จากการ "ล็อกดาวน์" ครั้งใหญ่ สู่ "ภาวะหมดไฟ" ที่ลุกลาม

จากการ "ล็อกดาวน์" ครั้งใหญ่ สู่ "ภาวะหมดไฟ" ที่ลุกลาม

การ "ล็อกดาวน์" ครั้งใหญ่ ส่งผลให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป หลายคนมองว่าการทำงานทางไกล หรือ ลูกผสม (Hybrid Work) เป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับทำให้หลายคนเกิด "ภาวะหมดไฟ" ลุกลามจากความเหงา นำไปสู่การลาออกครั้งใหญ่หลังโควิดคลี่คลาย

นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย หนึ่งในมาตรการควบคุมการระบาดในช่วงนั้น คือ การล็อกดาวน์ ส่งผลให้เกิดการทำงานที่บ้านทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ในบางช่วงของปี 2563 และ 2564 ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ เกิดกระแส “คนรุ่นล็อกดาวน์”

 

ข้อมูลจากรายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2566 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า “กลุ่มคนรุ่นล็อกดาวน์” นั้น หากไม่ได้รับการดูแลสนับสนุนอาจ บางส่วนอาจกลายเป็นคน “รุ่นที่สาบสูญ” ไปจากตลาดแรงงาน และแม้ว่าการทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home อย่างที่หลายๆ คนเริ่มคุ้นเคย ที่ดูเหมือนจะส่งผลดีหลายประการ เช่น ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ก็ส่งผลกระทบด้านสุขภาวะต่อคนจำวนไม่น้อย โดยเฉพาะความเครียด ความเหงาจนอาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้า

 

“เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร” ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวถึงประเด็น จับตาทิศทางสุขภาพปี 2566 เปลี่ยนก่อนป่วย ภายในงาน ThaiHealth Watch 2023 ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. โดยหนึ่งในสิ่งที่ต้องจับตา ปี 2566 คือ “ภาวะหมดไฟ” ซึ่งเป็นผลที่สะสมตามมาจากช่วงโควิด-19 คนที่อยู่ในรุ่นล็อกดาวน์ พบว่า หลายบริษัทปิด หรือ ทำงานที่บ้าน ทำให้ช่วงนี้ คนรุ่นล็อกดาวน์ บางส่วนอาจจะกลายเป็นคนที่รุ่นที่สาบสูญไปจากตลาดแรงงาน การล็อกดาวน์ส่งผลระยะยาว บางอาชีพเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) หรือ ลาออกค่อนข้างเยอะ

 

 

76% เปลี่ยนไปทำงานแบบ ไฮบริด

ขณะที่หลายบริษัททั่วโลก เปลี่ยนมาใช้การทำงานแบบลูกผสม หรือ ไฮบริด (Hybrid Work) และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เว็บไซต์ แทรเวล เพิร์ก (Travel Perk) ปี 2565 ได้ทำการสำรวจบริษัทชั้นนำทั่วโลก พบว่า ส่วนใหญ่ได้มีการเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการทำงานแบบลูกผสม อันเป็นผลโดยตรงจากการะบาดของโควิด-19

  • 76% เปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานแบบลูกผสมในบริษัทของตน
  • 11% กลับไปทำงานเต็มเวลา
  • 9% หันไปทำงานทางไกลแบบเต็มเวลา
  • 2% บริษัทยังไมได้กำหนดรูปแบบทำงานที่ชัดเจน
  • 1% ยังไม่ทราบทิศทางของบริษัท
  • 1% บริษัทมีระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมาก่อนแล้ว

 

ทำงานทางไกล ทำไมถึงหมดไฟได้

อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานแบบไฮบริด จะช่วยให้การทำงานของพนักงานมีอิสระมากขึ้น แต่อีกแง่มุมหนึ่ง การทำงานแบบทางไกลที่กินระยะเวลานานหลายปี จนอาจทำให้หลายคนรู้สึกว่า การทำงานจากที่บ้านทำให้ทักษะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์สัมพันธ์แย่ลง

 

มีงานวิจัยยืนยันว่า “การทำงานแบบทางไกลอย่างเดียวได้ส่งผลต่อการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน” โดยคณะนักวิจัยจากบริษัทไมโครซอฟท์ และสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา ได้เผยผลการศึกษาว่า การทำงานแบบทางไกลอย่างเดียวอาจส่งผลต่อการสื่อสารของทีมและพนักงานแต่ละคนได้

 

นอกจากนี้ ยังเคยมีผู้บริหารจากหลายบริษัทดังออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบของการทำงานจากที่บ้านว่าส่งผลต่อวัฒนธรรมองค์กร การำงานร่วมกัน และความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน

 

ส่งผลเสียต่อคนทำงานรุ่นใหม่ และไม่เหมาะกับคนที่พร้อมทำงานหนักแบบทุ่มเท (Hustle) อีกทั้งยังไม่ส่งผลีดต่อการสร้างสรรค์ไอเดียแต่อย่างใด ซึ่งในภาพใหญ่กว่านั้น คือส่งผลต่อการสื่อสารและการทำงานร่วมกันของผู้คน และอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของความรู้สึก “หมดไฟ” ของผู้คนส่วนใหญ่อีกด้วย

 

 

ภาวะหมดไฟลุกลามจาก “ความเหงา”

ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) คือ ภาวะที่เกิดจากความเครียดเรื้อรัง หรือความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ที่ส่งผลให้ผู้คนรู้สึกไม่มีความสุข เศร้า หดหู่ ไม่อยากทำงาน รวมถึงประสิทธิผลของงานลดลง และบางกรณีจะสังเกตได้ว่า แม้งานหรือหน้าที่รับผิดชอบในขณะนี้ ไม่ได้แตกต่างจกาเดิม ทั้งในแง่ปริมาณ ลักษณะ และระยะเวลาที่กำหนด แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยรู้สึกถึงความหมดไฟมาก่อน จนกระทั่งโควิด-19 ที่ต้องเปลี่ยนมาทำงานจากที่บ้าน ซึ่งอยู่ตามลำพัง

 

ทั้งนี้ มีผลการรายงานถึงภาวะหมดไฟของผู้คนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดครั้งใหญ่ เนื่องจากการปรับสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่ กลายเป็นการทำงานแบบลูกผสม มาพร้อมกับปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น หากแต่เส้นแบ่งสมดุลชีวิตกับการทำงานเริ่มขาดหาย มีหลายครั้งที่การหมดไฟกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนเรามักไม่รู้ว่าตัวเองกำลังหมดไฟ จนกระทั่งวันหนึ่งรู้สึกหมดแรงทั้งทางกาย ทางใจ และทางอารมณ์

 

ซึ่งการระบุว่าตัวเองกำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะเป็นสิ่งที่สะสมมาเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว และบางครั้งอาจมองไม่เห็นถึงสัญญาณบางอย่างที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟ เช่น ความเหงาหรือความโดดเดี่ยว

 

หากกล่าวถึง “ความเหงา” เกิดจากการแยกตัวทางสังคม ซึ่งการแยกตัวทางสังคมก็อาจเกิดได้ จากหลายปัจจัย เช่น บุคลิกภาพส่วนตัว ลักษณะของงานที่รับผิดชอบ หรือวัฒนธรรมในองค์กร แต่เมื่อเป็นสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ที่ต้องอยู่กับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างไม่มีทางเลือก ความเหงาก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

กล่าวคือ ถึงแม้โดยปกติจะเป็นคนที่เข้าสังคมเก่งหรือเข้ากับคนอื่นๆ ในที่ทำงานได้เป็นอย่างดี ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถหนีพ้นจากความเหงาในช่วงนี้ไปได้ เพราะความเหงาถือเป็นความรู้สึกเจ็บปวดทางอารมณ์ และเป็นสภาวะทางจิตใจที่รับรู้ว่าความสัมพันธ์ทางสังคมของเรามีคุณภาพและปริมาณต่ำกว่าที่ต้องการ ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า ความจำที่แย่ลง และความเครียดที่เพิ่มขึ้น

 

ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว ความหมายและลักษณะของความเหงามีความคล้ายกับภาวะหมดไฟอยู่หลายประการนำไปสู่พฤติกรรมหรือความรู้สึกนึกคิดที่ทำให้เรามองสิ่งต่างๆ ในชีวิตเปลี่ยนไปในแง่ลบ ไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ เหนื่อยล้าโดยไม่รู้ตัว ต้องยอมรับว่า สิ่งที่ผู้คนคิดถึงการเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ คือ การพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ ในที่ทำงาน (Office Small Talk) ซึ่งส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และการสร้างความเชื่อใจของคนในที่ทำงาน

 

มีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและพฤติกรรม กล่าวไว้ว่า การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและการสื่อสาร มีบทบาทสำคัญอย่างมากในกลุ่มคนทำงาน ซึ่งเพื่อนร่วมงานสามารถเป็นเครือข่ายการสนับสนุนทางสังคมที่ดีได้

 

สู่การลาออกระลอกใหญ่ในทุกเจเนอเรชั่น

แม้หลังการระบาดของโควิด-19 ตลาดแรงงานจะกลับมาดีขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม ได้ระบุว่า ตลาดแรงงานกำลังเผชิญกับ “การลาออกระลอกใหญ่” (The Great Resignation) ซึ่งเป็นคำยอดนิยมและมีการค้นหาทางออนไลน์กว่า 232 ล้านครั้ง สะท้อนจากการที่แรงงานในสหรัฐฯ ลาออกถึงเกือบ 69 ล้านคนในปี 2564 จาก 4 ปัจจัยหลัก คือ

  • เคยทำทำงานเดิมอยู่ จึงลาออกหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มดีขึ้น
  • เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
  • ทบทวนลำดับความสำคัญและคุณค่าของการทำงาน
  • ติดใจการทำงานแบบทางไกล จึงไม่อยากกลับไปที่ออฟฟิศอีก

 

อุตสาหกรรมไหน ลาออกมากที่สุด

ทั้งนี้ บริษัทวิจัยและผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสาระสนเทศชั้นนำของโลก (Gartner, Inc) ประเมินว่าอัตราการเข้า-ออกงาน (Turnover Rate) สูงขึ้นกว่า 50-75% และนายจ้างใช้ระยะเวลาในการหาแรงงานานขึ้นกว่า 18% โดยในอุตสาหกรรมที่ลาออกมากที่สุด ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อัตราการลาออกเพิ่มขึ้น 4.5%
  • อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ อัตราลาออกเพิ่มขึ้น 3.6%

 

อัตราการลาออกจะเพิ่มสูงขึ้นในอุตสหากรรมที่มีความต้องการสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงโรคระบาด เพราะเมื่อปริมาณงานถาโถมเข้ามามาก พนักงานจึงเกิดอาการเหนื่อยล้าและหมดไฟได้ง่าย เมื่อโรคระบาดและการกักตัว ทำให้มองเห็นอะไรหลายอย่างชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่สะสมมานานหรือความต้องการลึกๆ ของตัวพนักงานเอง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ ผู้คนจะต้องรีบมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวที่มั่นคงกว่าให้กับตนเอง หรืออาจจะมองหาเป้าหมายใหม่โดยที่คำนึงถึงความยืดหยุ่น ความสุข และความพึงพอใจตนเองเป็นหลัก

 

เพราะไม่ใช่ทุกคนจะพอใจกับการทำงานที่บ้าน ไม่ใช่ทุกคนจะพอใจกับการทำงานที่ออฟฟิศ และมใช่ทุกคนจะพอใจกับการทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น จึงเกิดแนวคิดที่ว่า “ชีวิตสั้นเกินกว่าจะทำอะไรที่ไม่สามารถเติมเต็มความพึงพอใจของตนเองได้” กล่าวคือ การดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ การลาออกจากงานนั่นเอง

 

อาชีพไหนแนวโน้มเกิดภาวะหมดไฟมากที่สุด

ข้อมูลสถิติที่รวบรวมโดยบริษัทที่ทำวิจัยเกี่ยวข้องกับอาชีพและการทำงาน (Blind Inside) ระบุว่า ลักษณะอาชีพที่มีแนวโน้มเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) สูงที่สุด ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีอาการน่าห่วง คือ

  • นักการตลาดและนักสื่อสาร 83.3%
  • ฝ่ายการเงินและบัญชี 82.6%
  • ฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจ 78.7%
  • ฝ่ายขาย 78.0%
  • ฝ่ายบุคคล 77.3%

 

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งผลงานวิจัยโดย คณะบริหารธุรกิจสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองแคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ในปี 2565 พบว่า อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้ผู้คนลาออก คือ วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ (Toxic Culture) นับว่าแย่กว่าการให้ค่าแรงต่ำหรืองานที่ไม่มั่นคงเสียอีก

 

หมั่นสังเกตร่างกายและจิตใจตนเองเสมอ

ทั้งนี้ สสส. แนะว่า เพื่อเป็นการดูแลสภาพร่างกายและจิตใจของตนเองให้ดีอยู่เสมอ ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของตนเองที่เกิดขึ้นจากการทำงาน หากเริ่มรู้สึกว่าเครียด ก็ควรรีบจัดการก่อนจะเป็นหนักขึ้น และต้องไม่ลืมสร้างนิสัยเพื่อสุขภาพที่ดีให้ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา และก่อนนอนไม่ควรเสียเวลาไปกับความกังวลเรื่องงาน ผ่อนคลาย ลดความเครียดลง โดยการหากิจกรรมทำนอกเวลา ฟังเพลง ดูหนัง ออกกำลังกาย และหากเป็นไปได้ แนะนำให้ลาพักร้อนเป็นระยะเวลาสั้นๆ บ้าง

 

ต่อมา คือ การปรับทัศนคติในการทำงาน เริ่มจากการทำความเข้าใจเนื้องาน และองค์กรที่ทำงานด้วย จัดลำดับความสำคัญของงาน และพร้อมที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงของงานได้เสมอ และต้องไม่ลมเปิดใจให้กับคนรอบข่าง อย่าลังเลที่จะปรึกษาเพื่อร่วมมงานหรือหัวหน้างานด้วยความจริงใจ พยายามหลีกเลี่ยงผู้คนที่มีความคิดในแง่ลบ ยอมรับความแตกต่างของคน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจะไม่ตรงกัน

 

สุดท้าย แม้ภาวะหมดไฟ จะเป็นอาการเบื่องาน หมดแรงจูงใจ แต่หากเริ่มรู้สึกอึดอัด หดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการทำงานหรือการใช้ชีวิต และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แนะนำให้ลองปรึกษาจิตแพทย์โดยตรง เพื่อเป็นการหาทางออกที่ดีและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

อ้างอิง : รายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2566 โดย สสส.