Perfectionist ทุกอย่างในชีวิตต้องไม่ผิดพลาด แต่อาจทำใจพังไม่รู้ตัว!

Perfectionist ทุกอย่างในชีวิตต้องไม่ผิดพลาด แต่อาจทำใจพังไม่รู้ตัว!

"วัยทำงาน" บางคนกดดันตัวเองให้เป็น "Perfectionist" ทุกอย่างในชีวิตต้องไม่ผิดพลาด แต่ทำใจพังไม่รู้ตัว! นักจิตวิทยาเผย พฤติกรรมนี้อาจทำให้เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ วิตกกังวล ซึมเศร้า เครียดสูง และเสี่ยงฆ่าตัวตาย

การตั้งเป้าหมายในการทำงานหรือทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตว่า “ทุกอย่างต้องออกมาดีที่สุด” เป็นสิ่งที่หลายคนพยายามทำในทุกๆ วัน ดูผิวเผินก็เหมือนจะไม่ใช่เรื่องอันตรายอะไร แต่..ในความเป็นจริงการ “นิยมความสมบูรณ์แบบ” หรือ Perfectionist อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้จิตใจของคนๆ นั้น เหนื่อยล้าและซึมเศร้าในระยะยาว

จากข้อมูลของ American Academy of Pediatrics ระบุว่า ผู้ที่เป็น Perfectionist (นิยมความสมบูรณ์แบบ) มีลักษณะพฤติกรรมแบบนี้มาแต่กำเนิด โดยพวกเขามักจะแสดงความคิดแบบ “ตายตัว” มากกว่าความคิดแบบ “เติบโต” ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจต่างกันด้วย

ความคิดแบบตายตัว : เชื่อว่าคนเราเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์และความสามารถโดยธรรมชาติ บุคคลเหล่านี้ตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก และพยายามหลีกเลี่ยงความล้มเหลวในทุกวิถีทาง ความล้มเหลวอาจทำให้พวกเขามองคุณค่าตัวเองต่ำลง

ความคิดแบบเติบโต : เชื่อในความสามารถในการเรียนรู้และเติบโตเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาสามารถฝ่าฟันความพ่ายแพ้ได้ง่าย ความล้มเหลวไม่ได้ผูกติดอยู่กับคุณค่าในตนเอง พวกเขาเชื่อมั่นว่าคนเราผิดพลาดได้ ล้มเหลวได้ และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้เสมอ 

 

  • ลักษณะของ Perfectionist มีพฤติกรรมอย่างไร?

นอกจากนี้ นักจิตวิทยายังพบว่ามีพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งสัญญาณถึงการเป็น Perfectionist ที่ชัดเจน ได้แก่

  • มุ่งมั่นที่จะบรรลุมาตรฐานระดับสูง
  • ต้องการความเรียบร้อย และต้องเรียบร้อยมากขึ้นไปอีก
  • กังวลเกี่ยวกับความผิดพลาด ไม่มีที่ว่างสำหรับความผิดพลาด
  • ความรู้สึกไวต่อการวิจารณ์ของผู้อื่น
  • วิจารณ์ตนเอง
  • ไม่ยอมรับความล้มเหลว (ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิต)
  • ตั้งมาตรฐานสูงเกินจริงกับคนรักหรือครอบครัว

แม้ว่าพฤติกรรมในลักษณะนิยมความสมบูรณ์แบบจะไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจ แต่หากเกิดขึ้นเป็นประจำจะส่งผลให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล เนื่องจากพวกเขาเชื่อมโยงคุณค่าในตนเองเข้ากับประสิทธิภาพการทำงาน และมีแนวโน้มที่จะทำงานแบบสุดโต่ง เมื่อสิ่งต่างๆ ดันเกิดผิดพลาดขึ้นมา เหล่า Perfectionist ก็จะยิ่งหมกหมุ่นอยู่กับความผิดพลาดนั้น และเพิ่มความกังวลในชีวิตประจำวันมากขึ้น

 

  • Perfectionist มีข้อดีนิดเดียว แต่ข้อเสียมาเพียบ!

ขณะที่ ดร.เทรซี เดนนิส ทิวารี (Tracy Dennis Tiwary) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาในนิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลผ่าน Washington Post ในทำนองเดียวกันว่า การนิยมความสมบูรณ์แบบมีข้อดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กลับมีข้อเสียต่อสุขภาพจิตใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การมองเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ ซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคการกินผิดปกติ ฯลฯ เมื่อต้องเผชิญกับความผิดพลาดจะมีความเครียดสูง และแม้กระทั่งนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

อีกทั้ง ผู้ที่ชอบความสมบูรณ์แบบมักจะบรรลุผลสำเร็จน้อยกว่าที่พวกเขาคาดหวัง เพราะพวกเขายั้งคิด ผัดวันประกันพรุ่ง เหนื่อยหน่าย และเลิกรับความท้าทายไปเลย เพราะรู้สึกว่าการไม่เข้าร่วมการแข่งขันเลย ย่อมดีกว่าการแข่งขันแล้วพ่ายแพ้

 

  • เปลี่ยน Perfectionist เป็น Excellencist เพื่อสุขภาพจิตดีขึ้น

แต่ทั้งนี้มีวิธีแก้ไขและปรับทัศนคติใหม่ เพื่อให้ “วัยทำงาน” ยังทำงานได้ออกมาได้ดีมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ต้องกดดันตนเอง โดยเปลี่ยนจาก Perfectionist เป็น Excellencist แทน นั่นคือ การทำงานเพื่อความเป็นเลิศมากกว่าความสมบูรณ์แบบ

แพทริก เกาโดร (Patrick Gaudreau) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยออตตาวา ประเทศแคนาดา ระบุว่า พฤติกรรมแบบ Excellencist จะเน้นการทำงานที่ยอดเยี่ยมแม้จะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม เน้นเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ใช้แนวทางที่ไม่เหมือนใครในการแก้ปัญหา และรู้สึกอิสระที่จะทำผิดพลาด ตราบใดที่พวกเขาสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จที่ยอดเยี่ยม

สำหรับผู้คนวัยทำงานที่รู้ตัวว่าตนเองเข้าข่าย Perfectionist และอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยการปรับกระบวนการทางความคิด โดยหัดทำความเข้าใจและยอมรับว่า "ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนโดยเนื้อแท้" การใจเย็นและมีสติ จะทำให้คุณยอมรับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้คุณโฟกัสกับความคิดและการทำงานได้ดีขึ้นด้วย

อย่างที่บอกไปแล้วว่าพฤติกรรม Perfectionist เชื่อมโยงเข้ากับปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ดังนั้น การนิยมความสมบูรณ์แบบจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตอย่างมาก หากรู้จักปล่อยวาง ลดความมาตรฐานสูงลง และยอมปล่อยให้ตัวเองผิดพลาดบ้าง ก็จะช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้นั่นเอง

--------------------------------------------

อ้างอิง : PsychologytodayWashingtonPostUMPC Health Beat