"หมอธีระ" เตือนจับตาโควิด BQ.1.1 ระบาดในไทย ย้ำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจำเป็น
"หมอธีระ" เตือนจับตาโควิด BQ.1.1 มีโอกาสสูงที่จะเข้ามาระบาดในประเทศไทย และอาจทำให้ติดเชื้อกันได้มากขึ้น ย้ำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 258,416 คน ตายเพิ่ม 461 คน รวมแล้วติดไป 649,895,046 คน เสียชีวิตรวม 6,646,222 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ
- ญี่ปุ่น
- บราซิล
- เกาหลีใต้
- ฝรั่งเศส
- ไต้หวัน
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 71.69 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.23
งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อย BQ.1.1
ทีมงานจาก The Sato Lab สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อย BQ.1.1 ที่ทั่วโลกกังวล และกำลังแพร่ระบาดขยายวงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พบว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่เดิม คือ BA.5 แล้ว BQ.1.1 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการเคยติดเชื้อ BA.2 และ BA.5 หลายเท่า
นอกจากนี้ BQ.1.1 ยังมีสมรรถนะที่จะจับกับเซลล์มากกว่า BA.5 ถึง 2.4 เท่า และมากกว่า BA.2 ถึง 4.6 เท่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ผลการศึกษานี้ ตอกย้ำให้เรารู้ว่า แม้ปัจจุบันไทยเราจะมี BA.2.75.x กำลังระบาดอยู่ แต่มีโอกาสสูงที่ BQ.1.1 ที่ระบาดมากในยุโรปและอเมริกา จะเข้ามาระบาดในประเทศไทยได้ และอาจทำให้ติดเชื้อกันได้มากขึ้น
การไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็น เพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID และเป็นการรับมือกับการระบาดทั้งในตอนนี้และในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถประคับประคองการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ และสุขภาพไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง
เหนืออื่นใด การใช้ชีวิตประจำวันต้องมีสติ ไม่ประมาท และป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
อุทาหรณ์จากการประชุมที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
ข่าวที่เป็นที่สนใจกันมากตอนนี้คือ การเกิดการระบาดแบบ superspreading event ซึ่งเกิดขึ้นในการประชุมวิชาการประจำปี 2022 ของสมาคมภูมิคุ้มกันวิทยาของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Annual scientific meeting of the Australian and New Zealand Society of Immunology) ซึ่งจัดที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา
เป็นการจัดประชุมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก และไม่ได้มีการใส่หน้ากากป้องกันตัว รวมถึงมีกิจกรรมที่มีการพบปะสังสรรค์ใกล้ชิด ต่อมาพบว่ามีคนติดเชื้อแพร่เชื้อกันจำนวนมาก
ถือเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่คนในสังคม รวมถึงนักวิชาการด้านสุขภาพและการแพทย์ ควรปรับตัวในการดำเนินชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ระบาดทั่วโลกที่ยังไม่สิ้นสุด
ทำงาน ประชุม เรียน ท่องเที่ยว หรือใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ควรมีการระมัดระวัง ป้องกันตัว หากต้องพบปะกัน ควรหมั่นถามไถ่กันว่าสบายดีไหม ใครไม่สบายควรงดคลุกคลีใกล้ชิดกับคนอื่น การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญ มีความจำเป็น และจะช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อติดเชื้อลงไปได้มาก
พฤติกรรมของเราจะเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงของตัวเราเองว่าจะเป็นเช่นไร เพียงแต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเรานั้น ไม่จบแค่ที่เรา ยังนำไปสู่คนรอบข้าง ทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน และสังคม