"โรคปอดอักเสบ"ในเด็กที่มากับหน้าหนาวอาการอย่างไร
โดยมากเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ 50 ปี ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงจาก“โรคปอดอักเสบ” โรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุ การตายอันดับหนึ่งในเด็ก อายุ 0-4 ปี อัตราป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเตือนให้เฝ้าระวัง “โรคปอดอักเสบ” เป็นพิเศษในช่วงอากาศหนาวเย็นซึ่ง โรคปอดอักเสบในเด็ก เป็น 1 ใน 6 โรคที่พบจำนวนมาก
โดยพบประมาณร้อยละ 2 ของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยพบความชุกประมาณ ร้อยละ 45-50 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มา ด้วยโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง และร้อยละ 7-13 มี อาการปอดอักเสบรุนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเป็นสาเหตุการตายอันกับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่นเดียวกัน
เฝ้าระวัง"โรคปอดอักเสบ" ในเด็ก
วันที่ 12 พฤศจิกายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นวัน "โรคปอดบวมโลก" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญและช่วยกันรณรงค์ลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ โดยมากเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ 50 ปี ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลกเนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงเฉียบพลัน
สำหรับ สถานการณ์ปอดอักเสบ ระดับโลกแต่ละปีมีคนป่วยปอดอักเสบประมาณ 400 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิตปีละ 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอายุต่ำกว่า 15 ปี อีกครึ่งเกิน 15 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ป้องกันก่อนเป็นโรค "ปอดอักเสบ" อย่าปล่อยให้รุนแรง อันตรายทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่
สร้างเกราะคุ้มกัน..ด้วยการฉีด "วัคซีนไข้หวัดใหญ่" และ "โรคปอดอักเสบ"
อาการไอแบบไหน ป่วยเป็น"โควิด" :ไอแห้งๆ ไอมีเสมหะ ไอเสียงก้อง
หมอมนูญ เตือน คนสูงอายุ ติดเชื้อโควิด-19 เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนอายุน้อย
เช็กสาเหตุโรคปอดอักเสบในเด็ก
ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม หรือ นิวโมเนีย เป็นภาวะที่มีการอักเสบในบริการเนื้อปอด บริเวณหลอดลมฝอยส่วนปลาย ถุงลมและเนื้อเยื่อรอบๆ ถุงลม อันเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน
- สาเหตุของโรคปอดอักเสบในเด็ก เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ
1.ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การแพ้หรือการระคายเคืองจากสารที่สูดดมเข้าไป การสำลักอาหาร เป็นต้น
2.ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ส่วนเชื้อราและพยาธิพบได้น้อยเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็กได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae), Gr.A Streptococcus, เชื้อฮิบ (Haemophilus influenzae type B) หรือเชื้อไมโครพลาสม่า (Mycoplasma pneumoniae) ส่วนเชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะ ได้แก่ RSV, ไข้หวัดใหญ่ และ hmpv เป็นต้น
เด็กกลุ่มใดเสี่ยงปอดอักเสบ?
เด็กที่เสี่ยงโรคปอดอักเสบ ได้แก่
- ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย
- เด็กตั้งแต่แรกคลอด - 5 ปี
- เด็กมีความพิการทางสมอง มีภูมิคุ้มกันต่ำ
- เด็กไม่ได้กินนมแม่ ไม่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนด
- มีภาวะทุพโภชนาการ
- เด็กที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด หรืออยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่ได้มาตรฐาน
- เด็กที่ได้รับควันบุหรี่จากบุคคลรอบข้าง
โรคปอดอักเสบในเด็ก สามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น
- หายใจเอาเชื้อเข้าปอดจากคนที่ไอ หรือจามใกล้กันแล้วไม่ได้ปิดปากโดยฉพาะเมื่ออยู่ในที่แออัด
- การสำลักเอาสารเคมีหรือเศษอาหารเข้าไปในปอด
- การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด จากที่มีการติดเชื้อที่บริเวณอื่นก่อนแล้วแพร่กระจายมาสู่ปอด เป็นต้น
สังเกตอาการ โรคปอดอักเสบ
เมื่อเป็นโรคปอดอักเสบอาการจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค อาการส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นทันที ได้แก่
มีไข้ ไอมีเสมหะ อาจพบหายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบาก มีปีกจมูกบาน ขณะหายใจมีชายโครง หรือหน้าอกบุ๋ม ปากเขียว หายใจดัง
บางรายอาจมีอาการร้องกวน งอแงกว่าปกติ กระสับกระส่าย
ในเด็กเล็กอาการส่วนใหญ่จะไม่มีลักษณะเฉพาะ อาจมีไข้ หรือไม่มีไข้ก็ได้ ไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ อาจมีอาการซึม หรืออาเจียน ร้องกวนกว่าปกติ
ในเด็กโตอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าออกลึก ๆ ร่วมด้วย
โรคปอดบวมมักมีอาการเกิดขึ้นแบบฉับพลัน อาการแสดง จะขึ้นกับอายุและเชื้อที่ได้รับเป็นสำคัญ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคปอดอักเสบ
ปัจจัยภายใน
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากภาวะทุพโภชนาการ หริอขาดสารอาหาร โดยเฉพาะในทารกที่ไม่ได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ
- ภาวะเจ็บป่วยทีมีอยู่ก่อน เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคเรื้อรังอื่นๆ ติดเชื้อ HIV ภาวะคลอดก่อนกำหนด
ปัจจัยภายนอก
- ชุมชนแออัด
- มีฝุ่นละอองในอากาศ
- ควันบุหรี่
- ควันไฟ
- การดูแลสุขอนามัยแก่เด็ก
- กิจกรรมที่เด็กทำ
การวินิจฉัยโรคเป็นอย่างไร?
เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การเอ็กซเรย์ปอด รวมทั้งอาจจะใช้วิธีการการตรวจหาเชื้อก่อโรค ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเชื้อจากเสมหะ การตรวจแอนติเจนเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อในเสมหะหรือโพรงจมูก ตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดีของร่างกายต่อเชื้อ
แนวทางการรักษาโรคปอดอักเสบ
แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค โดยแบ่งการรักษาเป็น 2 ส่วนคือ
- การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง
ให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส จะไม่มียารักษาจำเพาะ ยกเว้น ไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านเชื้อไวรัส ส่วนไวรัสชนิดอื่นๆ จะให้การรักษาตามอาการ
- การรักษาแบบประคับประคอง
- แนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอ ในรายที่มีอาการรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ แพทย์พิจารณาให้สารน้ำทางเส้นเลือด
- ให้ออกซิเจนในรายที่มีหายใจเหนื่อย เขียว อกบุ๋ม การซับกระซ่าย ซึม หากกรณีที่มีระบบการหายใจล้มเหลวอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย
- ให้ยาขยายหลอดลม ในรายที่มีภาวะหลอดลมตีบ
- การกายภาพบำบัดปอดเพื่อให้ขับเสมหะได้สะดวกและไม่อุดตั
- รักษาภาวะอื่นๆ ตามอาการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ
เลี้ยงลูกให้ห่างไกล “ปอดอักเสบ”
- ควรดูแลสุขภาพลูกน้อยให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- ให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- อย่าลืมปลูกฝังสุขอนามัยที่ดี เช่น การล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด แยกของใช้กับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการรับเชื้อ หรือการอยู่ในสถานที่แออัด
- คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กๆ ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนที่ป้องกันเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ อาทิ วัคซีนป้องการเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Influenza Type B (Hib vaccine), วัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae (Invasive Pneumococcal Disease vaccine; IPD vaccine), โรคไข้หวัดใหญ่(Influenza vaccine)
การป้องกันโรคปอดอักเสบ
- หลีกเลี่ยงนำเด็กเข้าไปในบริเสณสถานที่ที่คนแออัด
- จัดสิ่งแวลด้อมให้สะอาดอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงฝุ่นและควัน เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ อยู่ใกล้ชิดกับผู้กำลังมีอาการหวัด หรือไอ
- ให้โภชนาการที่เพียงพอแก่เด็ก โดยเริ่มจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต
- แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป
- วัคซีน PCV ป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอสคัส (และยังป้องกันโรคIPD ด้วย)
- วัคซีนไอกรน และฮิบ
- วัคซีนหัด
- วัคซีนโควิด-19
อ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท