เช็ก 7 จุดซ่อนฝุ่น PM2.5 ในบ้าน ที่ไม่ควรมองข้าม
ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่สูงในช่วงนี้ สร้างความกังวลใจในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะการออกไปข้างนอก หรือ แม้แต่การอยู่ที่บ้าน ก็อาจไม่สามารถป้องกันฝุ่นพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กและกลุ่มเสี่ยง แล้วเราจะทำอย่างไรให้การอยู่บ้านปลอดภัยจากฝุ่นมากที่สุด
ฝุ่นควันขนาดเล็กจากมลพิษในอากาศหรือ PM2.5 มีขนาดเล็กกว่าความกว้างของเส้นผมมนุษย์ถึง 25 เท่า ขณะที่หายใจเข้าฝุ่นขนาดเล็กนี้ ก็เข้าสู่ร่างกายทางจมูกและปาก อากาศไหลผ่านทางเดินหายใจและในที่สุดก็ไปถึงถุงลมซึ่งเป็นถุงอากาศเล็ก ๆ ในส่วนลึกที่สุดของปอด
ข้อมูลจาก ยูนิเซฟ ระบุว่า ฝุ่นขนาดเล็กที่สุดเมื่อเข้ามาในปอด แทรกตัวผ่านถุงลม เข้าสู่กระแสเลือด และเคลื่อนตัวไปยังอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย และส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ โดยอวัยวะสำคัญที่ได้รับผลกระทบได้แก่
- ปอด
- ระบบภูมิคุ้มกัน
- หัวใจและสมองที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา
ฝุ่นละอองกระทบสมองเด็ก
สมองจะพัฒนาได้เร็วที่สุดในช่วงแรกเกิด แต่การพัฒนาจะมีต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น และมีบทบาทสำคัญในเรื่องความจำของเด็ก ความสนใจระยะสั้น การควบคุมอารมณ์ และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
เมื่อเข้าไปถึงสมองเด็กที่กำลังพัฒนา ฝุ่นละอองจะเข้าไปสร้างความเสียหายให้เซลล์สมอง ผลก็คือความบกพร่องในพัฒนาการทางสติปัญญาและความสามารถในการเรียนรู้ที่อาจมีผลร้ายแรงตามมาต่อสวัสดิภาพและศักยภาพในการทำงานตลอดช่วงชีวิต
ฝุ่นละอองอาจจะสะสม ซึ่งก่อให้เกิดการเสื่อมของระบบประสาทในช่วงปลายของชีวิต นอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่สมองแล้ว มลพิษในอากาศยังอาจทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ตลอดช่วงชีวิตอีกด้วยซึ่งรวมถึงสมองขาดเลือด ปอดบวม โรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด ดังนั้น เราจะปกป้องลูกหลานจากมลพิษทางอากาศอย่างไร หากไม่สามารถอยู่ภายในอาคารได้ตลอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
7 แหล่งสะสมฝุ่น ภายในบ้าน
ที่ผ่านมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีการป้องกันและลดการเพิ่มฝุ่น PM2.5 ควรเริ่มตั้งแต่ภายในบ้าน ด้วยการทำความสะอาดเพื่อลดแหล่งสะสมฝุ่น ได้แก่
1) เครื่องปรับอากาศ เช็ดทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ หรือหน้ากากเครื่องปรับอากาศ ด้วยผ้าเปียกบิดหมาด หรือเปิดน้ำเบา ๆ แล้วใช้แปรงขนอ่อนถูเบา ๆ จนสะอาดและนำไปผึ่งแดดหรือลมจนแห้งอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งหมั่นตรวจเช็คสภาพเครื่องปรับอากาศทุก 6 เดือน
2) ผ้าม่าน ปลดผ้าม่านลงจากราง นำผ้าม่านไปแช่น้ำผสมผงซักฟอกประมาณ 30 – 60 นาที เพื่อให้ฝุ่นผงที่ฝังติดลึกในเนื้อผ้าคลายตัวออก ทำความสะอาด และนำไปตากจนแห้ง
3) หลังตู้เสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเป็นประจำ
4) มุ้งลวด ถอดออกมาฉีดน้ำล้าง ใช้แปรงขนอ่อนขัดเบาๆ อาจใช้น้ำยาทำความสะอาดร่วมด้วยล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดหรือลมจนแห้งก่อนนำมาติดตั้งใหม่
5) ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน แล้วนำไปตากจนแห้งและควรเปลี่ยนเป็นประจำ
6) พรม ควรดูดฝุ่นเป็นประจำ สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด ควรเลี่ยงการใช้พรมในบ้าน
7) พัดลม ถอดใบพัดและตะแกรงออกมาฉีดน้ำล้าง และใช้แปรงขนอ่อนขัดซี่ตะแกรง จากนั้นนำชิ้นส่วน ที่ล้างเสร็จแล้วไปเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้งสนิท หรือนำผึ่งลมจนแห้งและนำชิ้นส่วนมาประกอบตามเดิม โดยขณะทำความสะอาด ควรสวมถุงมือ สวมหน้ากากปิดจมูกและปากทุกครั้ง
จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น สำหรับกลุ่มเสี่ยง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับสถานที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ควรจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงอยู่ในห้องปลอดฝุ่น
- โดยเลือกห้องที่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เช่น ถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้าง
- ไม่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น จุดธูป หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน
- มีช่องว่างของประตู หรือหน้าต่างน้อยที่สุด
- และไม่มีสิ่งของที่เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น พรม หนังสือ ตุ๊กตาที่มีขน เป็นต้น
"ในช่วงที่ฝุ่นสูงให้ปิดประตู หน้าต่าง ให้มิดชิด และทำความสะอาด โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถู เพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย และสามารถเพิ่มอุปกรณ์ในการลดปริมาณฝุ่นภายในห้อง เช่น เครื่องฟอกอากาศได้ นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงจำนวนของผู้ที่ที่เข้ามาพักภายในห้องให้เหมาะสม ไม่ให้แออัดจนเกินไป และควรเปิดประตูเพื่อระบายความร้อน และระบายอากาศในช่วงที่ฝุ่นละอองลดลงด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทำบ้านให้สะอาด ด้วย 3ส 1ล
ทั้งนี้ วิธีการทำความสะอาดและจัดข้วาของในบ้านให้เป็นระเบียบสำหรับประชาชนด้วยหลัก '3ส 1ล' จากคำแนะนำของ กรมอนามัย มีดังนี้
1) ส.สะสาง คัดแยกสิ่งของที่ไม่จำเป็นหรือไม่ใช้แล้วออกไปเพราะจะเป็นแหล่งสะสมฝุ่น เช่น อุปกรณ์ที่ชำรุดใช้งานไม่ได้ หนังสือพิมพ์เก่า นิตยสาร วารสาร เป็นต้น โดยเฉพาะห้องที่อยู่เป็นประจำควรมีเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของให้น้อยชิ้นที่สุด เพื่อจะได้ทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง
2) ส.สะอาด ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและตามซอกมุมต่างๆ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น รวมทั้งล้างอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น พัดลม เครื่องปรับอากาศ แผ่นกรองอากาศและมุ้งลวด ให้สะอาดอยู่เสมอและยังช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องใช้ดังกล่าว สำหรับเครื่องนอน ควรซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนเป็นประจำ รวมทั้งควรซักทำความสะอาดผ้าม่านด้วย
3) ส.สร้าง ประชาชนควรสร้างสุขนิสัย ในการดูแลและทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝุ่นละอองสูง อาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบ้านมากขึ้น รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี รอบบริเวณบ้าน โดยปลูกต้นไม้ที่มีลักษณะใบหนา หยาบ มีขน เพื่อช่วยดักฝุ่นไว้รอบบ้าน เช่น ทองอุไร ตะขบฝรั่ง จามจุรี เป็นต้น หรือการทำละอองน้ำฝอยเพื่อลดฝุ่นที่ลอยจากพื้น
1ล คือ ลดหรือเลี่ยง กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองเพิ่ม เช่น การจุดธูป-เทียน การเผาขยะ การจุดเตาถ่าน และการสูบบุหรี่ รวมทั้งการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดี ไม่ก่อให้เกิดควันดำ เป็นต้น ทั้งนี้ ขณะทำความสะอาดควรสวมถุงมือ หน้ากากปิดจมูกและปากทุกครั้ง จะช่วยป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้ ประชาชนต้องหมั่นรักษาความสะอาดและดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งพื้นที่ในบ้านและรอบบริเวณบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นและเชื้อโรคต่างๆ ด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว