"โรคมะเร็ง" คร่าชีวิตคนไทยอันดับต้นๆ รู้เร็ว รักษาทัน
"โรคมะเร็ง” อีกหนึ่งสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย สถิติ มะเร็งในเพศชาย 3 อันดับ คือ มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ และมะเร็งปอด ส่วนโรคมะเร็งในผู้หญิง ที่พบได้บ่อย คือ มะเร็งเต้านม และ มะเร็งลำไส้ คิดเป็นสัดส่วนรวมกันมากกว่า 50% ในกลุ่มผู้หญิง
จากสถิติทั่วโลก พบว่าในช่วงปี 1990 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 8.1 ล้านคนในแต่ละปี จนเป็น 18.1 ล้านคนต่อปี ในปี 2018 และยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็ง 3 อันดับแรก คือ มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งลำไส้ และคาดการณ์ว่าหากทั่วโลกยังไม่ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ภายในปี 2030 จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งจะมากกว่า 13.1 คนต่อปี
อย่างไรก็ตาม กว่าร้อยละ 40 ของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบันนั้น มีทางป้องกันและรักษาได้ ทำให้จำนวนผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ผลลัพธ์อันน่าทึ่งจากการทุ่มเทศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ เรื่อง โรคมะเร็ง ในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิธีวินิจฉัยโรค ตัวยาที่ใช้ ขั้นตอนการรักษา และการฟื้นฟูร่างกายหลังจากการรักษา ทำให้ ผู้ป่วยมะเร็ง สามารถอุ่นใจได้ว่า ต่อให้พบว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว ก็ยังรักษาให้หายได้ถ้าเราตั้งใจจริง
- สถานการณ์มะเร็งในไทย
สำหรับประเทศไทย ถ้าไม่นับการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ก็เห็นจะเป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของคนไทยมากกว่า 20 ปี ครองแชมป์ตั้งแต่ปี 2542 โดยข้อมูลจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เฉลี่ยวันละ 221 ศพ หรือคิดเป็น 80,665 ศพต่อปี และเมื่อเจาะลึกลงไปในข้อมูล เราจะพบผู้ป่วยรายใหม่จากมะเร็งเฉลี่ยวันละ 336 ราย หรือคิดเป็น 122,757 รายต่อปี
เมื่อเปรียบเทียบจากสถิติจะพบว่า ในแต่ละวันมีคนไทยเป็น ผู้ป่วยมะเร็ง รายใหม่ มากกว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงพีคๆ เสียด้วยซ้ำ มะเร็งจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนมีโอกาสป่วยและเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งจะมาพบกับคุณในขั้นลุกลามระดับใด
- "นิวนอร์มอล" กระตุ้นมะเร็ง
นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา เปิดเผยว่า โรคมะเร็งยังคงเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมากสุดในแต่ละปีและคาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย สาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง 70% มาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นต้นว่า การหลีกเลี่ยงการสูดดมควันพิษที่มีสารก่อเกิดมะเร็ง อาทิควันจากบุหรี่ หรือควันจากธูปภายในบ้าน หรือบริเวณใกล้เคียงเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลีกเลี่ยงการขับถ่ายไม่เป็นเวลาหรือท้องผูกบ่อยๆ จากการทานอาหารที่ไม่สดใหม่ หรืออาหารค้างคืน เกิดจากการทำงานเพลิน ขยับตัวน้อย ทานอาหารที่มีกากใยน้อย
ลดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารปรุงซ้ำอาหารที่มีสารเคมีจากอาหารหมักดอง เช่นผักและผลไม้ดองแหนมปลาร้าอาหารที่ไม่สุกเนื่องจากเป็นแหล่งสะสมพยาธิก่อให้เกิดมะเร็งปลาน้ำจืดดิบหรือผักสดที่ล้างไม่สะอาด
นอกจากนี้ ควรทานผักและผลไม้อย่างน้อย 5 สีต่อวัน มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระจากวิตามินเกลือแร่และสารพฤกษเคมีหลายชนิด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอลดภาวะความเครียดพักผ่อนเป็นเวลาเพียงพอตรวจสุขภาพเป็นประจำ
- "สารสกัดกัญชา" ทางเลือกผู้ป่วยมะเร็ง
นพ. ศุภชาติ ชมภูนุช อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา ศูนย์มะเร็งอายุรวิวัฒน์ โรงพยาบาล พญาไท นวมินทร์ เปิดเผยว่าการรักษาของมะเร็งอายุรวิวัฒน์ฯ เน้นผสมผสานในการรักษาและดูแล ในแต่ละด้าน โดยเทคโนโลยีและเทคนิคการรักษาอันทันสมัยทั้งการรักษามะเร็งด้วยยารักษาแบบพุ่งเป้า (Targeted Therapy) กำหนดเป้าหมายการรักษาให้ตรงไปที่เซลล์มะเร็งโดยตรง ไม่ทำอันตรายเซลล์ปกติ ทำรักษาควบคู่ไปกับการรักษาชนิดอื่นๆ เช่น เคมีบำบัด การผ่าตัดหรือการฉายรังสี เป็นต้น
รวมไปถึงการใช้ "สารสกัดจากกัญชา" เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญการในด้านการรักษานี้ ที่จะเป็นผู้วินิจฉัยเพื่อให้บริการในผู้ป่วย 3 กลุ่มหลัก คือ
1.กลุ่มที่มีข้อมูลทางการศึกษาวิจัย เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากการรักษาจากสารเคมีบำบัด ผู้ป่วยระยะท้ายที่ต้องการคุณภาพชีวิต และ ผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งไม่สามารถควบคุมด้วยยามาตรฐานปัจจุบันได้
2.กลุ่มที่มีข้อมูลการศึกษาอยู่บ้าง แต่ยังไม่ชัดเจน อาทิ ผู้ป่วยโรคระบบประสาท ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ กลุ่มพาร์กินสันและสุดท้าย
3. กลุ่มที่มีข้อมูลพื้นฐานทางด้านการวิจัยทดลอง แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในการศึกษาวิจัยในคน เช่น การใช้กัญชาทางการแพทย์มารักษาโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัด หรือ ข้อห้ามสำคัญในการใช้กัญชาทางการแพทย์ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคตับ และในสตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิตเวช เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้จะต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ
นอกจากนี้ศูนย์มะเร็งอายุรวิวัฒน์ ยังดูแลหลังเข้ารับการรักษาด้วยบริการ Home Visit บริการเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน เพื่อติดตามอาการภายหลัง รวมถึงให้บริการ Palliative Care ดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเรื้อรังและในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ซึ่งผู้ป่วยหรือผู้ดูแลสามารถสื่อสารกับทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพ ผ่านโปรแกรมสนทนาออนไลน์ Line Official @ศูนย์มะเร็งอายุรวิวัฒน์ได้ด้วย
- สถานพยาบาลให้บริการ “กัญชา”
ข้อมูลสถาบันกัญชาเพื่อการแพทย์ ณ วันที่ 9 มีนาคม 2564 มี “สถานพยาบาลเอกชน” ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว 86 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 22 แห่ง และคลินิก 64 แห่ง “สถานพยาบาลเอกชน” ได้ซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้บริการกัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยแล้ว 31 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง และคลินิก 21 แห่ง และเตรียมเปิดให้บริการในโรงพยาบาลเอกชน 382 แห่ง และคลินิกเวชกรรม/ ทันตกรรม/ แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์อีกประมาณ 21,000 แห่ง
ในส่วนของสถานพยาบาลเอกชน ถือเป็นผู้ผลักดันให้กัญชาขยายวงกว้างและให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาจากยาต่างๆ ที่ผลิตจาก กัญชา ได้หากใช้ทางการแพทย์ เพียงแต่มาขึ้นทะเบียน แจ้งความจำนงเปิดคลินิกกัญชาในรพ.ได้เลย ขณะนี้ สธ. ได้เปิด สถาบันกัญชาเพื่อการแพทย์ เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานงาน เชื่อมทุกประเด็นทั้งการบริหาร จัดการ ทำความเข้าใจ หากมีอุปสรรค หรือติดขัดใดๆ ในเรื่องของให้บริการเรื่องกัญชาแก้ผู้ป่วย สามารถแจ้งมายังสถาบันกัญชาเพื่อการแพทย์ได้
ขณะนี้ มีสถานพยาบาลที่ให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์และคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในสังกัด สธ. ราว 800 แห่ง ให้บริการผู้ป่วยกว่า 1 แสนรายต่อปี โดยมีแผนขยายบริการกัญชาทางการแพทย์ไปสู่ภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์อย่างรวดเร็วและครอบคลุม เพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรง เรื้อรัง เข้าถึงการรักษามากขึ้น ลดความแออัด ลดการรอคอยการรับบริการในโรงพยาบาลรัฐ