ทำไมคนยุคใหม่ "ไม่นิยมมีลูก" เด็กเกิดใหม่น้อยลง ถึงจุดวิกฤติ

ทำไมคนยุคใหม่ "ไม่นิยมมีลูก" เด็กเกิดใหม่น้อยลง ถึงจุดวิกฤติ

อย่างที่รู้กันว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" โดยสมบูรณ์ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะในอีกมุมหนึ่ง ไทยยังพบปัญหา "เด็กเกิดใหม่" น้อยลง เพียง 5 แสนคนในปี 2565 ซึ่งถือเป็นอัตราการเกิดที่อยู่ในจุดวิกฤติในสังคม

"ทำไมคนไทยมีลูกน้อยลง ?"  กรมอนามัย ระบุถึงสาเหตุ เด็กเกิดน้อย ว่า วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่แต่งงานช้าลง เรียนสูงขึ้น มีค่านิยมอยู่เป็นโสด มีความหลากหลายทางเพศ  ความต้องการมีบุตรและจำนวนบุตรที่ต้องการเปลี่ยนไป มองเป็นภาระ  อีกทั้ง มาตรการที่จูงใจให้คนต้องการมีบุตรมีน้อยและมาตรการที่มีอยู่ไม่สามารถจูงใจให้คนอย่างมีบุตรได้

 

รวมถึง สภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้คนชะลอการมีบุตร และ คนที่อยากมีบุตรประสบปัญหา ภาวะมีบุตรยาก และไม่สามารถเข้าถึงบริการช่วยเหลือภาวะมีบุตรยากได้

 

เมื่อเด็กเกิดน้อยลง จะกระทบอะไร ? 

 

ก่อนอื่นต้องมาดูอัตรา "เด็กเกิดใหม่" ในช่วงที่ผ่านมากันก่อน อัตราเด็กเกิดใหม่ ปี 2556 อยู่ที่ 780,000 คน ในปี 2563 พบว่าอยู่ที่ 569,338 คน อัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) อยู่ที่ 1.24 และมีแนวโน้มจะลดลงไปอีก สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 

 

ในปี 2564 เด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 544,570 คนอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำมากอยู่ที่ 1.51 คน สวนทางกับสังคมผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น 

 

ในปี 2565 อัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 5 แสนคน และคาดว่าปี 2566 จะมีอัตราเด็กเกิดใหม่ 5 แสนกว่าคน

 

ข้อมูลชี้ชัดว่า อัตราการเกิดลดลงไปถึง 35.7% และเป็นอัตราการเกิดใหม่ต่ำมา 2 ปีแล้ว สอดคล้องกับ ข้อมูลจาก "กรมอนามัย" อัตราการเกิดต่ำกว่า 6 แสนคน ถือเป็นอัตราการเกิดที่วิกฤตในสังคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ผลกระทบที่ตามมา คือ ปี 2564 วัยแรงงาน 3.4 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน และคาดว่าปี 2583 วัยแรงงาน 1.7 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ทำให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชากรไม่เพียงพอ

 

สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าปี 2568 ไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุ 60 ปี มากกว่า 14.5 ล้านคน หรือ 20.7% ของประชากรทั้งหมด

 

คาด ปี 2598 ประชากรไทยลดลงกว่า 10 ล้านคน 

 

ข้อมูลจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าประชากรไทยจะเริ่มลดลงราวปี 2566 2573 และ 2578 สำหรับสมมุติฐานการแปรผันสูง ปานกลาง และต่ำ

 

โดยในกรณีแปรผันสูงซึ่งภาวะเจริญพันธุ์อยู่ในระดับที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประชากรในประเทศไทยมีประมาณ 65.4 ล้านคน ในปี 2568 โดยจะลดลงต่อไปเป็นประมาณ 62 ล้านคน ในปี 2588 และเหลือเพียง 55.9 ล้านคน ในปี 2598 ซึ่งเป็นการลดลงเกือบ 10 ล้านคน 

 

ทำไมคนยุคใหม่ ไม่นิยมมีลูก

 

ก่อนหน้านี้ “พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์”  อธิบดีกรมสุขภาพจิต  ได้อธิบายว่า เหตุผลที่ปัจจุบันคนไทยมีลูกน้อยลง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับเนื่องมาจากการเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรบางกลุ่ม

 

"ผู้หญิงที่รับการศึกษาและอยู่ในระบบการศึกษาจนอายุมากขึ้น ทำให้ชะลอการมีครอบครัวและชะลอการมีบุตรด้วย ขณะที่ วิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวดีขึ้น ความประสงค์ของผู้หญิงที่จะเข้าสู่ความเป็นแม่ หรือตั้งใจมีบุตรถูกชะลอออกไปและลดจำนวนลง"

 

อีกทั้ง ความคาดหวังต่อบทบาทของความเป็นพ่อแม่และต่อคุณภาพของลูก เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะหลัง โดยพ่อแม่หลายคนคาดหวัง หากจะต้องเป็นพ่อแม่คนก็ต้องมีความพร้อม จึงตั้งมาตรฐานความพร้อมไว้สูง กว่าจะถึงเวลาที่พร้อมจริง ความสามารถในการมีบุตรก็อาจถดถอยลงไป และความเครียดความจริงจัง ทำให้โอกาสต่อการเจริญพันธุ์ได้รับผลกระทบด้วย

 

“ความคาดหวังต่อคุณภาพของเด็ก คาดหวังรูปแบบการเลี้ยงดูที่พ่อแม่จะมีให้กับลูก ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกวิตกกังวลต่อบทบาทความเป็นพ่อแม่ กว่าจะพร้อมก็เลยเวลาของวัยเจริญพันธุ์ไปพอสมควรแล้ว” พญ.อัมพร กล่าว

 

เด็กเกิดน้อย ไม่ได้มีแค่ไทย 

 

ขณะเดียวกัน ปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลง ไม่ได้มีแค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยและมีประชากรสูงวัยจำนวนมาก อัตราการเกิดในญี่ปุ่นปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2516 เด็กเกิดสูงสุดถึง 2.1 ล้านคน และผู้เชี่ยวชาญคาดว่าปริมาณเด็กแรกเกิดของญี่ปุ่นจะเหลือเพียง 740,000 คน ในปี 2583

 

ในปี 2562 กระทรวงสวัสดิการญี่ปุ่น เผยแพร่รายงาน ทารกเกิดใหม่ ซึ่งเป็นอัตราที่วิกฤติหนัก มีจำนวนลดลงประมาณ 5.9% หรือน้อยลงต่ำกว่า 9 แสนคน โดยนักวิเคราะห์มองว่า ตัวเลขทารกเกิดใหม่ที่ลดลง ย่อมส่งผลความตึงเครียดต่องบประมาณรัฐที่นำมาดูแลผู้ที่สูงอายุของญี่ปุ่น และยังกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นด้วย

 

นอกจากนี้ ในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 512,000 คนนับเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 5 แสนราย ขณะที่มีทารกเกิดใหม่ 864,000 คน น้อยกว่าปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 918,400 คน

 

แต่นั้นก็ไม่ใช่วิกฤติเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำสุดในญี่ปุ่น เพราะในปี 2563 ที่มีการระบาดของโควิด-19 เด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงอยู่ที่ 840,832 คน และในปี 2564 ที่ผ่านมา อัตราการเกิดใหม่ในญี่ปุ่น ลดลงจากปีก่อนหน้า 24,407 คน 

 

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ เผยให้เห็นว่า แนวโน้มคนสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.34 ลดลง  0.02 จุดจากปี 2562 และจำนวนการแต่งงานลดลง 73,517 เป็น 525,490 

 

ขณะเดียวกัน ในปี 2565 (เฉพาะเดือนมกราคม - กันยายน) ญี่ปุ่น ทุบสถิติอัตราการเกิดต่ำสุด โดยจำนวนเด็กแรกเกิดเพียง 599,636 คน และมีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขสิ้นปีจะมีอยู่ราว 811,000 คน คิดเป็นปริมาณลดลง ร้อยละ 4.9

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประชากรญี่ปุ่นที่มีอยู่ราว 125 ล้านคน มีขนาดลดลงติดต่อกันมาต่อเนื่องถึง 14 ปี และคาดว่า ภายในปี 2603 ญี่ปุ่นจะมีประชากรเหลือเพียง 86.7 ล้านคน ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานลดลงและประชากรผู้สูงอายุมีมากขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ 

 

ญี่ปุ่นแก้ปัญหาอย่างไร 

 

ในปี 2562 ยุคของ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูก โดยให้เด็กอายุ 3-5 ปีเรียนอนุบาลฟรี ไม่มีค่าเทอมหากเข้าโรงเรียนรัฐบาล แต่หากเรียนในโรงเรียนเอกชน รัฐก็จะช่วยอุดหนุนเงินที่ 37,000 เยน หรือประมาณ 10,660 บาทต่อคน

 

นอกจากนั้น เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีในครอบครัวผู้มีรายได้น้อย รัฐจะให้เงินช่วยเหลืออุดหนุน 42,000 เยน หรือประมาณ 12,101 บาทต่อคนเพื่อเข้าศูนย์รับเลี้ยงเด็ก อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2562 เป็นต้นไป 

 

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงญี่ปุ่นสามารถเข้ามาอยู่ในตลาดแรงงานเพื่อช่วยขับดันเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า วีเมนโนมิกส์ พบว่า อัตราของผู้หญิงทำงานที่มีอายุระหว่าง 30-34 ปี เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 75.2% ขยับขึ้นจาก 3 ทศวรรษที่แล้วซึ่งมีเพียง 50% ขณะที่อัตราการเข้าร่วมในแรงงานของผู้หญิงอายุระหว่าง 15-64 ปีเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 69.4% อันสะท้อนว่า นโยบายดังกล่าวตอบสนองดีต่อเป้าหมายที่วางไว้ 

 

ครอบครัวคนไทยไร้บุตร แนวโน้มสูง

 

หนึ่งในความท้าทายของสังคมไทย เมื่อเด็กเกิดใหม่น้อยลง คือ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้บุตรหลาน” จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานฃองประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ ปี  2549 ถึง 2561 พบว่า

  • โครงสร้างของครัวเรือนที่ “ไร้บุตรหลาน” มีสัดส่วนที่สูงขึ้น
  • ในปี 2561 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 37.4 ของครัวเรือนทั้งหมด (เพิ่มจากร้อยละ 26.1 ในปี 2549) ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโต ที่สูงถึงร้อยละ 43.3

 

โดยโครงสร้างของครัวเรือนที่ไร้บุตรหลาน ประกอบด้วย ครอบครัวที่สามีและภรรยาไม่มีบุตร  และ ครอบครัวที่ผู้ชายหรือผู้หญิงอยู่คนเดียวและไม่มีบุตร

 

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ครอบครัวทั้ง 2 รูปแบบ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ครอบครัวที่ผู้ชายหรือผู้หญิงอยู่คนเดียวและไม่มีบุตร มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอย่างชัดเจน โดยสาเหตุหลักของการเกิดสังคมไร้บุตรหลานนั้นเกิดจากการที่สังคมไทยมีแนวโน้มการมีบุตรในจำนวนที่ลดลงเป็นอย่างมาก

 

ดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงคลอด แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย

 

อัตราการเกิดน้อย ส่งผลให้โครงการประชากรเปลี่ยน สัดส่วนคนสูงวัยต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้น จำนวนคนเสียภาษีน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่องบประมาณของประเทศในอนาคต ทำให้ กระทรวงสาธารณสุข ต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางโรดแมป ดูแลตั้งแต่การตั้งครรภ์จนถึงคลอด เช่น

  • การสร้างทัศนคติการมีลูกให้กับคนรุ่นใหม่
  • สิทธิการลาคลอด
  • มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเด็ก 0-5 ปี
  • รวมไปถึงช่วยเหลือผู้มีภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษา

 

ทางออกยุคเด็กไทยเกิดน้อย

 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เสนอทางออกแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดน้อยด้วยการให้รัฐบาลประกาศนโยบายประชากร รณรงค์ให้ครอบครัวที่มีความพร้อมมีบุตรครอบครัวละไม่น้อยกว่า 2 คน เป็นไปด้วยความสมัครใจ มีการวางแผนและมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมถึง มีการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภาวะมีบุตรยาก ให้เข้าถึงบริการได้เร็วขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนมาตรการหลัก 4 เรื่อง คือ 

  • เสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมแก่คนรุ่นใหม่ ในการสร้างครอบครัวและมีบุตรในวัยอันควร 
  • ผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0-5 ปี
  • ส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน ในเวลากลางวันที่พ่อแม่จะต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพ
  • ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษาในอายุที่น้อยลงเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้น

 

เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เด็กเกิดใหม่ทุกคน

 

ด้าน "ดร.สมชัย จิตสุชน" ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  กล่าวว่า สถานการณ์เด็กเกิดใหม่น้อย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากที่ทุกหน่วยงานต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพราะในทุกวันมีเด็กเกิดใหม่ และเด็กเกิดใหม่ทุกคนต้องมีคุณภาพ เติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องไม่ทิ้งไว้ข้างหลัง  หากเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ไม่ได้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ สังคมประเทศชาติก็จะสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่ดีในการพัฒนาประเทศ 

 

"ตอนนี้หากไม่มีการพัฒนาดูแลเด็กเกิดใหม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จะเท่ากับเสียต้นทุนในการพัฒนาประเทศ ต้องทำเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว และต้องดูแลเด็กเกิดใหม่ทุกคน ยิ่งในสังคมผู้สูงอายุ อัตราการพึ่งพิงสูงขึ้น เด็กที่จะโตไปวัยแรงงานไม่มีคุณภาพ ประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป รวมถึงกับดักรายได้ปานกลาง ต้องยอมรับว่าคนไทยยังมีคุณภาพไม่มากพอ ทำให้ประเทศขยับไปไหนไม่ได้ และทำให้ประเทศกำลังพัฒนา อย่าง เวียดนาม ซึ่งเขาได้มีนโยบาย แนวทางในการพัฒนาคนอย่างดีมาก มีการอุดหนุนเงินแรกเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้การเลี้ยงดูเด็กมีคุณภาพมากขึ้น แต่ไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น" ดร.สมชัย กล่าว

 

สำหรับ แนวทางในการแก้ไขปัญหา "เด็กเกิดใหม่น้อย" ดร.สมชัย แนะดังต่อไปนี้

  • ประเทศไทยต้องมีงบประมาณที่เพียงพอในการดูแลเด็กเกิดใหม่ทุกคน
  • ควรมีการขยายเงินอุดหนุนเด็กเกิดใหม่ตั้งแต่ในครรภ์ของแม่ เพราะให้เงินอุดหนุนบุตรในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ เนื่องจากแม่หลายคนไม่มีงานทำ ไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงดูลูกให้ได้
  • ควรมีการขยายความคุ้มครองในการดูแลเด็ก แม่ และครอบครัว
  • ภาครัฐ หรือสังคมโดยรวม ต้องหางบประมาณ หรือทรัพยากรในการดูแลเด็กอย่างเต็มที่ 
  • การแก้ปัญหา เด็กเกิดใหม่น้อย ต้องร่วมมือกัน หลายภาคส่วนต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน