“วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์” สปสช. ชวนคนไทยคัดกรอง 3 มะเร็งร้าย
“วันมะเร็งโลก” สปสช. ร่วมรณรงค์และจัดสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองมะเร็ง 3 รายการ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งช่องปาก ขอเชิญชวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกสิทธิรับบริการ ค้นหาผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้นก่อนลุกลาม เพิ่มโอกาสรักษาหายขาด
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งราว 20 ล้านคน เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญ สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control, UICC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) จึงกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันมะเร็งโลก" หรือ "World Cancer Day"
สถานการณ์โรคมะเร็งของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับทั่วโลก จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวน 139,206 คนต่อปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 84,073 คน ด้วยมะเร็ง บางชนิดสามารถรักษาได้หากตรวจพบในระยะแรกเริ่ม
ดังนั้น ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” นอกจากบริการรักษาโรคมะเร็งแล้วในปีงบประมาณ 2565 สปสช.ได้ขับเคลื่อนเชิงรุกในการให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งที่พบมากในประชากรกลุ่มเสี่ยง
- เช็คสิทธิในการรักษาและป้องกันโรคมะเร็ง
ภายใต้สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนี้ บริการตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก สาเหตุเกิดจากเชื้อเอชพีวี ตรวจพบสูงเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย แต่รักษาให้หายได้หากตรวจพบในระยะแรก โดยหญิงไทยทุกสิทธิ อายุ 30-59 ปี และอายุ 15 - 29 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน เป็นต้น
เข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ ด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ ตรวจและจี้ด้วยน้ำส้มสายชู (VIA) หรือ ตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV DNA Test ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูง โดย มีสิทธิรับบริการตรวจคัดกรองได้ 1 ครั้ง ทุกๆ 5 ปี โดยในปีงบประมาณ 2565 มีเป้าหมายบริการจำนวน 3,039,954 คน หรือร้อยละ 20 ของประชากรกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็งปากมดลูก สปสช. ได้ให้สิทธิประโยชน์แก่เด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.5 ทุกคนทั่วประเทศ ได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวี
บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง พบมากในประชากรไทยสูงเป็นอันดับที่ 4 หากตรวจพบระยะเริ่มแรกการรักษาก็จะได้ผลดี ในปี 2561 สปสช.บรรจุสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ โดยให้สิทธิแก่ประชาชนอายุ 50–70 ปี ได้รับการตรวจด้วยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT Test) จำนวน 1 ครั้ง ทุกๆ 2 ปี หากผลตรวจผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องและการเนื้อเยื่อส่งตรวจ
- ตั้งเป้าให้บริการร้อยละ 10 ของประชากร
โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายบริการ 1,727,030 ราย หรือร้อยละ 10 ของประชากรเป้าหมาย บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ที่บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิ ได้รับบริการคัดกรองปีละ 1 ครั้ง โดยในปี 2565 มีเป้าหมายบริการจำนวน 2,212,898 คน หรือร้อยละ 30 ของกลุ่มเป้าหมาย ใช้งบประมาณราว 29.21 ล้านบาท ทั้งนี้มะเร็งในช่องปากที่ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดหากตรวจพบและรักษาในระยะเริ่ม
นอกจากนี้ สปสช. อยู่ในระหว่างการศึกษาประสิทธิผลและความคุ้มค่า เพื่อพิจารณาบรรจุการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ได้หมั่นตรวจคลำเต้านมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติ ให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใกล้บ้าน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า บริการตรวจคัดกรองมะเร็งนี้ย้ำว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช.ดูแลคนไทยทุกสิทธิทั้งสิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ สปสช.ขอเชิญชวนประชาชนตามกลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการตรวจคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยงก่อนที่มะเร็งจะลุกลาม โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“มะเร็งเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ทั้งเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา โดยเฉพาะในภาวะที่โรคลุกลามแล้ว บริการตรวจคัดกรองจึงเป็นมาตรการสำคัญที่ สปสช.ดำเนินการ เพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้นและให้ได้รับการรักษาโดยเร็ว นอกจากเพิ่มโอกาสที่จะหายขาดแล้วยังลดค่าใช้จ่ายและงบประมาณประเทศในการรักษาโรคมะเร็ง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว