พลิกฟื้นธุรกิจ Healthcare ผลิตแพทย์-วิศวะ อัพคุณภาพ สร้างนวัตกรรม

พลิกฟื้นธุรกิจ Healthcare ผลิตแพทย์-วิศวะ อัพคุณภาพ สร้างนวัตกรรม

THG แนะพลิกฟื้นธุรกิจ Healthcare ต้องผลิตแพทย์-วิศวะ อัพคุณภาพ สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระบุการแพทย์ไทยมีศักยภาพ กลุ่มธุรกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นแต่ขาดกำลังคน

อัปเดตเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก โอกาสการค้า การลงทุน รวมทิศทาง ผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจและผู้ประกอบการไทยในงานสัมมนา Go Thailand : Recession or Resurrection ถดถอย VS พลิกฟื้น จัดโดยฐานเศรษฐกิจ

โดยมี นายฟาบริซิโอ ซาโคเน : ผู้จัดการธนาคารโลกประจากประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กับหัวข้อ GO THAILAND : RECESSION OR RESURRECTION พร้อมด้วยผู้บริหารในแต่ละภาคธุรกิจเข้าร่วม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รู้ก่อนใคร ! 5เทรนด์การท่องเที่ยวปี 66

ปี2573ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโต2เท่า โอกาสทางธุรกิจของ“ประชาชนไทย”

แพลตฟอร์มออนไลน์ “Enjoy Science Careers” ส่องอาชีพสะเต็มแห่งอนาคต

โมเดลธุรกิจ“ศูนย์Wellness” ใช้กัญชากัญชงดูแลสุขภาพ

 

การเปลี่ยนแปลงในกลุ่มธุรกิจHealthcare  

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป(THG)  กล่าวในหัวข้อ Go Thailand : ธุรกิจไทยต้องไปต่อ ว่า 2 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยในส่วนของกลุ่มธุรกิจ Healthcare  สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเด็นหลักๆ คือ

1.Health Literacy หรือการตื่นรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ทุกคนจะไปศึกษาหาความรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งมีทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง

2.Digital Literacy and tech  หรือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อย่าง  Telehealth หรือ Telemedicine การแพทย์ทางไกลซึ่งในช่วงโควิด-19 จนถึงปัจจุบันมีการใช้มากกว่า 10 ปีที่มีใช้อยู่ในระบบการแพทย์ และเป็นเทรนด์ปกติที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทำได้ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ป่วย

3. Affordability ความสามารถในการจ่าย พบว่า ต่ำลง ทุกคนตื่นรู้ด้านสุขภาพ ใช้เทคโนโลยีได้ดีขึ้น แต่มีความสามารถในการจ่ายที่ต่ำลง

 

พลิกฟื้นธุรกิจ Healthcare  ผลิตแพทย์-วิศวะ

ขณะเดียวกัน เมื่อมาพิจารณาด้านความเหลื่อมล้ำที่ในช่วงโควิด มีหลายคนพูดเยอะมาก มีการคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจว่าจะฟื้นตัวแบบกราฟรูปตัว K หรือ K-shaped ซึ่งในส่วนของธุรกิจ Healthcare ถึงจะเป็นขาขึ้น

อย่าง กลุ่มTHG มีการเติบโตมากขึ้น  แต่คนไข้กลับกังวลและจะเน้นการเก็บเงินมากกว่าจะนำมารักษา  ทำให้ในเรื่องของบุคคลจะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำของประชาชนสูงขึ้น ส่วนภาคอื่นๆ อย่างภาคการผลิต ภาคการส่งออก ก็อยู่ในส่วนขาลงเช่นเดียวกัน

“THG ได้ไปทำธุรกิจที่ประเทศเวียดนาม พบว่าเศรษฐกิจ ภาคประชาชนโดยร่วมของประเทศเวียดนามมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะด้าน Healthcare  มีแพทย์และมีทีมวิศวกรเก่งจำนวนมาก ดังนั้น หากกลุ่มธุรกิจ Healthcare ในไทยแม้จะมีแนวโน้มที่เติบโตมากขึ้น แต่ยังขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์ และวิศวกรที่จะมาช่วยพัฒนา นวัตกรรมทางการแพทย์”นพ.ธนาธิป กล่าว

นพ.ธนาธิป กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทย เป็นประเทศอันดับ 1 ที่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เข้ามารับการรักษามากที่สุด เพราะมีแพทย์ที่มีคุณภาพ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ค่ารักษาและการบริการที่ดี  รวมถึงมีโรงพยาบาลมาตรฐานจำนวนมาก

ปัจจุบันทั้งโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลรัฐได้มาทำคลินิกนอกเวลาจำนวนมากขึ้น แต่เมื่อคนในประเทศ 80% เป็นบุคคลขาลง กำลังซื้อต่ำลง หน้าที่ของกลุ่มธุรกิจ Healthcare จึงไม่ได้ดูแลรักษา หรือช่วยเหลือแต่กลุ่มที่มีกำลังซื้อเท่านั้น จะต้องดูแลประชาชนกลุ่มนี้ร่วมด้วย

นพ.ธนาธิป กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่เปิดประเทศ ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลับมาดูแลรักษาสุขภาพที่ไทยแล้วกว่า 50% โดยเป็นนักท่องเที่ยวอาหรับ พม่า กัมพูชา ส่วนนักท่องเที่ยวจีนยังไม่ได้กลับมา เพราะฉะนั้น วิธีที่จะทำให้ธุรกิจ Healthcare ของไทยเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็น Hub ได้ จะต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานทางการแพทย์ การบริการที่ดี

รวมถึงต้องมีการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มการผลิต และสร้างวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพัฒนานวัตกรรม เครื่องมือเทคโนโลยีด้านการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งศักยภาพของแพทย์ไทยไม่แพ้ใคร แต่เราขาดกำลังคน และขาดผู้ที่จะมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนมีการตื่นรู้เรื่องสุขภาพ และการแพทย์มากขึ้น กลุ่มแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลต้องพัฒนาตนเอง รวมถึงโรงพยาบาลเองต้องปรับตัวให้คนไข้เข้าถึงโรงพยาบาลได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องทำให้คนไข้มีความสะดวกสบาย โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยดูแล รักษา ให้การบริการคนไข้ คนไข้ต้องรู้ว่าตัวเองจะพบแพทย์คนไหน เมื่อใด และพบแล้วจะต้องรู้ว่าทำอะไร ความแม่นยำในการมารักษาที่โรงพยาบาลต้องชัดเจนมากขึ้น