CPF "ใช้เทคโนโลยี-อัพทักษะ" ทดแทนขาดแคลนแรงงานไทย
จากการประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติตั้งแต่ปี 2513 ทำให้จำนวนการเกิดปี 2562 ลดต่ำกว่า 600,000 คน เป็นครั้งแรก ล่าสุดเหลือเพียง 544,570 คน อัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ลดเหลือแค่ 1.3 ในปี 2564
ข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียง ร้อยละ 12.8 วัยทำงาน ร้อยละ 56 และวัยสูงอายุ ร้อยละ 31.2 ทำให้ภาระพึ่งพิงวัยแรงงานเพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน นับเป็นภาระหนักของวัยแรงงาน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว หรือบุตร
นอกจากนี้ จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงนี้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคง อีกทั้ง ยังส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชาชนไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ และเกิดสังคมไร้ลูกหลาน ความอบอุ่นในครอบครัวขาดหายไป เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้
- ยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย
วันนี้ (17 ก.พ.2565) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อก้าวไปอย่างยั่งยืน” กับทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนบริหารการจัดการแรงงานในห่วงโซ่การผลิตกุ้งตามมาตรฐานแรงงานไทย รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานสู่มาตรฐานสากล อีกหนึ่งความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพแรงงานของไทย
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการปฎิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน พัฒนาสถานประกอบการให้มีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดี เทียบได้กับมาตรฐานแรงงานสากล
- เพิ่มทักษะแรงงานไทยและต่างชาติ
โดยCPF ตั้งเป้าผลักดันให้ทุกธุรกิจ รวมถึงธุรกิจกุ้งครบวงจร ซึ่งมีสถานประกอบกิจการฟาร์มและโรงงานกว่า 200 แห่งทั่วประเทศสามารถได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานภายในปี 2565 นี้ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานและสภาพการจ้างงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action
"กลุ่มธุรกิจCPFมีแรงงานทั้งในไทยและต่างประเทศ ประมาณ 130,000 คน โดยในประเทศไทย มีบุคลากรในองค์กรทั้งหมด 75,000 คน และมีแรงงาน 50,000 คน ซึ่งในจำนวนแรงงาน 50,000 คน เป็นแรงงานต่างชาติ ประมาณ 10,000 คน ซึ่งในส่วนของกลุ่มธุรกิจกุ้งครบวงจรนั้นมีจำนวน 75แห่ง มีลูกจ้าง 6,000 คน มีการสร้างโรงงานผลิตกุ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังการผลิต 180,000 ตัน/ปี เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก” ประสิทธิ์ กล่าว
CPF จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะ และมาตรฐานแรงงานไทยด้วยการบริหารจัดการต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม โดยมีการนำระบบมาตรฐานแรงงานไทย หรือ มรท.8001 มาดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากร แรงงานทุกคน
- วางแผนรับมือขาดแคลนแรงงาน
พิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหาร ทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต่อว่าCPF ได้มีการทำแผนรองรับไว้แล้วหากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากร หรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเริ่มกำหนดการพัฒนาศักยภาพให้แก่แรงงานของเรา
ตอนนี้ได้มีการเพิ่มเติมทักษะที่จำเป็นสำหรับพนักงานมาอัพสกิล รีสกิล และมีการเทรนด์ที่เป็นรูปธรรม CPF เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านการเทรนนิ่งอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็น การเรียนรู้ผ่านการปฎิบัติ ขณะที่ทักษะใหม่ ๆ เช่น ดิจิตอล มีการเพิ่มเติมให้พนักงานในปัจจุบัน
- “แรงงานเกษตร” ขาดแคลนมากสุด
พิมลรัตน์ กล่าวด้วยว่า CPF มีพนักงานประมาณ 75,000 คน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการลดจำนวนพนักงาน เนื่องจากมีการขยายการเติบโตของธุรกิจโดยมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า โดยสายงานกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม แรงงานไทยมักจะไม่มาทำงานด้านนี้ ส่วนใหญ่ทำงานด้านการบริการเป็นหลัก
ดังนั้น การขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร มีปัญหามานาน โดยในส่วนทดแทนแรงงานไทยนั้น นอกจากแรงงานต่างชาติแล้ว CPF ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาตรฐานสากลมาใช้ หุ่นยนต์ ยิ่งเมื่อเกิดโควิด-19 แรงงานลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารการนำเทคโนโลยีมาใช้ก็ช่วยทดแทนแรงงาน และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อได้
- ภาครัฐปลดล็อกระเบียบเอื้อแรงงานต่างชาติ
CPF ได้ดำเนินการร่วมกับทางกระทรวงแรงงาน และหลายๆ กระทรวง ในการร่วมแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยส่วนหนึ่งจะมีการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาใช้มากขึ้น และอีกส่วนจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น
พิมลรัตน์ กล่าวต่อไปว่า การนำแรงงานต่างชาติมาใช้ เป็นส่วนสำคัญที่ภาครัฐต้องเข้ามากำหนดมาตรการ เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น เพราะในปัจจุบัน มีกฎระเบียบบางอย่าง
เช่น การที่แรงงานต่างด้านต้องมารายงานตัวทุกๆ 90 วัน ควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้ง่ายมากขึ้น และจะมีระบบอื่นควรมาตรวจสอบได้หรือไม่ ทำไมในต่างประเทศไม่ต้องให้แรงงานต่างชาติมารายงาน ซึ่งกฎระเบียนเหล่านี้ หากได้รับการปรับปรุงจะช่วยให้ดึงดูดแรงงานต่างด้าวมาในไทยมากขึ้น
- เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีแก่แรงงานไทย
“แนวนโยบายของCPF ได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีมาดำเนินการในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การบริหารจัดการฟาร์ม หากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก็สามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค หรือการติดเชื้อต่างๆ ได้ และการทำสมาร์ทฟาร์มเมอร์”พิมลรัตน์ กล่าว
แรงงานไทยต้องปรับตัว และมีการเรียนรู้เทคโนโลยีที่มาใช้ในการเกษตร มีทักษะด้านภาษา การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะแรงงานไทยมีความละเอียด ประณีต และทำงานที่ใช้ทักษะเฉพาะทางจะทำได้ดี แต่อาจต้องเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยี มีความเข้าใจในเชิงเทคนิค และ AI
พิมลรัตน์ กล่าวอีกว่าทุกคนในองค์กรต้องมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่หยุดพัฒนาตนเองเพราะแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน แถบเอเชียมีทักษะด้านเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ ประมาณ 6-7% แต่แรงงานไทยมีทักษะเหล่านี้ เพียง 1% เพราะฉะนั้น เป็นช่องว่างที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยเพิ่มให้แก่แรงงานไทย
- เปลี่ยนระบบให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่
แม้เทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ถูกมองว่าไม่อยากเป็นแรงงาน ลูกจ้างใคร อยากเป็นผู้ประกอบการ แต่สำหรับ CPF ซึ่งได้มีการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานพิมลรัตน์ กล่าวว่า จากการได้สัมผัสคนรุ่นใหม่ซึ่งแต่ละปี มีการรับเถ้าแก่น้อย 1,500-2,000 อัตรา พบว่าพวกเขามุ่งมั่น ทุ่มเทมาก โดยส่วนมองว่าถ้าคนรุ่นใหม่เห็นเป้าหมายชัดในการทำงานของตนเอง ทำแล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ตัวเขาและสังคมได้ คนกลุ่มนี้จะสู้งานมาก
การจะให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในองค์กร จึงอยู่ที่ระบบขององค์กรเองว่าให้อิสระแก่พวกเขาในการคิด การนำเสนอ การทำงานหรือไม่ ถ้าระบบพร้อมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ไม่ต่างจากคนรุ่นอื่นๆ อยู่ที่การตั้งเป้าหมายและการวางระบบให้แก่คนรุ่นใหม่
“ระบบงานแบบเดิมๆเข้างาน 8 โมงเช้า 5 โมงเย็นเลิกงาน อาจจะไม่เหมาะกับเด็ก เพราะสิ่งที่ทุกคนบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่อดทน จริงๆ เขาอาจจะเข้ากับระบบขององค์กรนั้นๆ ไม่ได้ หากองค์กรสร้างระบบใหม่ ให้ถึงศักยภาพของเด็กเป็นหลัก องค์กรก็จะได้ประโยชน์ ได้แนวคิดใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ และเปิดให้เขาอิสระในการใช้ความคิด” พิมลรัตน์ กล่าว
ถ้าสถานประกอบการทำให้แรงงาน พนักงานมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนแรงงาน อย่าง ตอนนี้เท่าที่ได้มีการหารือกับทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่าหลักสูตรของหลายๆ มหาวิทยาลัยมีการปรับตัว ไม่ได้รองรับเฉพาะเด็ก18-22 ปี แต่ทุกคนสามารถไปเรียนรู้ได้ อัพสกิล รีสกิลใหม่ ผู้ประกอบการ ต้องบริหารจัดการแรงงานว่า แรงงานกลุ่มไหน ต้องเพิ่มทักษะอะไร ต่อยอดด้านไหน หรือดึงคนเกษียณอายุมาทำงานแต่ต้องเลือกงานใหม่เหมาะ
- เร่งสร้างมาตรฐานแรงงาน อัพคุณภาพงาน
สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นยุคของการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และมีการนำมาตรฐานแรงงานมาเชื่อมโยงกับการค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานให้ดีขึ้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถ ในการแข่งขันที่สูงขึ้น รองรับการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
นายสุเทพ กล่าวต่อว่าก.แรงงานจะมีความร่วมมือกับหลายๆ บริษัท เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงานของไทย อย่าง การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างทั้งสองหน่วยงานโดยเฉพาะเครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจกุ้งแบบครบวงจรในประเทศไทย เป็นการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาสถานประกอบกิจการ และห่วงโซ่อุปทานตลอดสายการผลิต
เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน โดยปฏิบัติสอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย ส่งผลให้มีกลุ่มธุรกิจเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน สินค้าบริการได้รับการยอมรับจากลูกค้าว่าผลิตสินค้าได้อย่างมีจริยธรรมและปราศจากการค้ามนุษย์
- ความร่วมมืออัพศักยภาพแรงงานไทย
ทั้งนี้ สาระสำคัญของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ก็เพื่อที่จะให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจกุ้งครบวงจร เขตประเทศไทย และสถานประกอบกิจการในห่วงโช่อุปทาน ได้ประสานความร่วมมือรณรงค์ส่งเสริม ตระหนักและเห็นความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน และนำมาตรฐานแรงงานไทยมาปฏิบัติ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
ตลอดจนความร่วมมือในการพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงานไทยและนำมาใช้บริหารจัดการแรงงานในสถานประกอบกิจการอย่างมีความรับผิดชอบทางสังคม และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ เข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย
นอกจากนี้ ในแต่ละฝ่ายยังสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงานไทยในสถานประกอบกิจการให้ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งสามารถขอรับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยหรือประกาศแสดงตนเองและสามารถธำรงรักษาระบบมาตรฐานแรงงานไทยไว้อย่างยั่งยืน
รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานอย่างมีความรับผิดชอบทางสังคม สนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้านมาตรฐานแรงงานไทยร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานด้วยระบบมาตรฐานแรงงานไทยอีกด้วย