ระวัง เผือกเรื่องชาวบ้านผ่านสื่อมากเกินไป เสี่ยงเป็น "ภาวะซึมเศร้า"

ระวัง เผือกเรื่องชาวบ้านผ่านสื่อมากเกินไป เสี่ยงเป็น "ภาวะซึมเศร้า"

ระวัง เผือกเรื่องชาวบ้านบนสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไปเสี่ยงเป็น "ภาวะซึมเศร้า" พร้อมเปรียบเทียบชัดๆ ระหว่าง ภาวะซึมเศร้า vs โรคซึมเศร้า

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ โดยเฉพาะสายเผือกที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะรู้หรือไม่ว่า การให้ความสนใจเรื่องราวของผู้อื่นหรือใช้เวลาบนสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการเป็น "ภาวะซึมเศร้า" ได้

เฟซบุ๊ก รามาแชนแนล Rama Channel โพสต์ข้อความโดยระบุ เชื่อหรือไม่? การให้ความสนใจเรื่องราวของผู้อื่น (สายเผือก) หรือใช้เวลาบนสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราได้และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งในการเสี่ยงเป็น "ซึมเศร้า" จากสื่อสังคมออนไลน์

เแล้วราสามารถสังเกตตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างไรว่ามีโอกาสเสี่ยง ซึมเศร้า จากการติดสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป?

การใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์ 

1.ใช้เวลาในแต่ละวันบนสื่อสังคมออนไลน์นานกว่าที่ตั้งใจไว้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

2.ใช้เวลาจนส่งผลกระต่อการทำงาน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น

3.ใช้สื่อสังคมออนไลน์จนไม่ได้ทำกิจกรรม งานอดิเรกอื่นๆ

ลักษณะการใช้สื่อสังคมออนไลน์

1.เปรียบเทียบตนเองกับข้อมูลที่ผู้อื่นโพสต์ เช่น รูปร่าง ฐานะ ความเป็นอยู่ เป็นต้น

2.เข้าไปดูข้อมูลของผู้อื่น โดยไม่ค่อยโพสต์บนพื้นที่ของตนเองหรือกดไลก์

3.ใช้เพื่อจัดการอารมณ์ทางลบต่างๆ เช่น เศร้า โกรธ เบื่อ หรือเหงา

4.ใช้เพื่อรังแกหรือต่อว่าผู้อื่น

หากใครรู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีโอกาสเสี่ยง "ซึมเศร้า" จากสื่อสังคมออนไลน์ ขอแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ให้ลดน้อยลง และลองหากิจกรรมต่างๆทำเพิ่มมากขึ้น เช่น การออกไปพบเจอเพื่อน ออกกำลังกาย หรือหางานอดิเรกที่ชื่นชอบ เป็นต้น หากไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

ระวัง เผือกเรื่องชาวบ้านผ่านสื่อมากเกินไป เสี่ยงเป็น \"ภาวะซึมเศร้า\"

เปรียบเทียบ ภาวะซึมเศร้า vs โรคซึมเศร้า

สำหรับ "โรคซึมเศร้า" จะมีอาการที่แสดงออกชัดเจนมากกว่า "ภาวะซึมเศร้า" ดังนี้

1.มีอารมณ์ซึมเศร้า ไม่มีความสุขเหมือนเมื่อก่อน มีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์แย่ลง

2.ขาดความสนใจ เบื่อ ไม่อยากทำอะไร และปิดกั้นตัวเองจากคนรอบข้าง

3.เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมากขึ้น น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมากผิดปกติอย่างรวดเร็ว ทานอะไรไม่ลง ไม่อยากอาหาร หรือทานมากกว่าเดิม

4.นอนไม่หลับ หรือนอนเยอะกว่าปกติ คิดมากหรือร้องไห้จนนอนไม่ได้ หรือนอนหลับข้ามวัน

5.เคลื่อนไหวหรือพูดช้ากว่าปกติ อ่อนเพลียและเหนื่อยตลอดเวลา ไม่มีแรง นอนนานแต่ไม่สดชื่น เพลียตลอดเวลา

6.มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า โดดเดี่ยว และมีความรู้สึกผิด มักโทษตัวเอง

7.ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง และขาดการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แม้เป็นเรื่องง่าย

8.ในผู้หญิงรอบเดือนผิดปกติ มีความสนใจเรื่องเพศลดลงหรือมากขึ้น รอบเดือนอาจมาไม่ตรงตามที่เคยมา มาน้อยหรือเยอะผิดปกติ

9.เจ็บปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ หาสาเหตุของอาการป่วยไม่ได้

10.มีความคิดจะฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองโดยตั้งใจหรือวางแผนไว้แล้ว

ทั้งนี้ สามารถเริ่มจากการประเมินสุขภาพใจได้ทาง www.วัดใจ.com (คลิกที่นี่) ซึ่งเป็นการประเมินสุขภาพใจของตนเองผ่านแบบสอบถาม สามารถบอกได้เบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในระดับใดบ้าง

สำหรับ วิธีรับมือภาวะซึมเศร้า ในเบื้องต้น ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีความรู้สึกหดหู่ ดังนี้

  • ให้มองด้านบวก
  • นึกถึงคุณค่าของตนเอง
  • ปล่อยวางความคิด
  • ปรับวิธีคิดให้แตกต่างไปจากเดิมจะช่วยให้หาทางออกในการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น