“ท้องผูก”ทางแก้ที่ถูกต้อง เมื่อ“ดีท็อกซ์”ทำลายระบบขับถ่าย
“ท้องผูก”เป็นปัญหาระบบทางเดินอาหารที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญ บางคนจึงเลือกทำ “ดีท็อกซ์” เพื่อแก้ไข โดยทั่วไปไม่แนะนำ เป็นการทำลายระบบขับถ่าย อาจเกิดอันตรายร้ายแรง ส่วนแนวทางแก้ปัญหาถูกทางที่นี่มีคำตอบ
ประชากรชาวไทยและทั่วโลกเป็นโรคด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของ ระบบทางเดินอาหาร ในแต่ละโรค อัตราที่สูงประมาณ 15-25 % ของประชากร
ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในส่วนของการรับบริการที่คลินิกผู้ป่วย พบว่า 1 ใน3 หรือราว 30 % เป็น โรคทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ โรคเหล่านี้มีตั้งแต่
- กลืนลำบาก
- เจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
- กรดไหลย้อน
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดท้อง
- แน่นท้อง
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- กลั้นอุจจาระไม่ได้
- ถ่ายอุจจาระไม่สุด เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สาเหตุท้องผูก
ในส่วนของ “ท้องผูก” ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึง สาเหตุท้องผูก
- โรคทางร่างกาย เช่น
- ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย
- โรคเบาหวานที่เป็นมานาน
- โรคพาร์กินสัน
- โรคที่ทำให้ลำไส้ตีบตัน
- ยาที่รับประทานประจำ เช่น
- ยาแก้ปวด
- ยาแก้หวัดคัดจมูก
- ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก
- ชา กาแฟ ชาเขียว ซึ่งมีสารคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบก็อาจเป็นสาเหตุได้
- การทำงานของลำไส้ผิดปกติหรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายทำงานผิดปกติ
อาการที่เรียกว่าท้องผูก
อาการที่เรียกว่าท้องผูก ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีความแตกต่างกัน
- อุจจาระแข็ง
- ถ่ายลำบาก
- เบ่งยาก
- เบ่งไม่ออก
- ออกไม่สุด
แต่สิ่งที่มักจะเข้าใจผิดว่า “ท้องผูก” จนไปใช้ยาระบาย คือ การไม่ถ่ายทุกวันหรือถ่ายอุจจาระปริมาณน้อย ความจริงแล้ว
“การไม่ถ่ายอุจจาระทุกวัน อาจไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติตราบใดที่อุจจาระยังออกง่าย ไม่เป็นก้อนแข็ง หรือไม่มีอาการอึดอัดปวดท้อง ซึ่งการถ่ายวันละ 3 ครั้งหรือสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ยังถือเป็นการถ่ายที่จัดว่าปกติได้”
อาการท้องผูกที่ต้องพบแพทย์
- มีอาการซีดจากขาดธาตุเหล็ก
- ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดน้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี
- มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ท้องผูกจนมีอาการปวดท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องผูกรบกวนมาก รับประทานยาระบาดแล้วไม่ได้ผล
แนวทางแก้ไขท้องผูก
- การถ่ายให้เป็นเวลา ควรมีเวลาพอเหมาะที่จะถ่ายได้โดยไม่เร่งรีบ
- การรับประทานอาหาร ที่มีกากมากขึ้นอาจได้ผลในผู้ที่ท้องผูกไม่รุนแรง แต่ต้องควบคู่กับการดื่มน้ำที่เพียงพอ
- การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อท้อง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงจะช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น
- การใช้ยาระบายมีทั้งชนิดรับประทาน และชนิดสวน แต่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำแพทย์
- การฝึกขับถ่าย
ดีท็อกซ์ทำลายระบบขับถ่าย
ในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่นิยมไปทำ “ดีท็อกซ์” หรือการสวนล้างลำไส้ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาท้องผูกและความเชื่อว่าเป็นการทำความสะอาดลำไส้
แต่โดยทั่วไป เป็นสิ่งที่ไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากประโยชน์ไม่ชัดเจน แต่อาจมีอันตรายร้ายแรง
- จากปริมาณน้ำที่เข้าในลำไส้ที่มากหรือเร็วเกินไป
- จากการดูดซึมน้ำหรือกาแฟผ่านเข้าผนังลำไส้
- จากน้ำที่ร้อนทำให้เกิดแผลในลำไส้ ลำไส้ทะลุถึงแก่ชีวิตได้
ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดีท็อกซ์ไม่ใช่การแก้ปัญหาท้องผูกที่ตรงสาเหตุ ซึ่งปริมาณอุจจาระในลำไส้จะมีประมาณ 200 ซีซีต่อวัน แต่การทำดีท็อกซ์เป็นการใส่อะไรเข้าไปในลำไส้ประมาณ 1-2 ลิตรต่อครั้ง
เมื่อทำดีท็อกซ์บ่อยๆจนร่างกายคุ้นชินกับการมีปริมาณสารที่ 1-2 ลิตรจึงจะถ่าย เมื่อมีอุจจาระในปริมาณปกติคือ 200 ซีซี จะทำให้ไม่อยากถ่าย
การดีท็อกซ์จึงมีผลเสียต่อระบบขับถ่ายในระยะยาว โอกาสที่จะถ่ายได้เองน้อยลง
ที่จุฬาฯกำลังจะศึกษาว่าหากมีการหยุดทำดีท็อกซ์ไปสัก 3-6 เดือน จะทำให้ระบบขับถ่ายกลับมาเป็นปกติได้หรือไม่
การฝึกเบ่งอุจจาระแก้ท้องผูก
ข้อมูลจากรพ.จุฬาฯ พบว่า ผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังประมาณ 1 ใน 3 ที่ไม่พบสาเหตุอื่นที่แน่ชัดนั้น มีสาเหตุมาจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายได้อย่างเหมาะสม หรือ มีการเบ่งอุจจาระที่ไม่ถูกวิธี
ศ.นพ.สุเทพ กล่าวว่า ผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรัง ที่ไม่ตอบสนองต่อยาระบายโดยผู้ป่วยมีความถี่ในการถ่ายอุจจาระน้อย ไม่ปวดถ่าย ท้องอืด มีประวัติอุจจาระค้างในลำไส้ และใช้ยาระบายหลายชนิด แต่อาการไม่ดีขึ้น
เมื่อมีการตรวจการทำงานของ กล้ามเนื้อหูรุดทวารหนัก และตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ พบสาเหตุเป็นจาก
- กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักทำงานผิดปกติ 29 %
- ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวช้า 13 %
- ความผิดปกติทั้ง 2 ประเภท 11%
โดยผู้ที่หูรูดทวารหนักทำงานผิดปกติ อาจจะหดเกร็ง หรือไม่คลายตัวในขณะเบ่ง ซึ่งผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังที่ไม่พบสาเหตุอื่นที่แน่ชัด
ดังนั้น การสอนให้ผู้ป่วยรู้จัก เทคนิคการถ่ายที่ถูกวิธี ด้วยการฝึกเบ่ง โดยใช้เครื่องมือที่แสดงถึงการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย จะทำให้อาการท้องผูกดีขึ้นประมาณ 60-70 %
โดยทั่วไปการฝึกเบ่งแต่ละครั้งจะใช้เวลา 45 นาที-1ชั่วโมง โดยที่ศูนย์ฯจุฬาฯจะนัดมาทุก 1-2 สัปดาห์รวม 4-6 ครั้ง