เช็ค! ซีด อ่อนเพลีย หน้าแดงมาก เสี่ยง "มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก"

เช็ค! ซีด อ่อนเพลีย หน้าแดงมาก เสี่ยง "มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก"

“มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก Myeloproliferative Neoplasms (MPN)” แม้อาจจะพบน้อย แต่ก็มีความร้ายแรงไม่แตกต่างจากโรคมะเร็งอื่นๆ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็เสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน 

ประเทศไทยพบผู้ป่วยเกือบ 2,000 คน โดยพบโรคเลือดข้นและโรคเกล็ดเลือดสูงประมาณ 1-3 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี พบบ่อยในผู้สูงอายุ 50-70 ปี ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบน้อย เนื่องจากอาการเริ่มแรกไม่มี คนไข้อาจจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคดังกล่าว

เช็ค! ซีด อ่อนเพลีย หน้าแดงมาก เสี่ยง \"มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก\"

ดร.นพ.อาจรบ คูหาภินันทน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึง “มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก หรือ MPN” ว่า โรคดังกล่าว เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือด นำไปสู่การผลิตเซลล์เม็ดเลือดมากเกินปกติอย่างรวดเร็ว

โดยนอกจากนี้ยังมีชนิดของเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติและอุบัติการณ์ของโรค ได้แก่โรคเลือดข้น (PV) คือร่างกายมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ โรคเกล็ดเลือดสูง (ET) ร่างกายมีการผลิตเกล็ดเลือดมากกว่าปกติ และโรคพังผืดในไขกระดูก (MF) มีการสร้างพังผืดในไขกระดูก ซึ่งส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ

 

  • สังเกตอาการของโรคMPN

“โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม เพราะแม้ตรวจสอบพันธุกรรมมีความผิดปกติของยีน แต่ก็มีความจำเพาะของโรค และไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ไม่ส่งผลจากพ่อแม่สูงลูก ซึ่งในผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะพบการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเองในภายหลัง ซึ่งโรคนี้มีปัจจัยหลายอย่างของตัวโรค และมีตัวโรคย่อย โดยอาการที่แสดงของโรคจะแตกต่างกันแม้จะอยู่ในสภาวะโรคเดียวกัน”ดร.นพ.อาจรบ กล่าว

ที่รพ.ศิริราช พบผู้ป่วยประมาณ 400-500 คน ซึ่งผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการแต่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น กรณีผู้ป่วยที่มีโรคเม็ดเลือดขาวสูง จะอ่อนเพลีย เหนื่อย ท้องโต ม้ามโต อาจจะไปตรวจโรคแล้วพบความผิดปกติ หรือคนไข้คลำบริเวณท้องและรู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในท้อง หรือกรณีผู้ป่วยมีเม็ดเลือดแดงสูง มีอาการหน้าแดง และเมื่อไปตรวจอาจจะเป็นเส้นเลือดอุดตัน ขณะที่ โรคพังผืดในไขกระดูก โรคนี้อันตรายมากสุด และมักมีอาการซีดเพลีย เป็นอาการไม่สบายตัว ปวดเมื่อยเพลีย ผอมลงน้ำหนักลด ม้ามขนาดใหญ่ เป็นต้น

เช็ค! ซีด อ่อนเพลีย หน้าแดงมาก เสี่ยง \"มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก\"

“ความหลากหลายของอาการโรค ทำให้ผู้ป่วยชนิดย่อยของโรค จะพบในกลุ่มผู้สูงอายุ เกิน 50 ปีขึ้นไป แต่ก็มีส่วนน้อยที่จะพบในอายุน้อยๆ ดังนั้น โรคนี้ไม่เกี่ยวกับโรคอื่นๆ ใครที่เป็นโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเสี่ยงเป็นมะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก แต่หากเป็นมะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้โรคเรื้อรังต่างๆ ที่เป็นอยู่อาการจะทรุดได้ง่าย ฉะนั้น การดูแลรักษาโรคนี้จึงสำคัญอย่างมากที่ต้องรักษาให้ถูกวิธี และตรงกับชนิดของโรค”ดร.นพ.อาจรบ กล่าว

 

  • วิธีดูแลรักษาโรคเลือดชนิดหายาก

ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ การดูแลรักษาจึงต้องเป็นไปตามชนิดของโรค ดร.นพ.อาจรบ กล่าวว่าการรักษาโรคนี้ในประเทศไทย ประชาชนสามารถใช้สิทธิบัตรทอง และบัตรประกันสังคมได้ โดยการรักษา จะใช้ยาในการรักษา เช่น ใช้ยา Chronic myeloid leukemia (CML) เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง ใช้ยาต่อต้านมะเร็ง imatinib ขณะที่จะใช้ยา Hydroxyurea เพื่อลดจำนวนเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด และลดขนาดม้าม หรือใช้ยา Aspirin ซึ่งเป็น ยาต้านเกล็ดเลือด ใช้ยา Ruxolitinib สำหรับรักษาโรคเลือดข้น (PV) และ โรคพังผืดในไขกระดูก (MF) และใช้ยา Anagrelide รักษาโรคเกล็ดเลือดสูง

“หากมีความเข้มข้นของเลือดสูง จะถ่ายเลือดออก แต่ถ้ายังสูงอยู่เนื่องจากเลือดสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วก็จะต้องใช้ยาอื่นๆ ในการรักษาต่อไป ถ้ากินยาแล้วไม่สามารถสลายตัวได้ก็อาจต้องใช้ยาที่ราคาแพงมากขึ้น แต่ถ้าเป็นโรคพังผืดในไขกระดูก การรักษาที่ดีที่สุด คือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งจะทำให้โรคหายขาดได้ ทว่าในการปลูกถ่ายเซลล์นั้น แม้แต่พี่น้องจากพ่อแม่คนเดียวกันมีความตรงกันเพียง 25% แต่ถ้าไม่ใช่พี่น้อง จะมีการปลูกถ่ายเซลล์ได้ 1 ใน 50,000 คน ดังนั้น เมื่อไม่สามารถปลูกถ่ายเซลล์ได้ ก็ต้องใช้ยาประคับประคอง ควบคู่กับการดูแลเป็นพิเศษแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้”ดร.นพ.อาจรบ กล่าว

  • รู้ตัวเร็ว รักษาไว้ ลดเสี่ยงเสียชีวิต

การดูแลรักษาโรคเลือดชนิดหายาก จะมีแผนกโรคเลือด คลินิกโรคเลือดที่มีดูแลผู้ป่วยโรคเลือดอยู่แล้ว รวมถึงการให้ยา และดูผลการรักษาเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้คนใกล้ชิดผู้ป่วยก็ต้องร่วมดูแลผู้ป่วยด้วย เพราะโรคนี้ลูกหลาน คนใกล้ชิด มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลผู้ป่วย ไม่ใช่เพียงผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างเดียว

ข้อควรระวังในการใช้ชีวิตของผู้ป่วย คือ ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดสุขอนามัยที่ดี การรับประทานอาหารที่ปลอดภัย สะอาด เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันจะไม่ดีเท่าที่ควร จะให้ผู้ป่วยกินอาหารที่ไม่สะอาด ดิบ ไม่ได้ รวมถึงการไปพบแพทย์ หรือการออกกำลังกายก็ต้องระมัดระวัง ผู้ป่วยสามารถไปรักษาฟันหรือทำฟันได้ แต่ต้องแจ้งแพทย์ว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ เพราะหากทำฟันแล้วมีเลือดไหล อาจจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด และการออกกำลังกายต้องไม่เป็นกีฬาที่ทำให้เกิดการกระแทกแรงๆ เช่น ขี่ม้า ควรจะเป็นออกกำลังกายเบาๆ

“ลูกหลาน คนดูแลต้องคอยเฝ้าระวัง และสังเกตอาการของผู้ป่วย เพราะบางทีผู้ป่วยเอง อาจไม่รู้ว่าตัวเองหน้าซีด มีอาหารเพลีย หรือหน้าแดงมาก หรือมีอาการวิงเวียน มีอาการอัมพฤกอัมพาตเป็นๆ หายๆ เช่น แขนไม่มีแรงพอผ่านไปไม่กี่นาทีแขนก็กลับมามีแรง และหากใครก็ตามที่คลำบริเวณท้อง แล้วรู้สึกว่ามีก้อนให้รีบไปพบแพทย์”ดร.นพ.อาจรบ กล่าว

โรคนี้แม้จะรักษาได้ไม่หายขาดแต่ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างยาวนาน แต่ต้องดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของตนเอง อย่าท้ออย่ากังวลกับโรค หากรู้ตัวเร็ว วินิจฉัยได้เร็ว รับการรักษาเร็ว มีความสม่ำเสมอในการมาพบแพทย์ ทานยา และดูแลตนเองอย่างดี