เล็งแก้ กม. “อุ้มบุญ” เปิดช่องจ้างท้องได้ แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย
สธ. หวั่น เด็กเกิดน้อยลง เร่งผนึกกำลังภาคีเครือข่าย หาทางออก ส่งเสริมการเกิดคุณภาพ ให้แต่ละครอบครัวมีลูก 2 คนขึ้นไป พม.หนุนข้าราชการลาคลอดได้ 6 เดือนพ่อลาเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วัน สบส. ลุยแก้กฎหมาย “อุ้มบุญ” เปิดช่องต่างชาติมาทำในไทย-หญิงไทยรับจ้างท้องได้
องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้ ภาวะมีบุตรยาก เป็นโรคที่ได้รับการรักษา ในขณะนี้ประเทศไทยมีอัตราเด็กเกิดน้อยหลังจากประกาศใช้นโยบาย วางแผนครอบครัวแห่งชาติมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2513 ส่งผลให้จำนวนการเกิดปี 2562 ลดต่ำกว่า 600,000 คนเป็นครั้งแรก จนถึงปัจจุบันจำนวนการเกิดเหลือเพียง 544,570 คน ซึ่งเป็นการลดลงต่ำที่สุด นับจากการประกาศนโยบายวางแผนครอบครัวอย่างเป็นทางการ
เช่นเดียวกับ อัตราเจริญพันธุ์รวม หรือ TFR ที่ลดต่ำลงเหลือเพียง 1.3 ในปี 2564 จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคง หากไม่มีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเพราะจากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียง 12.8% วัยทำงาน 56 % ในขณะที่วัยสูงอายุจะมีสัดส่วนสูงถึง 31.2% ทำให้ภาระพึ่งพิงวัยแรงงานเพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน
เมื่อเร็วๆนี้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแถลงข่าว “ทางออกประเทศไทย ในยุคเด็กเกิดน้อย” โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ในอนาคต ไม่ว่าประชาชนจะเลือกอยู่เป็นโสด มีบุตร ไม่มีบุตร เพราะผลกระทบนี้จะส่งผลต่อทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดที่มีคุณภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่ไร้ลูกหลาน ผู้สูงอายุดูแลกันตามลำพัง ภาระพึ่งพิง ที่มีต่อวัยทำงานสูงขึ้น
จึงเสนอให้รัฐบาลหันมาลงทุนในมนุษย์ โดยเฉพาะการลงทุนในเด็ก ซึ่งมีความคุ้มค่าสูงสุด แทนการมุ่งเน้นเรื่องการบริโภคของประชากรแต่ละครอบครัว เพื่อลดความกังวลใจในการเลี้ยงดูบุตร ลดภาระค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพให้กับประชาชน ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องการมีบุตร โดยไม่เลือกปฏิบัติ เข้าใจความหลากหลายทางเพศ และสิทธิมนุษยชน ลงทุนในระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการหลุดจากระบบการศึกษา ภายใต้การประกาศนโยบายประชากร โดยให้คุณค่ากับเด็กทุกคน “เป็นลูกของรัฐบาล” ภายใต้หลักการสำคัญ 2 ประการ คือ การมีส่วนร่วม และ การเป็นเจ้าของร่วมกัน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จำนวนวัยแรงงานที่ลดลง จะส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชาชนไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ และเกิดสังคมไร้ลูกหลาน ความอบอุ่นในครอบครัวขาดหายไป ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ โดยรวมแล้ว จำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อประเทศในอนาคต ทั้งด้านโครงสร้างประชากร โครงสร้างครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรง
น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า เด็กเกิดใหม่ปีละ 6 แสนคน อยู่ในประกันสังคมราว 2.5 แสนคน เป็น 50 % ของประชากรคลอดบุตร ซึ่งสปส.ให้ความสำคัญหญิงตั้งครรภ์คุณภาพ เพิ่มสิทธิผู้ประกันตนกรณีคลอดบุตร เดิมจ่าย 2,500 เป็น 15,000 บาทต่อครั้งการคลอด เพิ่มสิทธิฝากครรภ์ที่รพ.เพื่อตั้งครรภ์คุณภาพ ในการตั้งครรภ์ที่ต่ำกว่า 12 ,28 และ 32 สัปดาห์ กรณีลาคลอดหยุดงาน 90 วัน จ่าย 50 % ของค่าจ้าง ค่าสงเคราะห์บุตร 800 บาท คราวละไม่เกิน 3 คน และมีโครงการตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการ เพื่อคัดกรองสุขภาพและส่งเสริมให้ผู้ประกันตนดูแลสุขภาพ เป็นต้น
นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม. จ่ายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ให้กับครอบครัวรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าแสนบาทต่อคนต่อปี เด็กได้รับสวัสดิการนี้ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ จ่าย 600 บาทต่อเดือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายพ่อแม่ ผู้ปกครองการเลี้ยงดูบุตร และเชื่อว่าจะส่งเสริมผู้ปกครองนำบุตรเข้ามาสู่บริการด้านสาธารณสุขมากขึ้น การรับคำแนะนำการเลี้ยงดูบุตรมีคุณภาพจากบุคลากรทางการแพทย์
ซึ่งจากการเชื่อมฐานข้อมูลนี้ ตั้งแต่ปี 2558 เข้าคลังข้อมูลสุขภาพ ทำให้เด็กที่รับเงินอุดหนุนเข้าสู่การคัดกรองพัฒนาการ 78 % ในจำนวนนี้พบว่า พัฒนาการสมวัย 95% อีกทั้งจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เป็นมาตรฐานกลางประเทศไทย เพื่อกำกับดูแลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัดทั่วประเทศ 5.4 หมื่นแห่ง เชื่อมั่นว่าเด็กที่ผู้ปกครองฝากไว้ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมครบถ้วนทุกมิติ
“ครม.ยังได้เห็นชอบกรณีแม่ลาคลอดของข้าราชการได้ 6 เดือน โดยได้รับค่าตอบแทน 50 % จากเดิม 4 เดือน หรือพ่อสามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วันด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อดำเนินการก่อนจะออกมาใช้ต่อไป” นางจตุพรกล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนมีลูกน้อย เพราะต้องทำงาน ไม่มีคนเลี้ยง ค่าใช้จ่ายต่างๆแพงมาก เช่น ค่าการศึกษา เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ทุกคนเรียนใกล้บ้านด้วยมาตรฐานใกล้เคียง อีกทั้ง คนรุ่นใหม่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องการมีห่วงมีภาระ หลายคนจึงไม่อยากแต่งงาน หรือไม่อยากมีบุตร ทั้งที่ ประเทศต้องการครอบครัวมีลูก2 คนขึ้นไปจึงจะทดแทนประชากรได้ แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 1.3 คน หากเป็นเช่นนี้ประชากรไทยจะอยู่ที่ 40 ล้านคนในอีกไม่กี่ปี ซึ่งการสนับสนุนของรัฐขณะนี้เป็นแบบระยะสั้นหมด ทำให้ไม่ได้ผล เพราะการเลี้ยงดูบุตรเป็นเรื่องระยะยาว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่าองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ได้รับการรักษา ในขณะนี้ประเทศไทยมีอัตราเด็กเกิดน้อย ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการเกิดคือการจัดสิทธิประโยชน์ให้สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก
ซึ่งต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่อาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือ พ.ร.บ. อุ้มบุญบางมาตราเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันในการรักษาภาวะมีบุตรยาก คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจะได้ข้อสรุป โดยประเด็นที่มีการหารือกันว่าจะมีการแก้ไข ให้ทำการอุ้มบุญในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง มีการค่าตอบแทนที่ชัดเจน ควบคุมกำกับติดตามระหว่างตั้งครรภ์ สถานพยาบาลที่ทำหัตถการ และฝากครรภ์ ติดตามหลังคลอด