แค่อ่อนไหวง่าย ไม่ได้อ่อนแอ รู้จัก "บุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง" หรือ HSP
เปิดเหตุผลเชิงจิตวิทยาว่า การที่บางคนร้องไห้ง่ายกับเรื่องเล็กๆ นั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาอ่อนแอ แค่มีบุคลิกภาพแบบ HSP คือมีความละเอียดอ่อนสูง จึงอ่อนไหวง่ายกว่าคนทั่วไป
ดูซีรีส์ ฟังเพลง หรือเจอเรื่องกระทบจิตใจเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้บางคนสามารถร้องไห้ออกมาได้ง่ายๆ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าพวกเขาเป็นคนอ่อนแอ หรือบางคนอาจดูไม่ค่อยเข้าสังคม ไม่อยากคุยกับใคร ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นมิตร แต่เป็นเพราะพฤติกรรมเหล่านี้สอดคล้องกับ “บุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง” หรือ HSP ซึ่งย่อมาจาก Highly Sensitive Person โดยมีคำอธิบายถึงลักษณะเหล่านี้ในเชิงจิตวิทยาที่คนรอบข้างควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
ผู้ที่มีบุกคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง (HSP) จะมีความอ่อนไหวต่อสิ่งรอบตัวมากเป็นพิเศษ ทั้งในด้านของประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งแสง สี เสียง และกลิ่น การรับชมหรือประสบกับเหตุการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์ เช่น หนังดราม่า เพลงเศร้า ข่าวสะเทือนใจ หรือสื่อที่มีเนื้อหารุนแรง ส่งผลให้มีลักษณะนิสัยที่ร้องไห้ง่าย หรือวิตกกังวลง่ายในสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทำให้แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ไม่ดีตามไปด้วย
ซึ่งคนที่มีบุคลิกภาพแบบ HSP มีจำนวนร้อยละ 15-20 จากจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ด้วยความพิเศษนี้ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะมีความคิดสร้างสรรค์สูง คิดลึกซึ้ง และรับรู้เข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นได้ดีมากเป็นพิเศษ
- ทำไมบางคนถึงมีบุคลิกภาพแบบ HSP?
บุคลิกภาพแบบ HSP มีพื้นฐานมาจากพันธุกรรม จากการศึกษาในระดับยีนส์พบว่า HSP มีรหัสพันธุกรรมที่ทำให้เกิดแนวโน้มที่จะมีความไวต่อการประมวลผลข้อมูล (Sensory Processing Sensitivity) ที่ลึกซึ้งกว่าคนอื่น เรียกง่ายๆ ว่า มีสาเหตุมาจากเซลล์ประสาทส่วนการรับรู้มีความตื่นตัวมากกว่าคนอื่น ทำให้มีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมแตกต่างออกไป แต่ไม่ใช่ความผิดพลาด และไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม แต่เป็นการจัดสรรจากกระบวนการวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์
- ลักษณะบุคลิกภาพแบบ HSP ที่เห็นได้ชัด
1. มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากเป็นพิเศษ
2. มีห้วงอารมณ์ที่อ่อนไหว หลากหลายอารมณ์ผสมกัน เช่น ความรู้สึกซาบซึ้ง ดีใจ หรือความรู้สึกด้านลบ ความรู้สึกผิด อับอาย กลัว หรือเจ็บปวด
3. ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น แม้จะพยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นแล้ว แต่ก็ยังไม่มั่นใจ ทำให้กดดันตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังมีบางคนไม่เข้าใจคนที่มีบุคลิกภาพประเภทนี้ ทำให้ยังไม่เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน
4. ปัญหาด้านสุขภาพ เพราะกังวลและคิดมากเกินไป ส่งผลให้บางคนป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น การนอนไม่หลับ โรค IBS (ลำไส้แปรปรวน)
- เมื่อรู้ตัวว่าเป็น HSP ควรรับมืออย่างไร
- พยายามไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ด้วยการยอมรับตัวตนของตนเองทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี
- พัฒนาความเห็นอกเห็นใจให้ตัวเอง หลังจากส่วนใหญ่จะเห็นใจผู้อื่นมากเป็นพิเศษ แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับตนเองด้วย
- วางขอบเขตให้กับตัวเอง โดยเริ่มลดขอบเขตอารมณ์ลงด้วยการแสดงความรักต่อตนเองให้ได้ หลังจากนั้นก็จะมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวของผู้อื่นน้อยลง หลังจากนั้นจึงพยายามไม่ปล่อยให้ความคิด หรือการกระทำของคนอื่นมามีอิทธิพลต่อตนเองมากเกินไป
แม้ว่าบุคลิกแบบละเอียดอ่อนสูง หรือ HSP อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับผู้อื่นในสังคมมากขึ้นได้ แต่คนในสังคมและคนรอบข้างนั้นก็ควรทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า แท้จริงแล้วกลุ่มคนลักษณะนี้ไม่ได้อ่อนแออย่างที่หลายคนเข้าใจ รวมถึงไม่ใช่โรคทางจิตเวชด้วย
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลมนารมณ์, คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Psychology Today