เปิดชมรมถันยรักษ์ในราชภัฎ ปลุกวัยรุ่น พิชิตมะเร็งเต้านม
“มะเร็งเต้านม” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรไทย และเป็นมะเร็งที่พบมากอันดับ 1 ของโรคมะเร็งผู้หญิงทั้งหมด ในทุกปีมีอัตราแนวโน้มการเกิดโรคสูงขึ้น จากการศึกษาของ Global Cancer 2020 พบว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยที่สุด ในทั้ง 2 เพศ
Key Point :
- มะเร็งเต้านม พบมากทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรค
- ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 8,266 รายต่อปี หรือชั่วโมงละ 0.94 คน
- มูลนิธิถันยรักษ์ฯ จัดตั้งชมรมถันยรักษ์ในราชภัฎ สร้างความตระหนักคนรุ่นใหม่ คณาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย- ชุมชนตรวจมะเร็งเต้านม
- แนะจัดทำหลักสูตรตรวจมะเร็งเต้านมในสถานศึกษา สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจและป้องกันโรคมะเร็งเต้านม
ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ปีละ 2.26 ล้านคน หรือมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ชั่วโมงละ 258 คน โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบผู้ป่วย 'มะเร็งเต้านม' มากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมแปรผันตามรายได้ต่อหัวประชากร (GDP per capita)
ฉะนั้น แม้ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม อย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องพันธุกรรม เพศหญิงที่รับประทานฮอร์โมนทดแทนหลังหมดประจำเดือน และผู้ป่วยที่ประวัติเคยมีเนื้องอกของเต้านมบางชนิด วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในเมืองที่เจริญ น่าจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งเต้านมร่วมด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างไร? ในภาวะฝุ่นPM2.5
"ไขมันในเลือดสูง" ไม่มีอาการ เสี่ยงเสียชีวิตฉับพลันแม้ออกกำลังกาย
“ชมรมถันยรักษ์ในราชภัฎ”ลดมะเร็งเต้านม
การป้องกันตนเองจากมะเร็งเต้านม โดยการตรวจเต้านมอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จะทำให้พบสิ่งผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อที่จะรักษาให้ได้ผลดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชน ให้มีทักษะ และความเข้าใจในการดูแลตนเองที่ถูกต้อง รวมถึงการเฝ้าระวัง เป็นการช่วยลดปัญหาการเจ็บป่วย และอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากมะเร็งเต้านมได้
มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมกับกลุ่มทรู และมหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ ได้จัดกิจกรรม 'โครงการภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านมชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฎประจำปี 2565' เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และสร้างความตระหนักให้นักศึกษา คนรุ่นใหม่ คณาจารย์ บุคลากรในรั้วมหาวิทยาลัยร่วมดูแลสังเกต การตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ พร้อมขยายผลสู่ครอบครัว และชุมชนต่างๆ
“รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา” รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 28 ที่ทางมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ได้ขับเคลื่อนพันธกิจหลักในการรณรงค์และสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ให้นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้อย่างเหมาะสมเพื่อรักษาคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม
"ปัจจุบันประเทศไทยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 8,266 รายต่อปี หรือชั่วโมงละ 0.94 คน ดังนั้น การสร้างผู้ที่จะมาร่วมขับเคลื่อนให้ความรู้ สร้างความตระหนักและดูแลเรื่องนี้ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก"
ส่งเสริมพลังวัยรุ่น ลดอัตราป่วยมะเร็งเต้านม
“มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกัน รักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการตรวจพบและรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฎ มีภารกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนและคนไทย ถ้าได้นักศึกษา คณาจารย์เข้ามาช่วยรณรงค์ เผยแพร่ย่อมจะเกิดให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งโดยเริ่มจากคณาจารย์ นักศึกษาและขยายไปสู่ชุมชน สาธารณชนทั่วประเทศ การจัดตั้งชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฎ จะเป็นชมรมที่ช่วยเผยแพร่ ดูแล รณรงค์การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง” รศ.ดร.จิรายุ กล่าว
“นางบุษดี เจียรวนนท์” เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ กล่าวว่ามูลนิธิถันยรักษ์ฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์สื่อสารในวงกว้างให้ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้หญิงไทย ได้รับทราบถึงภัยและการดูแลป้องกันการเสียชีวิตจากมะเร้งเต้านม โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ ซึ่งมี 38 แห่งทั่วประเทศ เริ่มดำเนิน โครงการเผยแพร่ความรู้การดูแลเต้านมและการตรวจเต้านมตนเอง ซึ่งเริ่มจากนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร มหาวิทยาลัยราชภัฏ
พร้อมทั้งสนับสนุนทุนในการจัดตั้งชมรมฯ พร้อมด้วยอุปกรณ์และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้พื้นฐานสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ได้อย่างถูกต้อง ครอบคลุมทั้งการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ (E-Learning) และ ระบบบันทึกการตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเอง (BSE Application) อย่างสม่ำเสมอ
“ทางมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ได้ให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยมะเร็งเร็งเต้านม รวมถึงการดูแลสังเกต และตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้แก่ตัวแทนนักศึกษา และคณาจารย์ที่เข้าร่วมเพื่อนไปขยายผลทั้งในรั้วมหาวิทยาลัย และประชาชนในชุมชน ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินการกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎที่จัดตั้งชมรมถันยรักษ์ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการรณรงค์สื่อสารให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบและเข้าใจการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองมากกว่า 20,000 คน” นางบุษดี กล่าว
สถานการณ์มะเร็งเต้านมในปัจจุบัน เกิดขึ้นในกลุ่มผู้หญิงเอเชียที่มีอายุน้อยลงมากขึ้น ดังนั้น การเปิดโอกาสให้นักศึกษาจัดทำแผนงานการส่งเสริมการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองและขยายผลไปสู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย และคณาจารย์ บุคลากร ประชาชนในชุมชนฉะนั้น การประกวดภารกิจพิชิตเต้านม ตั้งชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฎ ประจำปี 2565 ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมส่งโครงการจัดตั้งชมรมถันยรักษ์เข้าประกวด 26 แห่ง เพื่อเป็นการสนับสนุนนักศึกษาคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการนำช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยให้รอดพ้นจากภัยมะเร็งเต้านม ดังพระราชปณิธานสมเด็จย่าฯ สืบไป
จัดทำหลักสูตรสอนเด็กทุกเพศตรวจมะเร็งเต้านม
“นายภาณุวัฒน์ ศิริลพ” นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ทีมชมรมถันยรักษ์ที่ได้รับชนะเลิศในการประกวดโครงการดังกล่าว เล่าว่าพวกเขาเรียนในหลักสูตรพยาบาล ซึ่งมีความรู้พื้นฐานในการดูแลและเข้าใจผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว แต่การได้เข้าร่วมชมรมถันยรักษ์ ทำให้ได้อบรมความรู้เพิ่มเติม
ขณะเดียวกันได้รับสนับสนุนในการทำสื่อ รณรงค์เพื่อให้เข้าถึงนักศึกษา คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย และชุมชนมากขึ้น อีกทั้ง ด้วยความเป็นผู้ชาย หลายคนมักจะมองเข้ามาและเกิดความสงสัยว่าทำไมถึงมีผู้ชายเข้าร่วมการอบรมด้วย ทำให้พวกเขาเกิดความสนใจ และเกิดการมาสอบถาม ทำให้ผู้ชายหันมาดูแลเรื่องของมะเร็งเต้านมมากขึ้น เพราะมะเร็งเต้านมเกิดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
“การเข้าร่วมชมรมถันยรักษ์ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้สนใจดูแลสุขภาพ และตระหนักในการป้องกันโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมจะสามารถเผยแพร่ไปสู่นักศึกษาด้วยกันได้ง่าย เพราะคนวัยเดียวกันย่อมเข้าใจกัน ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาสื่อที่เข้าถึงผู้คนได้หลากหลายมากขึ้น และการจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย และลงพื้นที่ชุมชนให้ทุกคนได้มีโอกาสตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองมากขึ้น” นายภาณุวัฒน์ กล่าว
นายภาณุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ในระบบการศึกษา มีการสอนเกี่ยวกับการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รณรงค์ให้ทุกคนเข้าถึงการตรวจมะเร็งเต้านม และรู้เท่าทันถึงโรคมะเร็งเต้านม เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักมะเร็งปอด และมะเร็งตับ แต่ไม่รู้ถึงมะเร็งเต้านม ยิ่งผู้ชายมักมองว่ามะเร็งดังกล่าวเป็นเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง ดังนั้น ควรจะมีการเพิ่มเติมความรู้ และมีการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนเข้าใจโรคมะเร็งเต้านม และตรวจมะเร็งเต้านมมากขึ้น