เตือน ก.พ.นี้ แนวโน้มฝุ่น PM 2.5 พุ่งเกินมาตรฐาน เพราะสภาพอากาศนิ่งและปิด
กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 3/2566 เตือน ก.พ.นี้ ประชาชนระวังภัยสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แนะตรวจสอบค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน
กรมควบคุมโรค เผยแพร่ พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ฉบับที่ 3/2566 ประจำสัปดาห์ที่ 5 (วันที่ 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2566) ระบุว่า
จากการเฝ้าระวังของ กรมควบคุมโรค พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือน มกราคม 2563 ถึง มกราคม 2566 มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มักเกิดในช่วงรอยต่อฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน คือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนมีนาคม คาดว่าอากาศไม่ยกตัว อัตราการระบายอากาศค่อนข้างอ่อน/ไม่ดี และอากาศปิดกับมีฝนบางพื้นที่
ส่งผลให้การสะสมของ ฝุ่นละออง PM 2.5 ยังทรงตัว และจากข้อมูลของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ วันที่ 26 มกราคม 2566 พื้นที่ที่มี ค่าฝุ่นPM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน พบในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยคุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) การคาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละออง ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2566 สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน จะรุนแรงกว่าปี 2565 เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ประกอบกับมีมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่เข้ามา
พื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล
- ภาคเหนือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ ภาคเหนือ อาจเกิดภัยสุขภาพที่ประชาชนมีโอกาสได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจขาดเลือด ตาอักเสบ และผิวหนังอักเสบ ประชาชนควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น
ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือหากมีความจำเป็นให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง และขอความร่วมมือ งดการเผาในที่โล่งแจ้ง และตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ควรเลี่ยงกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโอกาสสัมผัสฝุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น ตำรวจจราจร คนขับรถสาธารณะ คนกวาดถนน คนทำงานในที่โล่งแจ้ง เป็นต้น
ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ
1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด
2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ
4.กลุ่มโรคตาอักเสบ
ซึ่งหากได้รับฝุ่นเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลต่อสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป ควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากาก N95 หรือหน้ากากที่มีแผ่นกรองคาร์บอนทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หรือเมื่อไปในพื้นที่ที่มีระดับฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน
นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยติดตามสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 จากเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ http://air4thai.pcd.go.th/ (คลิกที่นี่) หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน Air4Thai เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศ และปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำ
รวมถึงการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม หากมีอาการ ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใจสั่น ระคายเคืองตา หรือมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422