'บำรุงราษฎร์' แนะ 5 เสาหลัก ดันไทยสู่ มหาอำนาจทางการแพทย์

'บำรุงราษฎร์' แนะ 5 เสาหลัก ดันไทยสู่ มหาอำนาจทางการแพทย์

'รพ.บำรุงราษฎร์' เผยอนาคตและโอกาสของไทยในตลาด Medical Tourism และ Wellness แนะ 5 เสาหลัก เอาชนะความท้าทาย ดันไทยสู่มหาอำนาจทางการแพทย์

ตลาด Medical Tourism ทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าปี 2028 จะเติบโตกว่า 53.51 ล้านดอลลาร์ และตลาดด้าน Wellness ภายในปี 2025 คาดว่าจะโตถึง 7 ล้านล้านล้านดอลลาร์ โดยทั้ง 2 เซกเมนต์ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 “นภัส เปาโรหิตย์” Chief Marketing Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวในช่วง “Gear Up.... กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ภายในงาน เสวนา อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทย...สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก จัดโดย โพสต์ทูเดย์ และ เนชั่นทีวี ช่อง 22 โดยระบุว่า แม้ที่ผ่านมาไทยจะโดดเด่นในแง่ของ Medical Tourism แต่ไทยมีสัดส่วนเพียงแค่ 2-7% ของตลาด Medical Tourism ทั่วโลก หมายความว่าเรายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ขณะที่ในปี 2019 ไทยมีการเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ 3.5 ล้านครั้ง ทำรายได้ 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ สิงคโปร์ มีเพียง 8.5 แสนครั้ง แต่รายได้ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เรามีผู้ใช้บริการมากกว่า 4 เท่า แต่รายได้มากกว่าเพียง 19%

 

"นอกจากขีดความสามารถที่น่าจะเพิ่มขึ้นได้อีก ไทยยังต้องเอาชนะความท้าทายทั้งการพึ่งพานักท่องเที่ยวเป็นหลัก การติดกับดักในเรื่องขีดความสามารถในการส่งมอบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มี Value เพิ่มขึ้น การยกระดับความเชี่ยวชาญให้มากขึ้น และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย"

 

 

5 เสาหลักสู่มหาอำนาจทางการแพทย์

 

การก้าวไปสู่ มหาอำนาจทางการแพทย์ “นภัส” เสนอ 5 เสาหลัก ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกัน ได้แก่ 

1) National Agenda ยกระดับ Medical Tourism เป็น National Agenda มีการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมหรือประชาชน สร้างความเข้าใจประชาชน ถึงบทบาท รพ.เอกชนในการสนับสนุนให้ Medical Tourism เกิด

 

2) Value-Based Proposition ยกระดับการรักษาที่มากกว่าการมาตรวจร่างกายและไปเที่ยว แต่ต้องทำ High Intensity Care ในการรักษาโรคยากซับซ้อนเพื่อใช้ขีดความสามารถการแพทย์อย่างเต็มที่ , Customized Care เทรนด์การรักษาที่ทดแทนการรักษาแบบหว่านแห และสุดท้าย Wellness and Longevity ซึ่งคนเริ่มหันมาสนใจกันเยอะ เพื่อยกระดับ Value-Based ของไทยและทำให้การรักษาพยาบาลมีรายได้ที่สูงขึ้น

 

3) Human Capital พัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบทั้งด้าน Head ไม่ว่าจะเป็น Knowledge & Experience , Workload และทำให้เกิด Best Practice Migration อย่างชัดเจนระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล รพ.รัฐต่อเอกชน มหาวิทยาลัย และโรงเรียนแพทย์ต่างๆ และ ด้านของ Heart การส่งมอบการดูแลที่ดีที่สุดได้ทัศนคติต้องดี สุขภาพจิตต้องเข้มแข็ง ส่งผลต่อการดูแลเอาใจใส่ และต้องมีหลักธรรมาธิบาลและความซื่อสัตย์

 

 

4) Culture: Active Citizen ปลูกฝังความคิดเรื่องการรักสุขภาพไว้ในดีเอ็นเอของทุกคน สร้างบุคลากรให้มีความรอบรู้เรื่องสุขภาพ และสามารถส่งต่อสุขภาพดีให้แก่คนอื่นได้ 

 

5) Repositioning Thailand สื่อสารสร้างความเข้าใจถึงศักยภาพของการแพทย์ไทย

 

“ความท้าทายของไทยที่จะขับเคลื่อนสู่การเป็น Medical Tourism ในอนาคตต้องพยายามขยับไปสู่การเป็น Value-Based ถัดมา คือ ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่สำคัญเท่ากับคน ดังนั้น ต้องมุ่งพัฒนาคน เน้นเรื่องการป้องกัน ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีสุขภาพจิตที่ดี ส่งเสริมการชะลอวัยรับสังคมสูงวัย สร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมาดูแลตัวเอง เพราะการป้องกันจะทำให้เซกเมนต์เล็กๆ ในตลาดสามารถต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเป็นนวดแผนไทย สมุนไพร แพทย์ทางเลือกเติบโตในตลาด Wellness ได้” นภัส กล่าว