PM 2.5 ไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ ‘เวิร์กฟรอมโฮม’ หนีฝุ่น

PM 2.5 ไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ ‘เวิร์กฟรอมโฮม’ หนีฝุ่น

การแก้ไขของไทยจึงต้องเริ่มเสียแต่วันนี้ อย่าปล่อยให้ต้องบ่นกันทุกปี เวลา 10 ปีนั้นไม่นานเลยและถ้าทุกฝ่ายเอาใจอาจแก้ปัญหาได้เร็วกว่านั้นก็ได้ ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กลับไปเวิร์กฟรอมโฮมอีกครั้งก็น่าจะดี ไหนๆ เราก็คุ้นชินกันมาแล้วตอนโควิด-19 ระบาด

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กลับมาอีกแล้วซึ่งไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ แต่กระทรวงสาธารณสุขเตือนวานนี้ (2 ก.พ.) 14 จังหวัดน่าห่วง ค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดต่อกันเกิน 3 วัน หรือที่เรียกว่า พื้นที่สีแดง

เปิดดูดัชนีคุณภาพอากาศจากเว็บไซต์ iqair.com เมื่อเวลา 16.35 น. กรุงเทพฯ หลุดท็อปเท็นมาอยู่ในอันดับ 12 ระดับวัดค่าได้ 157 ไม่ห่างกันคือเชียงใหม่ อันดับ 14 วัดได้ 153 ส่วนอันดับ 3 ที่ไทยเคยครอง (ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ) ตกเป็นของกรุงฮานอย เวียดนาม วัดค่าได้ 172 สำหรับสาเหตุของฝุ่นกรุงเทพฯ อธิบายได้ว่ามาจากหลายปัจจัย

1) ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากจีนอ่อนกำลังลง เมื่อลมสงบอากาศจึงระบายได้ยาก

2) ความชื้นในอากาศเพิ่ม ฝุ่นละอองเมื่อมาเจอความชื้นเข้าก็กลายเป็นหมอกควัน 

3) รถยนต์เพิ่ม

4) โรงงานเพิ่ม ปัจจัยเหล่านี้เดากันได้ไม่ยาก หากเป็นต่างจังหวัดก็ต้องเพิ่มปัจจัยเรื่องการเผาทางการเกษตรเข้ามาด้วย 

หากมองในต่างประเทศเมื่อพูดถึงปัญหามลพิษทางอากาศที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ หนีไม่พ้นจีนและอินเดีย เรื่องนี้เห็นที่ต้องถอดบทเรียนจากต่างประเทศ

รัฐบาลจีนนั้นประกาศทำสงครามกับมลพิษในปี 2556 ทุ่มงบประมาณนับแสนล้านดอลลาร์ทำอากาศให้สะอาด ทางการกรุงปักกิ่งควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงาน ห้ามรถเก่าวิ่งบนถนน เปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหิน แม้มีเรื่องให้ต้องทำอีกมากแต่ความพยายามที่ว่านับว่าได้ผล นับตั้งแต่เริ่มรณรงค์กรุงปักกิ่งมีวันที่ท้องฟ้าสดใสมากกว่า 100 วัน ได้ยินอย่างนี้ก็พลอยดีใจไปด้วย  เห็นได้ว่าการแก้ปัญหาฝุ่นของจีนทำทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น

สำหรับ กทม. ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน Work from home เพราะเป็นการลดผลกระทบ ลดการเคลื่อนที่ ฝุ่นจากการจราจร และช่วยปกป้องสุขภาพของประชาชนไม่ต้องเสี่ยงออกไปพื้นที่โล่งและมีฝุ่น

ปรากฏการณ์ฝุ่นเกิดขึ้นตามฤดูกาล หน้าหนาวทีก็บ่นกันที การแก้ปัญหาเหมือนกับทำไปเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน พอเข้าหน้าร้อนมีเรื่องภัยแล้งเข้ามา ปัญหาฝุ่นถูกกลบด้วยเรื่องอื่นทั้งๆ ที่ในภาพรวมล้วนเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ถูกซ้ำเติมด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การแก้ปัญหาจึงต้องมีนโยบายที่เป็นองค์รวม มองยาว มองไกล ประสานหลายหน่วยงาน ปัญหาของเมืองใหญ่คือมลพิษจากยานพาหนะ ถึงเวลาหรือยังที่ต้องคิดเรื่องการเปลี่ยนจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายในใช้น้ำมันไปหายานยนต์พลังงานไฟฟ้า กรณีกรุงปักกิ่ง 10 ปีสภาพอากาศดีขึ้นมาก การแก้ไขของไทยจึงต้องเริ่มเสียแต่วันนี้ อย่าปล่อยให้ต้องบ่นกันทุกปี เวลา 10 ปีนั้นไม่นานเลยและถ้าทุกฝ่ายเอาใจอาจแก้ปัญหาได้เร็วกว่านั้นก็ได้

ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กลับไปเวิร์กฟรอมโฮมอีกครั้งก็น่าจะดี ไหนๆ เราก็คุ้นชินกันมาแล้วตอนโควิด-19 ระบาด ถ้าทำงานที่บ้านแล้วเสี่ยงเจอฝุ่นน้อยก็น่าทำ โควิด-19 คนไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว แต่ PM 2.5 ไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ มีแต่จะตายผ่อนส่ง