สปสช. ย้ำผู้ป่วยไตวาย "บัตรทอง" เลือกฟอกไตแบบที่ใช่ได้ทุกคน
สปสช. ชี้แจงหลักเกณฑ์เบิกจ่ายกรณี "ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง" ระบบบัตรทองปีงบประมาณ 2565 เพิ่มการจ่ายค่าฟอกเลือดแก่ผู้ป่วยที่ไม่สมัครใจเข้ารับบริการ "ล้างไตทางช่องท้อง" ย้ำผู้ป่วยเลือกวิธีรักษาร่วมกับแพทย์โดยพิจารณาปัจจัยรอบด้านตามความเหมาะสม
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมทาง Zoom และ Facebook Live เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอรับค่าใช้จ่ายกรณีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพ ปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 โดยมีตัวแทนหน่วยบริการจากทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการ สปสช. มีมติเห็นชอบให้ สปสช. ชดเชยค่าบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ไม่สมัครใจเข้ารับบริการ ล้างไตทางช่องท้อง โดยมีผลเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการป้องกันการล้มละลายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากเดิมผู้ป่วยที่ปฏิเสธการล้างไตทางช่องท้องแล้วต้องจ่ายเงินฟอกเลือดเอง และเมื่อถึงจุดหนึ่งจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้ฝ่ายนโยบายจึงรับประเด็นมาหารือระหว่าง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะกรรมการ สปสช. มีมติดังกล่าวในที่สุด
นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากเรื่องการจ่ายชดเชยค่าบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแล้ว คณะกรรมการ สปสช. ยังคำนึงถึงการยกระดับคุณภาพบริการโดยใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง หรือ Patient Centered Care ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยมีความรู้เพียงพอที่จะร่วมตัดสินใจอนาคตหรือชีวิตตนเองในการรักษาบางอย่าง โดยพิจารณาจากคำแนะนำของแพทย์ในเรื่องพยาธิสภาพและความเหมาะสมของผู้ป่วย ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึง เศรษฐานะ ปัจจัยทางสังคม และค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น ค่าเดินทางจากบ้านมาที่หน่วยบริการด้วย
"สปสช. จะนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าไปดูแลกลุ่มที่ต้องจ่ายเงินฟอกเลือดเอง แต่ก็ยังมีประเด็นอื่นที่ต้องทยอยออกมาตรการมาเป็นระยะ เช่น การเร่งรัดการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อชะลอจำนวนผู้ป่วยใหม่ การต่อรองราคาในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริการไตทั้งระบบ การเพิ่มประสิทธิภาพบริการรวมทั้งการเพิ่มใช้ยาในบัญชีนวัตกรรม เป็นต้น ขณะที่ สธ. จะให้ความร่วมมือในการเร่งผลิตบุคลากรและจำนวนหน่วยบริการให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น" นพ.จเด็จ กล่าว
- เกณฑ์เบิกจ่าย ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ด้าน นางเบญจมาส เลิศชาคร ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอรับค่าใช้จ่ายกรณี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ในระบบหลักประกันสุขภาพ ปีงบประมาณ 2565 ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยในส่วนของกรณีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 8 ข้อ คือ
1.ค่าบริการฟอกเลือด HD Self pay เดิมผู้ป่วยต้องจ่ายค่าฟอกเลือด ส่วน สปสช. สนับสนุนยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง (EPO) เปลี่ยนเป็น สปสช.จ่ายค่าเตรียมเส้นเลือด ค่าฟอกเลือด และสนับสนุนยา EPO ทั้งหมด
2.ค่าบริการฟอกเลือด เดิมจ่าย 1,500 บาท หรือ 1,700 บาท/ครั้ง ไม่เกิน 3 ครั้ง/สัปดาห์ เปลี่ยนเป็นจ่าย 1,500 บาท/ครั้ง และยกเลิกการจ่าย 1,700 บาท/ครั้ง
3.ค่าบริการฟอกเลือด อาจดำเนินการได้ 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 ค่าบริการฟอกเลือกเหมาจ่าย 1,500 บาท/ครั้ง และฟอกเลือดกรณี HIV เหมาจ่าย 4,000 บาท/ครั้ง รูปแบบที่ 2 ค่าบริการฟอกเลือดเหมาจ่าย 1,300 บาท/ครั้ง และ สปสช. ส่งตัวกรองแบบ Single Use Dialyzer (High flux หรือ Low flux) Blood line และ เข็ม ผ่านระบบ VMI
4.ค่าบริการฟอกเลือดกรณีผู้ป่วยโควิด-19 จ่ายค่าชุด PPE สำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยไตเทียม จ่ายตามจริงไม่เกินชุดละ 500 บาท ไม่เกิน 2 ชุดต่อผู้ป่วย 1 ราย มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 2564
5.ระบบการพิสูจน์การเข้ารับบริการ ผู้ป่วยฟอกเลือดต้องมีการพิสูจน์ตัวตนด้วยการขอ Authentication code ก่อนเข้ารับบริการ
6.เกณฑ์การใช้ยา EPO จากเดิมหากระดับ Hematocrit (Hct) ≤ 30% จ่าย 2 vial/สัปดาห์ หรือ หากระดับ Hct > 30% จ่าย 1 vial/สัปดาห์ เปลี่ยนเป็นเริ่มให้ยาเมื่อ Hct < 30% จากนั้น Hct <33% จ่าย 2 vial/สัปดาห์ Hct ≥ 33% จ่าย 1 vial/สัปดาห์ และ Hct ≥ 36% หยุดจ่ายยา EPO
7.การสนับสนุนยา EPO สปสช.จะสนับสนุนยา EPO ที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรม
8.ค่าบริการสำหรับการเตรียมเส้นเลือด 8.1 Tunnel cuffed catheter เดิมเบิกตามจริงไม่เกิน 12,000 บาท 1 ครั้ง/ปี เปลี่ยนเป็น ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ตามความจำเป็น และไม่ต้องอุทธรณ์ 8.2 AVF เดิมเบิกตามจริงไม่เกิน 8,000 บาท 1 ครั้ง/ปี เปลี่ยนเป็น ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ตามความจำเป็น และไม่ต้องอุทธรณ์ 8.3 AVG เดิมเบิกตามจริงไม่เกิน 8,000 บาท
และค่า graft ไม่เกิน 14,000 บาท 1 ครั้ง/ปี เปลี่ยนเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง ตามความจำเป็น และไม่ต้องอุทธรณ์ และ 8.4 Temporary double lumen catheter เดิมเบิกตามจริงไม่เกิน 5,000 บาท 1 ครั้ง/ปี เปลี่ยนเป็น ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ตามความจำเป็น และไม่ต้องอุทธรณ์
- 6 เกณฑ์ ล้างไตช่องท้อง
นางเบญจมาส กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรณีล้างไตทางช่องท้อง มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 6 ข้อคือ
1. น้ำยาล้างไต CAPD เดิมไม่เกิน 4 ถุง/วัน หากเกินต้องอุทธรณ์ เปลี่ยนเป็น ไม่จำกัดจำนวน ตามความจำเป็น และไม่ต้องอุทธรณ์
2.น้ำยาล้างไต APD เดิมไม่เกิน 2 ถุง/วัน หากเกินต้องอุทธรณ์ เปลี่ยนเป็น ไม่จำกัดจำนวน ตามความจำเป็น และไม่ต้องอุทธรณ์
3.สายล้างไตทางช่องท้อง เดิมไม่เกิน 1 เส้น/ปี เปลี่ยนเป็น ใช้ตามจริง ตามความจำเป็น
4.เกณฑ์การใช้ยา EPO เดิมหากระดับ Hematocrit (Hct) ≤ 30% จ่าย 2 vial/สัปดาห์ หรือ หากระดับ Hct > 30% จ่าย 1 vial/สัปดาห์ เปลี่ยนเป็นเริ่มให้ยาเมื่อ Hct < 30% จากนั้น Hct <33% จ่าย 2 vial/สัปดาห์ Hct ≥ 33% จ่าย 1 vial/สัปดาห์ และ Hct ≥ 36% หยุดจ่ายยา EPO
5.การสนับสนุนยา EPO สปสช.จะสนับสนุนยา EPO ที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมเท่านั้น
6.ค่าบริการล้างไตผ่านช่องท้อง เดิมเหมาจ่าย 2,500 บาท/เดือน รวมค่าวางสาย Tenckhoff catheter เปลี่ยนเป็น 2,500 บาท/เดือน และเพิ่มค่าวางสาย Tenckhoff catheter เป็นบริการผ่าตัดแบบไม่ค้างคืน โดยจ่ายตามระบบ DRGs
7.ยกเลิกการจ่ายค่าบริการซ้ำซ้อนของ Temporary HD จากเดิมจ่ายค่าบริการฟอกเลือด 1,500 บาท/ครั้งและค่าบริการล้างไตผ่านช่องท้อง 2,500 บาท/เดือน เปลี่ยนเป็น จ่ายเฉพาะค่าบริการฟอกเลือด 1,500 บาท/ครั้งเท่านั้น และ สปสช. จะไม่ส่งน้ำยาล้างไตแก่ผู้ป่วยในเดือนที่มีการทำ Temporary HD