“บิ๊กคอร์ป” รับมือ “เด็กเกิดน้อย” ใช้เทคโนโลยี-จ้างพนักงานต่างชาติ
“บิ๊กคอร์ป” เตรียมแผนรับมือแรงงานน้อยลง “ซีพีเอฟ” ชี้อัตราการเกิดลดไม่กระทบจ้างงาน ลุยใช้เทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติ แนะอนาคตเปิดเสรีแรงงาน ดึงคนมีศักยภาพมาทำงาน "ปตท." เปิดกว้างรับพนักงานต่างชาติ มั่นใจมีงานตรงใจคนรุ่นใหม่ "เอไอเอส" พัฒนายกระดับคนคู่เทคโนโลยี
จำนวนเด็กเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 และปี 2564 มีประชากรเกิดใหม่เพียง 544,570 คน อนาคตจะเข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง ทำให้บริษัทที่มีอัตราการจ้างงานสูงได้เตรียมแผนรองรับเพื่อต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจต่อ
โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยจำนวนแรงงานในตลาดที่ลดลง รวมถึงเปิดกว้างจ้างพนักงงานต่างชาติที่มีศักยภาพให้เข้ามาร่วมงาน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการขยายการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงมีการทำตลาดในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
หากพิจารณาโครงสร้างแรงงานจำแนกอายุจะเห็นสถิติกลุ่มแรงงานที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี และทำให้ในปี 2563 มีจำนวน 4.55 ล้านคน ในขณะที่แรงงานกลุ่มอายุ 15-59 ปี มีสถิติลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 และในปี 2563 มีจำนวนแรงงาน 33.1 ล้านคน
ปตท.เปิดกว้างแรงงานต่างชาติ
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกกำลังอยู่ในสู่ยุคสังคมสูงวัย ซึ่งเกิดจากเด็กเกิดน้อยและอายุยืนขึ้น โดยในปี 2100 ประชากรที่อายุเกิน 60ปี อาจจะมีมาก 30% ของโลก รวมถึงในอาเซียนพบว่าไทยอาจเป็นประเทศกลุ่มแรกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเอเชียมีประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นประเทศรวย หากไทยไม่เปลี่ยนการย้ายการลงทุนอาจจะมองข้ามประเทศไทยไปประเทศที่ตลาดมีกำลังซื้อมากกว่า หรือมองประเทศที่มีกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงาน
รายงานข่าวจาก ปตท. ระบุว่า ปตท.มีกระบวนการสรรหาและคัดเลือกอยางเป็นระบบ โดยประชาสัมพันธ์รับสมัครงานผ่านช่องทางต่างๆ ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ได้ผู้สมัครที่หลากหลาย รวมทั้งมีหน่วยงานทรัพยากรบุคคลระดับธุรกิจร่วมกับหน่วยธุรกิจ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการอัตรากำลังกำหนดขีดความสามารถทําแผนสรรหาบุคลากร คัดเลือกผู้สมัครที่มีศักยภาพให้ทันต่อความต้องการธุรกิจ
ส่วนแนวทางการคัดเลือก โดยมองหาบุคคลที่มีความหลากหลายเพื่อเข้ามาร่วมผลักดันภารกิจที่มีความท้าทาย โดยพิจารณาจากคุณสมบัติทั้งในด้าน Organization Fit ได้แก่ วุฒิ เกรดเฉลี่ย ผลการศึกษา คะแนน Aptitude Test ประสบการณ์ทำงาน และ Job Fit Assessment ซึ่งได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้สมัคร โดยให้น้ำหนักและความสำคัญของทั้งสองด้านเท่ากัน
มั่นใจมีงานตรงใจคนรุ่นใหม่
ถึงแม้ว่าแนวโน้มอัตราการเกิดใหม่จะลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้จำนวน Supply ตลาดแรงงานในภาพรวมอาจจะได้รับผลกระทบ แต่ทิศทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท.ในอนาคตที่มุ่งไปสู่การสรรหาพลังงานเพื่อรองรับทางเลือกใหม่หรือธุรกิจใหม่ รวมถึงธุรกิจทางด้าน Life Science และ IA & Robotic ที่มีความสอดคล้องกับผลิตผลของตลาดแรงงานในปัจจุบัน รวมทั้ง มีช่องทางการเปิดรับสมัครงานที่หลากหลายเข้าถึงง่ายและเปิดโอกาสให้กับผู้สมัครรุ่นใหม่ที่สนใจได้เข้ามาสมัครงานกับ ปตท.มากขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถ กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ มีมุมมองหลากหลาย ปตท.จึงดึงศักยภาพคนรุ่นใหม่ในแต่ละด้านมาช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานและโครงการต่างๆ และได้ปลูกฝังค่านิยม SPIRIT ซึ่งเป็นค่านิยมของการเป็น คนเก่ง คนดี มีคุณธรรม มาช่วยสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ปตท.จึงคาดหวังว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะนำพาองค์กรไปสู่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
CPF ใช้เทคโนฯ แทนคน
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปัญหาอัตราการเกิดน้อยลงในสังคมไทยไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างจ้างงานของซีพีเอฟ เพราะได้ปรับเปลี่ยนนำเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจ้างงานของซีพีเอฟจะพิจารณาตามศักยภาพที่เหมาะสมกับงานแต่ละอย่าง โดยปัจจุบันมีแรงงานประมาณ 1 แสนคน เป็นการจ้างงานในประเทศ 72,000 คนและต่างประเทศ 50,000 คน
ในอนาคตคาดว่าทั้งไทยและต่างประเทศจะเปิดเสรีทางด้านแรงงานมากขึ้น เปิดกว้างให้แรงงานต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทยและเปิดให้แรงงานไทยออกไปทำงานในต่างประเทศ เพราะแรงงานแต่ละพื้นที่จะมีความถนัดที่ต่างกัน จะทำให้นายจ้างสามารถคัดเลือกแรงงานได้ตรงกับงานมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน อย่างคนไทยเก่งด้านงานบริการมาก แต่ไมชอบงานทำซ้ำ ก็สามารถเลือกงานที่เหมาะสมกับตนเองได้
“แรงงาน ซีพีเอฟ มีความหลากหลายตามโครงสร้างการผลิต ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในส่วนของแรงงานขั้นพื้นฐาน แต่โดยรวมแล้วยังเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งอัตราการเกิดที่ลดลงอาจส่งผลกระทบกับอัตราการบริโภคก็ได้ เรื่องนี้ต้องศึกษา แต่ในกลุ่มธุรกิจอาหารก็พัฒนา ศึกษาวิจัย เพื่อปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสม่ำเสมอ” นายประสิทธิ์ กล่าว
‘เอไอเอส’ยกระดับ “คนคู่เทคโน”
นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และกลุ่มอินทัช กล่าวว่า ตลาดแรงงานปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และการเปลี่ยนผ่านมีความซับซ้อนมากกว่าแค่เรื่องโควิด-19 ที่ต้องมีการทำงานที่ Flexibility มากขึ้น คนต้องทำงานได้ง่ายขึ้น แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้นปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนเอไอเอส คือ 36 ปี
ในอนาคตอาจเห็นการจ้างงานเปลี่ยนไป พนักงานประจำอาจลดลง การจ้างงานแบบโปรเจคหรือแบบอิสระอาจเพิ่มขึ้น เพราะพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ต้องการความอิสระทางความคิดและต้องการพื้นที่แสดงศักยภาพ
“คนยังเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร การยกระดับ ความสามารถของคนควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในงานที่เป็นงานประเภท Routine และให้คนได้ขยับขึ้นไปทำงานที่มีคุณค่า และความซับซ้อนเกินกว่าที่เทคโนโลยีจะทำแทนได้ เป็นเป้าหมายหลักขององค์กรในการพัฒนาคน" นางสาวกานติมา กล่าว
ขณะเดียวกันการปรับแนวการทำงานให้มีความสอดคล้องกับคนในยุค ดิจิทัล คนรุ่นใหม่ เป็นอีกเป้าหมายที่สำคัญ โดยอาศัยความเสียสละคนผู้บริหารและรุ่นพี่ๆ ที่ต้องปรับตัวมาก และบางทีต้องปรับมากกว่าคนรุ่นใหม่ เพื่อให้องค์กรพร้อมที่จะเป็นที่ทำงานสำหรับคน Next Gen
สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องรับมือการเปลี่ยนแปลง คือ การปรับองค์กรเป็น Flat Organization หรือบริหารจัดการแบบลดลำดับขั้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งการสร้างความเข้าใจให้คนในองค์กรเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ต้องอาศัยเวลา และความร่วมมือสร้างอิสระ แต่ประสิทธิภาพของงานไม่ตก
พัฒนาคนแบบผสมผสาน
สำหรับแนวทางการพัฒนาคนของเอไอเอส จะเน้นใช้ระบบผสมผสาน เพราะการอบรมแบบเดิมหรือการฝึกปฎิบัติงานไปพร้อมการทำงานจริง หรือ On Job Training (OJT) ไม่เพียงพอตอบสนองโลกที่มีความรวดเร็วและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาต้องเกิดจากทั้ง 2 ฝ่าย คือ องค์กร ในเรื่อง Access ให้คนเข้าถึงองค์ความรู้ที่ต้องการอย่างเสมอภาคภายใต้การควบคุมค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล และเทคโนโลยีช่วยได้มาก
ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง คือ ตัวพนักงานเองในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่รอการป้อนแต่จะเห็นความต้องการการใฝ่รู้ที่มากขึ้นทั้งด้าน Technical และขาดไม่ได้คือ Soft Skills เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีนั้น ทำให้จุดแข็งของความสัมพันธ์ในองค์กรมีบริบทที่เปลี่ยนไป จึงมีความจำเป็นโดยเฉพาะด้านการบริหารในบริบทที่ต่างจากเดิม
นางสาวกานติมา กล่าวว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤติโควิด-19 แบบนี้ การลดค่าใช้จ่ายหรือการเลิกจ้างถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น แต่องค์กรต้องไม่ลดการลงทุนด้านคน และต้องไม่ลืมว่าถ้าไม่ลงทุนด้านคน องค์กรก็ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ องค์กรไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นทักษะของคนยังมีความจำเป็นเสมอ