"หมอธีระ" เผยอาการหลังติด "โควิด-19" พบสมองส่วนหน้า-ก้านสมอง ผิดปกติ
"หมอธีระ" เผยผลวิจัยอาการหลังติด "โควิด-19" พบสมองส่วนหน้า-ก้านสมอง ผิดปกติ ส่งผลต่อทุกระบบในร่างกาย และเกิดความเสี่ยงของภาวะผิดปกติระยะยาว รวมถึงโรคเรื้อรังได้
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า
เมื่อวาน โควิด-19ทั่วโลก ติดเพิ่ม 165,881 คน ตายเพิ่ม 669 คน รวมแล้วติดไป 643,292,587 คน เสียชีวิตรวม 6,626,956 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ
- ญี่ปุ่น
- ฝรั่งเศส
- เกาหลีใต้
- ไต้หวัน
- ฮ่องกง
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.22 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 74.43
อัปเดตโควิด-19 กับการเปลี่ยนแปลงของสมอง
Mishra SS และคณะ จาก the Indian Institute of Technology ประเทศอินเดีย กำลังจะไปนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุม Radiological Society of North America ในสัปดาห์หน้า ที่ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นการศึกษาในกลุ่มคนที่หายจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 46 คน และกลุ่มคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 30 คน โดยทำการเปรียบเทียบลักษณะของผลการสแกนสมองด้วย MRI ภายในช่วง 6 เดือนหลังจากหายป่วย
ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะ MRI สมองของกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนนั้น มีความผิดปกติบริเวณสมองส่วนหน้า และก้านสมอง แตกต่างจากกลุ่มคนที่ไม่เคยติดเชื้อ
ทั้งนี้คณะผู้วิจัยประเมินว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมองนั้นอาจสัมพันธ์กับอาการต่างๆ ของ Long COVID ที่พบได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาด้านความคิดความจำ ปวดหัว นอนไม่หลับ กังวล/ซึมเศร้า เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูผลการวิจัยฉบับเต็ม เพื่อให้เห็นรายละเอียดมากขึ้น และต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ของการติดเชื้อ เงื่อนเวลา การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสมอง และอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาวะ Long COVID ด้วย
สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้คือ งานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ชี้ให้เราเห็นผลกระทบจากการติดเชื้อว่า ไม่ได้จบชิลๆ เหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ส่งผลต่อทุกระบบในร่างกาย และเกิดความเสี่ยงของภาวะผิดปกติระยะยาว รวมถึงโรคเรื้อรังได้ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำย่อมดีที่สุด
การระบาดของไทย
- ต้องไม่สับสนไปกับตัวเลขที่รายงานประจำสัปดาห์
- ตัวเลขที่รายงานนั้น เป็นจำนวนคนที่ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่จำนวนติดเชื้อที่เกิดขึ้นจริงย่อมมากกว่านั้น ดังที่เราสังเกตได้จากการติดเชื้อของคนรอบตัวที่เพิ่มขึ้นมาก
ในขณะเดียวกัน จำนวนการเสียชีวิตที่รายงาน ก็ไม่ได้รวมคนที่ติดเชื้อแต่มีโรคอื่นร่วมด้วย ดังที่เคยชี้ให้เห็นว่าต่างประเทศ (เช่น สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร) ก็มีการวิเคราะห์ชัดเจนแล้วว่ามีคนจำนวนอีกไม่น้อยที่เสียชีวิตโดยติดเชื้อโควิด และมีโรคอื่นร่วม และมีความเป็นไปได้สูงที่การติดเชื้อจะทำให้โรคอื่นที่มีอยู่นั้นรุนแรงและเสียชีวิตได้
ซึ่งสุดท้ายแล้วตัวเลขเสียชีวิตจริงนั้น จำนวนมากก็จะปรากฏในส่วนของตัวเลขการเสียชีวิตส่วนเกิน (excess mortality) แต่ไม่ได้รับการนำเสนอให้เห็นรายละเอียดควบคู่ไปกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อาจทำให้การรับรู้ หรือความตระหนักของประชาชนนั้นเบี่ยงเบนไป และทำให้พฤติกรรมระแวดระวัง ป้องกันตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
รายงานทางการจาก กระทรวงสาธารณสุข สัปดาห์ที่ผ่านมา (13-19 พ.ย.2565) จำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 3,957 ราย ตาย 69 ราย ทั้งจำนวนที่ป่วยนอนโรงพยาบาล และจำนวนเสียชีวิตที่รายงานนั้นสูงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างชัดเจน
คาดประมาณว่าจำนวนคนติดเชื้อต่อวันราว 18,843 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 24.97%
ขอให้ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ทั้งระหว่างทำงาน เรียน ท่องเที่ยว และใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน การไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนดนั้นมีความจำเป็น การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. MRI Reveals Significant Brain Abnormalities Post-COVID. Radiological Society of North America. 21 November 2022.
2. Neurosciencenews.com, 21 November 2022.