“BDMS” ทุ่ม 1,500 ล้านบาท พัฒนา Health Tech สู่ความยั่งยืน

“BDMS” ทุ่ม 1,500 ล้านบาท  พัฒนา Health Tech สู่ความยั่งยืน

นวัตกรรม เทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือ Health Tech”ได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลและการบริการด้านสุขภาพมากขึ้น เพราะไม่ใช่เพียงอำนวยความสะดวกให้ผู้คนสามารถเข้ารับการบริการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการ

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของไทย การเดินทางมาโรงพยาบาลคงไม่ใช่เรื่องง่าย และกระแสการรักสุขภาพของผู้คน ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ Health Tech ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ปัจจุบันในประเทศไทย Health Tech มามีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยจะเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน อาทิ เทเลเมดิซีน (Telemedicine) การบริการแพทย์ทางไกล ระบบนัดหมายเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชัน ระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล หุ่นยนต์บริการดูแลผู้ป่วย และการจัดส่งรับยาที่บ้าน เป็นต้น

เป็นระยะเวลากว่าหลายปี ที่ทาง 'บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS' ซึ่งเป็นผู้ประกอบการกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเครือข่ายมากกว่า 50 โรงพยาบาล ตั้งเป้าสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"HealthTech" สตาร์ทอัพไทย ลดช่องว่าง บริการสุขภาพ

BDMS เปิดบิ๊กโปรเจค "เวลเนส" 2.3 หมื่นล้าน รับสังคมผู้สูงอายุ

HEALTH TECH STARTUP กับโอกาสแห่งอนาคต

อัพเดทเทรนด์ "Health Tech2022" มุ่งใช้เทคโนโลยี เน้นป้องกันมากกว่ารักษา

 

BDMS ลงทุน1,500ล้านก้าวสู่ Health Tech

'ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์' ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า BDMS เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือ Health Tech เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

“BDMS” ทุ่ม 1,500 ล้านบาท  พัฒนา Health Tech สู่ความยั่งยืน

จากการดำเนินการเรื่อง Health Tech ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 จนถึงช่วงโควิด-19 Health Tech มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 30% และในปี 2565 ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของ Health Tech เพิ่มขึ้นเป็น 50% ดังนั้นจะเห็นได้ว่า Health Tech เป็นการดูแลสุขภาพเชิงรุกที่แม้สถานการณ์โรคไม่รุนแรง แต่ผู้ใช้บริการยังคงต้องการ

“ในปี 2566 นี้ BDMS จะใช้งบลงทุน 500 ล้านบาท เพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มในกลุ่มของ Health Tech โดยจะเป็นการทำงานร่วมกับ Startup ของไทย คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการรักษาพยาบาล”ดร.พัชรินทร์  กล่าว

 

5 กลยุทธ์พัฒนานวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

'BDMS' ได้ร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ อาทิ  คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล Startup ไทย อย่าง  Perceptra สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) รวมทั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) พัฒนา AI ที่มาช่วยแพทย์วินิจฉัยภาพถ่ายทางการแพทย์

ขณะนี้ ระบบปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวได้รับการติดตั้งเพื่อใช้งานจริงแล้วในโรงพยาบาล 34 แห่ง เพื่อช่วยวิเคราะห์โรคจากภาพรังสี โดยสามารถลดภาระงานของแพทย์รังสีวิทยาได้กว่า 2.5 ล้านบาท อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้ Startup ไทยกว่า 15 ล้านบาท

นอกจากนั้น ได้จัดตั้ง โครงการ BDMS Startup Pitching เพื่อเป็นสื่อกลางสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี ผ่านการเปิดพื้นที่โรงพยาบาลในเครือ BDMS ให้เป็นพื้นที่ทดลอง โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ของประเทศไปสู่ Smart healthcare เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“สำหรับกลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาเพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน 5 ด้านหลัก ได้แก่ การรักษาทางไกล (Telehealth) ปัญญาประดิษฐ์ การจัดการข้อมูลเพื่อดูแลสุขภาพเชิงรุก การพัฒนาบริการ และการนำเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยในแต่ละด้านนั้นได้มีการดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตอนนี้กำลังพัฒนาแพลตฟอร์ม BeDee Health ecosystem  เพื่อให้บริการผู้ป่วย และผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน ลดภาระแก่ทั้งบุคลากรของBDMS และผู้ใช้บริการ"ดร.พัชรินทร์ กล่าว

ปี 66 เปิดตัว 3 นวัตกรรมทางการแพทย์

'ดร.พัชรินทร์' กล่าวต่อไปว่าได้มีการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์มากมาย ทั้งการวินิจฉัยโรคและดูแลผู้ป่วยผ่านปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาเทรนด์การให้บริการ การลดขั้นตอนเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติการ การตรวจดูสุขภาพแบบเรียลไทม์เพื่อดูแลก่อนเกิดโรค และการให้บริการทางการแพทย์อย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาต่างๆ ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถใช้งานได้จริงผ่านแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่นต่างๆ 

เมื่อเร็วๆ นี้ BDMS ได้ให้การสนับสนุนทุนระดับ Series A แก่แอปพลิเคชันอูก้า (Ooca) เพื่อให้เป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพจิตทุกรูปแบบทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ขยายการดูแลลูกค้าในมิติที่หลากหลาย ผ่านการสร้างนวัตกรรมทางด้านจิตวิทยาเพื่อสังคม 

"ในปี 2566 นี้  จะมีการพัฒนานวัตกรรม Health Tech ทั้งหมด 3 นวัตกรรม โดยเป็นการทำงานร่วมกับกลุ่มสตาร์ทอัพ ได้แก่ Sukha จัดทำนวัตกรรมแผ่นปิดแผลไฮโดรเจลผสมผงไหมและน้ำผึ้ง ช่วยให้แผลแห้งเร็ว ,Perceptra พัฒนา AIช่วยวิเคราะห์ตรวจแมมโมแกรม และ Mineed Tech พัฒนา Micro needle patch for drug delivery เข็มที่สามารถสลายเองได้  ทั้งหมดนี้จะเห็นเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพทางการแพทย์"ดร.พัชรินทร์ กล่าว

'BDMS' มุ่งหวังที่จะสนับสนุนการพัฒนา Health Tech ของไทย ที่สร้างโดยคนไทย เพื่อคนไทย เพราะการพัฒนานวัตกรรมไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการทำงานเพียงลำพัง และ BDMS ก็เช่นกัน การยกระดับบริการทางการแพทย์ทั้งการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิต เป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ได้  แต่ต้องเกิดจากการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องให้เกิดเป็น Health Tech ที่จะช่วยดูแลสุขภาพคนไทยและคนทั่วโลก