"ดูบอลโลก" ต้องรู้! ความเครียด และ "สุขภาพหัวใจ" เกี่ยวแค่ไหนกับการชมกีฬา?
ความเครียด กังวล หัวใจวาย และอีกสารพัดคำเตือนที่มาพร้อมกับการดูกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลโลก 2022 ที่หลายหน่วยงานแนะข้อควรระวัง สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกันอย่างไร
อยู่กับบ้าน ทานอาหาร รับชมกีฬา ดูจะเป็นกิจกรรมง่ายๆ ไม่มีพิษภัยอันใด แต่ถึงเช่นนั้นทำไมหน่วยงานสาธารณสุขหลายแห่งกลับมีคำเตือนให้ผู้ชมกีฬาต้องควรระวัง โดยเฉพาะในช่วง มหกรรมฟุตบอลโลก ที่มีการแข่งขันต่อเนื่อง คืนหนึ่งแข่งขันกัน 2-3 คู่
ความเครียดกับการดูฟุตบอลเชื่อมโยงกันอย่างไร? เคยมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ซึ่งระบุว่า แฟนบอลที่อินกับทีมมากๆ มีความเสี่ยงสูงที่ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งส่งผลกับระดับความเครียดจะเพิ่มสูงขึ้นจนนำไปสู่ ภาวะหัวใจวาย
ทีมวิจัยชุดนี้ได้ทดลองวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจากน้ำลายของแฟนบอลทีมชาติบราซิลทั้งก่อน-ระหว่าง และหลังการแข่งขันฟุตบอลโลกที่บราซิลในปี 2014 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ตรวจในน้ำลายแต่ละนัดมีระดับไม่เท่ากัน โดยนัดที่ส่งผลถึงระดับฮอร์โมนมากที่สุดคือ นัดที่บราซิลพ่ายให้กับเยอรมนี 7-1 ในรอบรองชนะเลิศ
“แฟน ๆ ที่เป็นหนึ่งเดียวกับทีม จะมีการตอบสนองความเครียดทางร่างกายเมื่อดูการแข่งขัน สิ่งนี้อาจเป็นอันตราย เพิ่มความดันโลหิตและความเครียด และนอกจากนี้ยังพบว่า ไม่มีความแตกต่างของระดับความเครียดระหว่างชายและหญิงในระหว่างการแข่งขัน แม้ว่าผู้ชายจะมี ความผูกพันกับทีมฟุตบอลมากกว่า” ส่วนหนึ่งของงานวิจัยระบุ
“คอร์ติซอล” เป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อระบบเผาผลาญในร่างกาย ควบคุมวงจรการนอนและตื่น บรรเทาอาการอักเสบในร่างกาย ปรับสมดุลให้ระดับความดันโลหิต โดยสมองและอารมณ์จะส่งผลต่อระดับคอร์ติซอล และระดับของฮอร์โมนดังกล่าวนี้เมื่อไม่ปกติแล้วก็จะส่งผลต่อร่างกายให้เกิดความผิดปกติตามไปด้วย เช่น หากมีระดับต่ำเกินไปก็จะทำให้อ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา น้ำหนักลด แต่ถ้าสูงเกินไปก็จะทำให้หลอดเลือดตีบตัน ความดันโลหิตสูง
เอกสารเกร็ดความรู้ด้านการแพทย์ “การชมกีฬากับความเครียด” โดยนิสิตแพทย์ คณะแพทยศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายตอนหนึ่งว่า ความเครียดจากการดูกีฬาแบ่งได้ 2 ระดับ คือ 1. มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจยากขึ้น แต่สามารถเฝ้าระวังเพื่อรอไปโรงพยาบาลได้ กับ 2. อาการรุนแรงอาจถึงขั้นหัวใจวายและเส้นเลือดอุดตัน ซึ่งต้องพบแพทย์เป็นการด่วน
สาเหตุจากความเครียดในระหว่างชมกีฬา มีการรวบรวมว่า มาจากความต้องการให้ทีมรักชนะ กลัวทีมรักแพ้ ระบบการแข่งขันที่บีบผู้ชม เช่น การยิงลูกโทษตัดสิน การอดหลับอดนอน พักผ่อนน้อยเพื่อเชียร์ทีมที่ตัวเองชอบ ทั้งนี้ยังรวมถึงการพนัน โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ 1.กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน 2.กลุ่มที่ไม่รู้ตัวเองเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน โดยเฉพาะคนอายุ 40 ขึ้นไป ที่ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และอดนอน 3.กลุ่มที่เล่นการพนันอย่างหนัก และลุ้นผลบอลมากเกินไป อาจทำให้หัวใจขาดเลือดได้จากการตื่นเต้น
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่อง คือการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผู้ดูกีฬาบางรายมักนิยมดื่มขณะดูบอล โดยที่ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจเปลี่ยนแปลงผิดปกติ และเหตุผลทั้งหมดนี้จึงอธิบายว่า การออกมาเตือนเรื่องความเครียดและสุขภาพหัวใจในช่วงฟุตบอลโลก ไม่ใช่เรื่องเกินจริง
ถึงตรงนี้ในช่วงฟุตบอลโลก ต้องอย่าลืมว่า การเชียร์กีฬาไม่ต่างอะไรกับการออกกำลังกาย เพราะการเชียร์ทำให้รู้สึกตื่นเต้นจนหัวใจทำงานหนัก ขืนฝืนเชียร์ต่อไปเรื่อยๆ อาจหัวใจล้มเหลวโดยไม่รู้ตัว เหตุนี้การเชียร์กีฬาอย่างปลอดภัยคือการกำหนดเวลาชมกีฬาและเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม อย่าให้กระทบสุขภาพ การเรียน และการงาน
การควบคุมอารมณ์ คิดเผื่อใจเอาไว้บ้างว่าผลการแข่งขันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด และหากร่างกายไม่ไหวอย่าฝืน ถ้าตื่นเต้นมากๆ จนใจสั่นก็ควรหยุดเชียร์ ดีกว่าเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
ที่มา : BBC, เอกสารเกร็ดความรู้ด้านการแพทย์ “การชมกีฬากับความเครียด”, ทำความรู้จักกับคอร์ติซอล ฮอร์โมนสำคัญของร่างกาย