สปสช. เล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์รักษาภาวะมีบุตรยาก

สปสช. เล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์รักษาภาวะมีบุตรยาก

สปสช. เล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์รักษาภาวะมีบุตรยาก ยกเว้นอุ้มบุญ เดินหน้าใครพร้อมมีบุตรต้องได้รับสิทธิการรักษา ส่วนหากใครไม่พร้อมมีบุตรต้องเข้าถึงการคุมกำเนิด

วันนี้ (6 ก.พ. 2565) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าสำหรับการจัดชุดสิทธิประโยชน์รักษาภาวะมีบุตรยาก เพื่อเสริมมาตรการกระตุ้นอัตราการเกิดในประเทศไทย หลังปัจจุบันอัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ในภาวะวิกฤตนั้น  ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันในเรื่องการวางมาตรการส่งเสริมการเกิด

อย่าง เรื่องการรักษาภาวะมีบุตรยาก คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเมื่อเดือน พ.ย.2564 ออกประกาศขอบเขตบริการใหม่ หรือสิทธิประโยชน์ใหม่ โดยเพิ่มการให้บริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากสามารถเบิกจ่ายได้ แต่ยังยกเว้นกรณีตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ)

 

  • ตั้งคกก.กำหนดสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างรอทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และกรมอนามัยส่งรายละเอียดว่าจะให้การรักษาครอบคลุมอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ต้องชัดเจน เพื่อที่สปสช.จะได้พิจารณาว่าพร้อมจะบรรจุในสิทธิประโยชน์ รวมถึงค่าใช้จ่าย  คาดการณ์คนเข้ารับการรักษา เพื่อจะได้จัดหางบประมาณมาสนับสนุน

ทั้งนี้  สิทธิประโยชน์ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะไม่รู้ว่ามีกี่แบบ เบื้องต้นเห็นในเอกสารประกอบการประชุมมีการยกตัวอย่าง IVF เด็กหลอดแก้ว แต่ต้องมาพิจารณา  จึงต้องมีคณะกรรมการขึ้นมากำหนดรายการให้ชัด

คาดว่าการพิจารณาคัดเลือกของสปสช.จะใช้เวลาไม่นาน หากส่งรายการเข้ามาถึงเราแล้ว โดยหากเป็นเทคโนโลยีที่เคยใรกันอยู่ มีการศึกษาความคุ้มค่าไว้แล้วก็ไม่นาน แต่หากเป็นเทคโนโลยีใหม่ อาจจะต้องใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะหากเสนอเข้ามาช่วงงบกลางปีก็ต้องไปดูว่าจะหาเงินจากที่ไหนได้บ้าง

 

  • วิกฤตปัญหาเด็กเกิดน้อยต้องเร่งแก้ปัญหา

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่าปัญหาเด็กเกิดน้อยตอนนี้เป็นวิกฤตที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหา และต้องมีมาตรการกระตุ้นการเกิด แต่คนก็ยังเข้าใจผิดว่าที่สปสช.แจกยาคุมกำเนิด แจกถุงยางอนามัยเป็นการควบคุมการเกิดนั้น ไม่ใช่เช่นนั้น นั่นคือกรณีที่ท่านไม่พร้อม

ปัจจุบันที่ทำมี 2 ขา คือ คนที่ไม่พร้อมจะมีบุตรนั้นก็ต้องเข้าถึงการคุมกำเนิด ส่วนคนที่พร้อมจะมีบุตร แต่มีบุตรยากก็จะต้องได้รับสิทธิในการรักษา เริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษา ตลอดจนการทำหัตถการต่างๆ ซึ่งก็รับลูกมาเพื่อดูว่าจะขยายสิทธิปะโยชน์เพิ่มเติมได้อย่างไร เพราะตอนนี้ยังไม่มี เชื่อว่าจะประกาศได้คงใช้เวลาไม่นานหากเร่งส่งเรื่องเข้ามาที่ สปสช.

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2545 มีข้อมูลประชาชนเข้ารับการปรึกษา รักษาภาวะมีบุตรยากน้อยมาก เพราะการรับรู้ ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีประชาชนสนใจและเริ่มสอบถามเข้ามามากขึ้น วันนี้ยังไม่รู้ว่ามีความต้องการจำนวนเท่าไหร่