู้ป่วยอิวารี่ที่ต้องนอนโรงพยาบาลทั้งสิ้น 2,807 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 68 ราย
"วัยเยาวชนและวัยผู้ใหญ่วัยทำงานไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ในไทยเคยมีการรายงานพบผู้ป่วยอิวารี่ ประปราย แต่อาจจะไม่ได้ส่งตรวจยืนยันวินิจฉัยทุกราย การพบผู้ป่วยวินิจฉัยยืนยันอิวารีในคราวนี้ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงตอกย้ำถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า และอนาคตแนวโน้มจะพบมากขึ้น"ศ.นพ.วินัยกล่าว
- บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดโรคอิวารี่
พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร หัวหน้าสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รายงานที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร New England Journal of Medicine กรณีศึกษาผู้ป่วยในต่างประเทศจำนวน 53 คนในช่วงเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2019 พบว่า
- ผู้ป่วยส่วนมากอายุเฉลี่ยเพียง 19 ปี และมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสาร THC ประกอบประมาณ 80% แต่มี 20% ที่ไม่ได้ใช้ THC ก็สามารถเกิดอิวารี ได้
- 95% ของผู้ป่วยมีอาการ ไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
- แต่พบว่า 77% ของผู้ป่วยมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ผู้ป่วยทุกคนมีภาพ x-ray และ CT scan ปอดที่ผิดปกติ และถ้าเอาน้ำล้างปอดไปตรวจจะพบ น้ำล้างปอดพบเซลล์เม็ดเลือดขาวกินอนุภาคไขมัน โดยตรวจไม่พบหลักฐานการติดเชื้อ
สาเหตุที่ทำให้เกิดอิวารี ในตอนแรก สมมติฐานว่าเกิดจากสาร propylene glycol, vegetable glycerin (glycerol), สารปรุงแต่งกลิ่น สารสกัดจากน้ำมันกัญชาหลายชนิด เช่น vitamin E acetate และมีสารอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งสารเหล่านี้หลายชนิดไม่มีในบุหรี่มวน โดยสาร vegeteble glycerine เป็นสารที่มีรสหวาน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สกัดจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว เมื่อโดนความร้อนจากอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะระเหยเป็นไอน้ำ และถูกสูบเข้าปอด
การศึกษาต่างประเทศพบว่ามี วิตามิน อี อะซีเตต ในน้ำล้างปอดของผู้ป่วย อิวารี่ถึง 94% ซึ่ง ถูกใส่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าหลาย ๆ ยี่ห้อ อาจจะเป็นไปได้ว่าการสูดสารนี้ที่โดนความร้อนจนระเหย ทำให้เกิดการบาดเจ็บของปอดและทำให้การทำงานของปอดผิดปกติไป
แต่ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในยอดผู้ป่วยที่รายงาน 2,807 รายจนถึงก.พ. 2564
- มีอายุเฉลี่ยเพียง 24 ปี (13-85 ปี)
- ผู้ป่วยที่ปอดอักเสบเฉียบพลันจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 2,022 ราย
- 14% สูบบุหรี่ไฟฟ้าเฉพาะที่มีสารนิโคติน
- 33% สูบบุหรี่ไฟฟ้าเฉพาะที่มีสารกัญชา
53% จึงอาจไม่ใช่วิตามิน อี อะซีเตตในสารกัญชาเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง
- ผู้ป่วยอิวารี่ในไทยมีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้า
นพ.ธนัญชัย เพชรนาค อาจารย์สาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ป่วยอายุระหว่าง 20-30 ปี เดิมมีโรคประจำตัวเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งรักษาและควบคุมอาการได้ดี ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการ เหนื่อย ไอ และมีไข้ โดยเริ่มมีอาการไอ และรู้สึกเหนื่อยง่ายมาประมาณ 1 เดือน อาการเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยเริ่มมีไข้ ไอมากขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น ออกแรงได้ลดลง ทำงานได้ลดลง ต้องนั่งพักบ่อยขึ้น 3 วันก่อนที่จะมาโรงพยาบาลผู้ป่วยเริ่มเหนื่อยมากขึ้น มีอาการเหนื่อยถึงแม้จะไม่ได้ออกแรง ยังมีไข้และไอ มีอาการเหนื่อยมากจึงมาตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
แรกรับผู้ป่วยมีไข้ และหายใจเร็วมาก มีปัญหาเรื่องออกซิเจนในเลือดต่ำมาก ต้องได้รับการรักษาเบื้องต้นด้วยออกซิเจนชนิด high flow เอกซเรย์ปอดพบว่าผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ตอนแรกผู้ป่วยให้การปฏิเสธการสัมผัสสารเคมี การสูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า
ต่อมาทางทีมแพทย์พบว่าผู้ป่วยเคยทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน พบลักษณะความผิดปกติของปอดที่พบในผู้ป่วยสูบบุหรี่ จึงกลับไปซักประวัติเรื่องการสูบบุหรี่ใหม่ ผู้ป่วยจึงให้ประวัติว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอตแบบใช้แล้วทิ้งมาประมาณ 6 เดือน โดยใช้ทุกวัน ซื้อทางกรุ๊ปไลน์ ใช้ประมาณ 2 หลอดต่อสัปดาห์ ไม่ได้สูบบุหรี่ปกติ ไม่ได้ใช้กัญชา หรือสารเสพติดชนิดอื่นร่วมด้วย
ทีมแพทย์จึงได้ทำการส่องกล้องหลอดลมผู้ป่วยและตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยภาวะอิวารี่ โดยพบว่าผลตรวจทางพยาธิวิทยา และผลตรวจทางเซลล์วิทยาเข้าได้กับภาวะอิวารี่ ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ โดยอาการดีขึ้นตามลำดับ และสามารถกลับบ้านได้ ตอนนี้อาการผู้ป่วยกลับสู่ปกติ
" ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีการกระตุ้นให้เกิดโรคเร็วกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา โดยสามาถรพบได้ตั้งแต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3 เดือนขึ้นไป ยิ่งเกิดอาการเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น"
เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการนำเอาสิ่งแปลกปลอมซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบโดยตรง เข้าไปในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้การรักษาหากรักษาเร็วก็สามารถรักษาหาย การทำงานของปอดยังไม่เกิดพังผืดก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้ แต่ในรายที่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ทำการรักษาล่าช้าจนปอดเกิดพังผืดแล้วไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ บางคนถึงขั้นเสียชีวิต และบางคนต้องเป็นผู้ป่วยติดเครื่อง ช่วยหายใจตลอดไม่สามารถถอดได้ เพราะไม่สามารถหายใจได้เอง