เช็กด่วน "หูตึง" ฟังไม่ค่อยได้ยิน เสี่ยง "ภาวะสมองเสื่อม"
หลายคนคิดว่า "การได้ยิน" ที่ลดลง ในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้ว ปัญหาการได้ยิน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อ "ภาวะสมองเสื่อม" ดังนั้น เราจะป้องกันและก้าวสู่ "สังคมสูงวัย" ได้อย่างไร ให้ความเสื่อมถอยของร่างกายชะลอมากที่สุด
“ภาวะสมองเสื่อม" และ "อัลไซเมอร" มีอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง “ภาวะสมองเสื่อม” คือ “การได้ยิน” ทั้งนี้ กว่า 1 ใน 3 ของวัยเกษียณ พบว่า มีปัญหาด้านการได้ยิน นั่นหมายความว่าเราจะมีคนที่เสี่ยงภาวะสมองเสื่อมจำนวนมาก การคัดกรองแต่เนิ่นๆ สามารถป้องกันและชะลอโรคนี้ได้ในอนาคต
เข้าใจ "ภาวะสมองเสื่อม"
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย หนึ่งในความท้าทาย คือ ภาวะสมองเสื่อม ตัวเลขในปัจจุบัน คาดว่าจะมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปกว่า 12 ล้านคน และใน 12 ล้านคน หากตรวจเรื่องการทำงานสมองจะลดลงกว่าสมัยหนุ่มสาวเป็นเรื่องธรรมดา แต่จะมีส่วนหนึ่งที่ลดลงเกินกว่าปกติในเกณฑ์ที่เข้าขั้นต้องตรวจเพิ่มเติม เพราะอาจจะมีสาเหตุต่างๆ ทำให้การทำงานสมองลดลง อยู่ที่ราว 5-10%
"ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในงาน เสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 14 เรื่อง “บ่งชี้ความเสี่ยงสมองเสื่อมด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด” ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า ภาวะสมองเสื่อม ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ อัลไซเมอร์ เอกลักษณ์ที่สำคัญ คือ ความจำในอดีตเฉพาะตัวจะหายไป แต่ความรู้ทั่วไปจะยังอยู่ ทำให้คนทั่วไปอาจจะยังสับสนว่าอยู่ในภาวะอัลไซเมอร์หรือยัง เพราะความจำมีหลากหลาย รองลงมา คือ จากหลอดเลือดสมองตีบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาวะสมองเสื่อม หากถึงจุดที่เข้าข่ายสมองเสื่อม เปรียบเทียบ คือ “ตีนกา” การทำให้ตีนกาหายคือฉีดโบท็อกซ์ แต่หากเกิดขึ้นที่สมองจะทำอย่างไร ดังนั้น หากเกิดความเสื่อมที่สมองจะแก้ไขลำบาก สิ่งที่ต้องทำ คือ การคัดกรอง ตั้งแต่ก่อนจะเกิดภาวะสมองเสื่อม ความท้าทายต่อมา คือ จะคัดกรองอย่างไร ในต่างประเทศจะมีตั้งแต่สแกนสมองราคาหลักหมื่น
ภาวะสมองเสื่อม คัดกรองได้หรือไม่
ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร อธิบายว่า ปัจจุบันมีวิธีการคัดกรองโดยแบบทดสอบทางการแทพย์ ซึ่งต้องเข้ามาในโรงพยาบาลมาทดสอบ และคนที่มีปัญหาต้องตรวจหาปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ ในต่างประเทศมีการรวบรวมว่าความเสี่ยงที่แก้ไขได้ที่สำคัญ พบว่า “การได้ยิน” เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ของภาวะสมองเสื่อม
"ขณะเดียวกัน การคัดกรองการได้ยินในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมาโรงพยาบาล และต้องมีห้องพิเศษสำหรับตรวจ รวมถึงการรอคิว แต่เราก็ไม่ควรนิ่งนอนใจในด้านปัญหาการได้ยิน" ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร กล่าว
การได้ยิน เกี่ยวกับสมองเสื่อม ได้อย่างไร
"ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล" อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า ระบบการได้ยินเกี่ยวข้องกับสมองมากกว่าที่หลายคนเข้าใจ คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่า หูรับเสียงมาและเปลี่ยนสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณประสาท ส่งไปที่สมอง สมองประมวลผลและจบอยู่แค่นั้น
“แต่ความจริงแล้วสมองสามารถสั่งการลงมา เพื่อที่จะควบคุมประสิทธิภาพการทำงานของหูได้ ยกตัวอย่าง เสียงเบาที่สุดที่มนุษย์ได้ยินอยู่ที่ประมาณ 0 เดซิเบล หรือเทียบเท่ายุง 1 ตัวที่บินอยู่ห่างจากหูเราไป 1 เมตร เราสามารถได้ยินได้ เพราะหูเราขยายเสียงได้"
"ในหูชั้นในหรืออวัยวะรูปก้นหอยจะมีกระบวนการที่ใช้ขยายสัญญาณ กระบวนการเหล่านี้สมองสามารถควบคุมได้ เป็นการสื่อสารระหว่างหูกับสมอง ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกระบวนการของหูจะสามารถถูกกระทบได้หากสมองผิดปกติ ดังนั้น การยินมีปัญหา บ่งชี้ได้ว่าระบบสมองที่ควบคุมหูอาจจะมีปัญหาได้”
ตรวจการได้ยิน ชะลอสมองเสื่อม
เป็นที่มาของการวิจัยโครงการ Thai Speech Acoustic Virtual Reality (Thai-SAVR) test for the detection of early dementia โดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Royal Academy of Engineering ประเทศอังกฤษ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ มีด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 ห้องแล็บตรวจการได้ยิน การนำองค์ความรู้จากประเทศอังกฤษมาสร้างห้องแล็บไร้เสียงสะท้อน ภายในชั้นใต้ดิน อาคารมหามกุฏ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จำลองสภาพเหมือนจริงของเสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่างๆ ด้วยคำพูดภาษาไทยเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อใช้ทดสอบการได้ยินและความสามารถในการประมวลผลเสียงพูดในระดับสมอง
และเพื่อให้การทดสอบเข้าถึงผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ ได้มากขึ้น จึงทำมาสู่ ส่วนที่ 2 คือ การจำลองการทดสอบไว้ในซอฟต์แวร์ และสามารถใช้หูฟัง โดยใช้แหล่งกำเนินเสียงเสมือน และในอนาคตสามารถใช้ซอฟต์แวร์นี้ตรวจในห้องเก็บเสียงของทางโรงพยาบาลได้
แอปฯ ฉบับย่อ ตรวจเองที่บ้าน
ส่วนที่ 3 คือ พัฒนาแอปพลิเคชั่น ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด “Ear test by ear tone” ทำให้สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสมองเสื่อมหรือไม่ ช่วยให้สามารถป้องกันและชะลอโรคนี้ได้ในอนาคต
"ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า โครงการฯ เกิดจากการตั้งคำถามที่ว่า กลุ่มไหนที่จะมีความเสี่ยงสมองเสื่อมในระยะ 5-10 ปี เพราะปัจจุบันยังต้องแสกนสมองด้วยเทคโนโลยีทันสมัย หรือ เจาะน้ำไขสันหลังไปปั่นหาเซลล์ ดังนั้น จะมีวิธีใดหรือไม่ที่จะรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเป็นสมองเสื่อม เช่น ในต่างประเทศมีการพัฒนาการตรวจประเมินการได้ยินและการแปรผลของสมองง่ายๆ เพื่อจะได้รักษาได้ทันท้วงที
"ทั้งนี้ โรคเกี่ยวกับหูที่พบบ่อยในคนไทย คือ หูตึง ส่วนใหญ่หลังเกษียณ 1 ใน 3 คน หรือ บางสถิติพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของวัยเกษียณมีปัญหาหูตึง แต่สำคัญ คือ ไม่ได้เช็ก จึงไม่ได้รับการกระตุ้นการได้ยินที่เหมาะสม"
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการประกาศเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ผู้สูงอายุทุกราย ต้องเช็กการได้ยินเบื้องต้นตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ในประเทศไทย หลายคนเริ่มมีความกังวลและเริ่มตรวจ ปัญหาคือ เราไม่สามารถตรวจทุกคนได้ ดังนั้น ต้องมีทางเลือกอื่นในการคัดกรอง โดยใช้เทคโนโลยีตรวจด้วยตัวเองที่บ้าน
ความร่วมมือในโครงการดังกล่าว ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นตรวจการได้ยินฉบับย่อ “Ear test by ear tone” โดยพัฒนาแอปฯ ให้มีภาษาไทยต่อกับหูฟัง สามารถใช้ได้ผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งระบบ IOS และ และ Android และหากมีปัญหาสามารถตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อให้ละเอียดมากขึ้น
สิทธิคนไทย เข้าถึงเครื่องช่วยฟัง
ดร.พญ.นัตวรรณ อธิบายต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสูญเสียการได้ยิน สามารถเบิกเครื่องช่วยฟังเพื่อกระตุ้นการได้ยินให้กลับมาได้ยินใกล้เคียงกับคนปกติได้ หากเจอเร็ว ควรรีบกระตุ้นเพื่อไม่ให้สมองเสื่อมไปด้วย เพราะหากหูตึงนานเข้า สมองส่วนแปรผลจะเริ่มฝ่อลงจากการที่ได้รับการกระตุ้นลดลง
ประเทศไทยสามารถเบิกเครื่องช่วยฟังได้ทุกสิทธิ ทั้งข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง แต่อีกมุมหนึ่งผู้สูงอายุไทยกลับไม่ค่อยอยากใส่เครื่องช่วยฟัง เหตุผลเพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าใส่เครื่องช่วยฟัง ดังนั้น ไม่ต้องกังวลหากโหลดแอปฯ มาเช็กแล้วรู้สึกว่าเริ่มมีปัญหา สามารถติดต่อคลินิก โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีแพทย์ด้านหูให้ทำการตรวจประเมิน และใช้สิทธิการรักษาได้
ก้าวสู่สูงวัย มีชีวิตที่ดีได้ ด้วยการเปลี่ยนมุมมอง
ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า หากทราบแล้วว่ามีความเสี่ยง ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่แก้ไขได้ เพราะหากไปถึงปลายทาง มองผลกระทบจากผู้ป่วยสมองเสื่อม 1 คน ไม่ได้มีผลเฉพาะตัวผู้ป่วยแต่ยังรวมไปถึงคนรอบข้าง โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีความเป็นครอบครัวสูงมาก ดังนั้น การป้องกันจะสร้างผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง
“เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่เราสามารถมีชีวิตที่สมบูรณ์และแข็งแรงได้ ด้วยการใช้เครื่องช่วยต่างๆ คนๆ หนึ่งอาจจะขามีปัญหา แต่สามารถนั่งรถเข็น ก็ตอบโจทย์การเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ขณะที่ สังคมพร้อมจะเข้าใจ ดังัน้น ต้องช่วยกันปรับมุมมอง การถือไม้เท้า การใส่แว่นตา หรือ ใส่เครื่องช่วยฟัง เป็นเรื่องปกติ หากจะป้องกันการหกล้ม หากจะทำให้การอ่านดีขึ้น หรือ การได้ยินดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ควรจะเปลี่ยนมุมมองว่าเป็น Gadget สำหรับผู้สูงอายุ”