เมื่อคำว่า "แป๊บนึง" ของพ่อแม่กับลูกไม่เท่ากัน จะทำอย่างไร

เมื่อคำว่า "แป๊บนึง" ของพ่อแม่กับลูกไม่เท่ากัน จะทำอย่างไร

เวลาที่ "พ่อแม่" หลายคน อยากให้ลูกทำอะไรสักอย่าง ลูกมักจะบอก "แป๊บนึง" ตลอด และบางทีก็ "แป๊บนึง" ไปเรื่อยๆ จนทำให้พ่อแม่หลายคนเหนื่อยที่จะดุลูก ดังนั้น เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้คำว่า "แป๊บนึง" ของพ่อแม่กับลูกเท่ากัน และมีคำพูดไหนบ้างที่ไม่ควรพูดกับลูก

เมื่อคำว่า "แป๊บนึง" ของพ่อแม่กับลูกไม่เท่ากัน ทำให้เป้าหมายที่ผู้ปกครองอยากจะกำหนดเวลาและฝึกระเบียบวินัยของลูกไม่สามารถทำได้ง่ายนัก หลายครั้งที่เด็กๆ อาจจะเล่นเพลินจนลืมเวลาทานข้าว อาบน้ำ และการที่พูดคุยหรือใช้วิธีสื่อสารผิดๆ อาจทำให้เด็กต่อต้าน ไม่ทำตาม และเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่าง พ่อแม่ และลูกได้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้คำว่า "แป๊บนึง" ของพ่อแม่และลูกตรงกัน 

 

การเข้าใจวิธี "การสื่อสาร" ที่ดี เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลี้ยงลูก เพราะหลายคนมองว่าเด็กดื้อไม่เชื่อฟัง แต่ความจริงแล้วพ่อแม่อาจใช้คำพูดที่ผิด การสื่อสาร จึงถือเป็นเครื่องมือชิ้นแรกที่เด็กและผู้ปกครองใช้เข้าหาซึ่งกันและกัน แต่เมื่อการใช้การสื่อสารไม่ดี พัฒนาการของเด็กในหลาย ๆ ด้านก็จะไม่ดีตามไปด้วย

 

“พญ.ทัตติยา วิษณุโยธิน” แพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้แบ่งปันเทคนิคที่จะกำหนดเวลากับบุตรหลานของท่าน ให้สามารถกำหนดเวลาและพฤติกรรมของลูกให้เหมาะสม และปรับคำว่า "แป็บนึง" ของทั้ง 2 ฝ่ายให้ตรงกันมากขึ้น ผ่าน Net PAMA tip and tricks EP 2 โดยอธิบายว่า พ่อแม่หลายคน พบว่า แป๊บนึงของเรากับลูกไม่เคยเท่ากัน

 

สำหรับการปรับเทคนิคคำว่า “แป๊บนึง” ของพ่อแม่และลูกให้เท่ากันง่ายๆ โดยใช้นาฬิกาในบ้าน อันดับแรก ต้องเลือกนาฬิกาก่อน นาฬิกาที่ช่วยพ่อแม่ได้ดี คือ มีเข็มสั้นและเข็มยาวที่มองเห็นชัดเจน รวมถึง มีตัวเลข 1-12 บนหน้าปัดนาฬิกาเพื่อให้เด็กมองเห็นชัดเจนไม่ต้องเดาว่า ขีดนี้ คือ เลขเท่าไหร่ และที่สำคัญ คือ ต้องเป็นนาฬิกาที่ดูง่าย ไม่ต้องมีลวดลาย ยิ่งเป็นเด็กเล็กๆ ใช้ตัวเลขใหญ่ๆ เลยยิ่งดี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ถัดมา คือ วิธีการปรับให้แปปนึงของเรากับลูกเท่ากัน ก่อนที่พ่อแม่จะบอกให้ลูกทำอะไร ให้เรียกชื่อลูกให้หันมาสบตากับเราก่อน เพราะบางทีการที่ลูกทำอะไรเพลินๆ และเราพูด เขาอาจจะไม่สนใจฟัง เหมือนที่เราดูหนัง ฟังเพลง มีคนมาเรียกชื่อเราบางทีเราก็ไม่ได้ยิน ดังนั้น เรียกชื่อลูกก่อนที่จะให้ลูกทำอะไร

 

หลังจากเด็กหันกลับมาแล้ว หากเป็นเด็กที่โตแล้ว ให้พ่อแม่ถามว่า “ลูกดูนาฬิกาสิตอนนี้กี่โมงแล้ว” หากเป็นเด็กเล็ก อาจจะถามว่า “ตอนนี้เข็มยาวชี้เล็กอะไรแล้วนะ”

 

โดยที่สำคัญ คือ ต้องบอกระยะเวลา เช่น “แม่อยากให้ลูกไปทานข้าว ตอนเข็มยาวชี้เลข 6” ซึ่งการบอกเวลา

 

ควรกะเวลาให้เหมาะสมด้วย เพราะบางครั้ง แค่ 5 นาทีสำหรับเด็กอาจจะน้อยไปในการที่เขาจะทำใจ อาจจะต้องกะเวลาเผื่อ 30-40 นาที เพื่อให้เขาทำใจเลิกเล่นสิ่งที่เขากำลังเล่นอยู่ก่อน

 

ถัดมา หลังจากที่พ่อแม่บอกสิ่งที่อยากให้ลูกทำแล้ว ให้ลูกทวนสิ่งที่พ่อแม่พูดอีกที เพื่อจะได้มั่นใจว่า เขาตั้งใจฟังอยู่ เขาเก็บข้อมูลครบ และเรามีความเข้าใจที่ตรงกัน

 

สุดท้าย เมื่อใกล้ถึงเวลาที่กำหนด ควรเตือนลูกก่อนเพราะบางที เขาอาจจะเผลอลืมไม่ได้มองนาฬิกา เช่น หากให้เวลาลูก 1 ชั่วโมง อาจจะเตือนตอนเหลือเวลาอีกประมาณ 30 นาที หรือ 15 นาที ซึ่งการเตือนจะช่วยให้เขาทำใจได้มากขึ้น แต่หากเตือนบ่อยเกินไป เช่น ผ่านไป 5 นาทีแล้วนะ ผ่านไป 10 นาทีแล้วนะ แบบนี้จะทำให้ลูกรำคาญได้

 

ดังนั้น ควรเตือนลูกทุก 15 นาที หรือหากเป็นเด็กที่ค่อนข้างเชื่อฟังอยู่แล้ว อาจจะเตือนตอน 30 นาที หรือ 5 นาทีสุดท้ายเลยก็ได้

 

 

ชื่นชมอย่างไร ให้เด็กรู้สึกดี

 

"พญ.ทัตติยา" กล่าวต่อไปว่า วิธีการทั้งหมดนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้พ่อแม่และลูก มี “แป๊บนึง” ที่ตรงกันมากขึ้น สุดท้ายแล้ว เมื่อลูกทำตามที่บอก ไม่ว่าลูกจะทำอย่างเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม ให้ชม เพราะความจริงแล้ว เป้าหมายตอนแรกของเรา คือ ให้ลูกไปทำในสิ่งที่เราต้องการ และตอนนี้เขาไปทำให้เราแล้ว

 

อาจจะชมว่า “ดีมากเลยที่ตรงเวลา แม่ขอบคุณมากเลยนะ” หรือว่า “ขอบใจมากที่ไปอาบน้ำตรงเวลา” 

 

ไม่ใช่ชมไปบ่นไป เช่น “ขอบคุณมากเลยนะ แต่คราวหลังทำให้ดีๆ หน่อยได้ไหม ทำแค่นี้ทำไมต้องทำให้ยุ่งยากด้วย” แบบนี้อาจจะทำให้ครั้งหลังๆ เด็กรู้สึกว่า ทำแบบนี้ไป ในที่สุดแล้วถึงเขาจะทำตามที่บอก แต่พ่อแม่ก็บ่นอยู่ดี

 

"เพราะฉะนั้น ชมสั้นๆ เด็กจะรับรู้ได้ถึงการขอบคุณ และครั้งถัดไปจะยอมทำตามที่เราบอกมากขึ้น นี่คือ เทคนิคสั้นๆ ที่ทำให้คำว่า “แป๊บนึง” ของพ่อแม่และลูก เท่ากันมากขึ้น" พญ.ทัตติยา กล่าว 

 

สื่อสารไม่ดี พัฒนาการไม่ดี 

 

ทั้งนี้ การสื่อสารถือเป็นเครื่องมือชิ้นแรกที่เด็กและผู้ปกครองใช้เข้าหาซึ่งกันและกัน แต่เมื่อการใช้การสื่อสารไม่ดี พัฒนาการของเด็กในหลาย ๆ ด้านก็จะไม่ดีตามไปด้วย เช่น ในช่วงก่อนวัยเรียนพัฒนาการทางภาษาไม่ดี เด็กไม่พูดต้องพบแพทย์เพื่อทำการกระตุ้นการพูด

 

"พญ.ปัทมาพร ทองสุขดี" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อธิบายว่า  พอเริ่มเข้าสู่วัยเรียนเด็กจะเริ่มรู้สึกว่าไม่มีความมั่นใจเพราะเมื่ออยู่กับพ่อแม่ตัวเด็กรู้สึกว่าตนเองไม่ดีมากพอเมื่อเข้าสู่สังคมก็จะทำให้ไม่มีความมั่นใจ เริ่มเก็บตัว

 

"และปัญหาของเด็กเหล่านี้จะเริ่มมองเห็นชัดเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่กำลังมองหาตัวตนของตัวเองผ่านสายตาคนอื่นที่ไม่ใช่ครอบครัว ถ้าหากคนในครอบครัวพูดกับเขาไม่ดีแต่คนอื่นรอบตัว เช่น เพื่อน เพศตรงข้าม พูดกับเขาดีก็จะทำให้กลายเป็นเด็กติดเพื่อน เพราะกำลังอยู่ในวัยที่มองหาเพื่อนและเพศตรงข้ามซึ่งเป็นตามวัย"

 

การทารุณกรรมทางอารมณ์

 

เรื่องคำพูดที่รุนแรงจนบางครั้งเป็นคำพูดที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ถือว่าเป็นหัวข้อหนึ่งของการทรุณกรรม นั่นก็คือ “การทารุณกรรมทางอารมณ์” ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนไทยอาจจะรู้จักเพียงแค่การทารุณกรรมทางร่างกายหรือการทารุณกรรมทางเพศ

 

การทารุณกรรมทางอารมณ์นั้น เกิดขึ้นจากคำพูด หรือกิริยาใด ๆ ที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกด้อยค่าและไม่เป็นที่รัก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคำของผู้ปกครอง ในบางครั้งเวลาสอบถามผู้ปกครองของเด็กว่าใช้คำพูดเหล่านี้ไปเพื่ออะไร ผู้ปกครองมักจะตอบว่าเป็นการตักเตือนสั่งสอน แต่คนฟังนั้นจะจำฝั่งใจว่าตนเองมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาของผู้ปกครองเมื่อฟังคำพูดเหล่านั้นซ้ำ ๆ เพราะฉะนั้นบางครั้งก็อาจจะทำให้เด็กเริ่มไม่อยากเข้าหาคนในครอบครัวหรือผู้ปกครองจนกลายเป็นความห่างเหินของครอบครัวในที่สุด

 

เขาได้อยู่ในสังคมที่ดีก็ถือว่าเป็นโชคดีของเด็ก แต่ถ้าหากไปอยู่ในสังคมที่ไม่ดีก็จะถูกชักนำไปในทางที่ไม่ดี เช่น เจอเพื่อนที่ไม่ยอมรับทำให้เด็กถูกกีดกันจากเพื่อนอาจจะส่งผลเสียถึงขั้นเป็น โรคซึมเศร้า หรือเด็กที่ไม่มีความมั่นใจก็จะเริ่มมองหาตัวช่วยก็อาจจะมีปัญหายาเสพติดตามมา หรือปัญหาการคบเพื่อนต่างเพศซึ่งถ้าหากไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมก็จะนำไปสู่ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร

 

คำพูดไหนไม่ควรใช้กับเด็ก

 

พญ.ปัทมาพร กล่าวต่อไปว่า รูปประโยคหรือชุดคำพูดที่ผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็กก็คือ คำพูดที่ทำให้รู้สึกว่า “ถูกด้อยค่า” ปัญหานี้ในบางครั้งมาจากวัฒนธรรมไทยในกลุ่มคนรุ่นเก่าที่ยังเชื่อว่าต้องทำให้เด็ก “สำนึก” และ “หลาบจำ” เพราะมองว่าถ้าพูดแล้วเด็กจะไม่ทำอีก

 

โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า ครูสมัยก่อนเคยพูดว่า "โง่เป็นควาย" หรือ "เรียนไม่ได้ก็ไปตาย" ซึ่งเป็นคำพูดที่ ณ ตอนนั้นคนพูดพูดด้วยอารมณ์โกรธ พูดด้วยความตั้งใจจะให้สำนึกในสิ่งที่ทำไม่ถูก แต่คนฟังซึ่งเป็นเด็กนั้นไม่ได้มีใครอยากทำผิด และเด็กทุกคนต้องการคำแนะนำที่เหมาะสม พอเป็นคำแนะนำที่ไม่ก่อประโยชน์ อย่างที่ว่า โง่เป็นควาย แล้วเด็กต้องทำอย่างไรต่อ ทำอย่างไรถึงจะไม่ตกอยู่ในสภาวะนี้

 

ดังนั้น คำพูดที่เป็นการด้อยค่า ทำให้รู้สึกไม่เป็นที่รักนั้นผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็กโดยสิ้นเชิง หรืออย่างเช่น เปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น โดยการบอกว่าลูกคนอื่นเรียนเก่งกว่าก็ถือว่าเป็นการด้อยค่าเช่นเดียวกัน ซึ่งเด็กบางคนก็สะท้อนอารมณ์ตัวเองกลับว่า “แล้วทำไมแม่ไม่เอาลูกคนนั้นมาเป็นลูกตัวเอง” ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความน้อยใจของเด็ก

 

สื่อสารสร้างสรรค์ ไม่ใช่สื่อสารเพื่อตนเองสะใจ

 

สำหรับการแก้ปัญหาเหล่านี้ควรเน้นไปที่ "การสื่อสารที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่สื่อสารเพื่อให้ตนเองสะใจ" หรือดุลูกเพื่อให้ตัวเองหายโกรธ ซึ่งทั้งหมดเป็นการพูดเพื่อระบายอารมณ์ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับคนฟัง คนฟังจะจับใจความได้แค่ว่า คุณไม่พอใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร

 

การสื่อสารที่ดีนั้นต้องตรงประเด็น เข้าใจ แนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สอนเด็กอย่างใจเย็น สื่อสารด้วยน้ำเสียงที่ชวนฟังห่วงใย หรือแม้แต่ในวันที่เขาไม่ได้ทำผิดก็ควรมีการให้กำลังใจและเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเด็กด้วย "ผู้ใหญ่หลายคนยังมีความคิดว่าเด็กยังมีความคิดเป็นเด็กต้องสั่งสอน แต่ไม่เคยเปิดใจรับฟังความคิดของเด็ก ซึ่งผู้ปกครองควรรับฟังเด็กบ้าง" พญ.ปัทมาพร กล่าว