AnyMind เปิดเทรนด์อีคอมเมิร์ซเอเชียปี 68 ผู้บริโภคช้อปผ่านมือถือมากขึ้น

AnyMind เปิดเทรนด์อีคอมเมิร์ซเอเชียปี 68 ผู้บริโภคช้อปผ่านมือถือมากขึ้น

Shopee – Lazada ครองตลาด! AnyMind Group วิเคราะห์เทรนด์อีคอมเมิร์ซเอเชียประจำปี 2568 ผู้บริโภคช้อปผ่านมือถือมากขึ้น (Mobile-First) และโซเชียลคอมเมิร์ซกำลังมาแรง

AnyMind Group บริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันสำหรับการดำเนินธุรกิจ (BPaaS) เปิดเผยรายงานภูมิทัศน์อีคอมเมิร์ซเอเชีย 2568 โดย ศิวัตม์ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ AnyMind Group ประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ เน้นย้ำถึงกลยุทธ์ Mobile-First ที่ได้รับแรงขับเคลื่อนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่พึ่งพาอุปกรณ์มือถือมากขึ้น พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของโซเชียลคอมเมิร์ซที่มีบทบาทสำคัญในตลาดปัจจุบัน ในขณะที่เส้นแบ่งระหว่างโซเชียลมีเดียและการช้อปปิ้งออนไลน์เริ่มเลือนรางลง

สำหรับตลาดในประเทศไทย Shopee และ Lazada ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดหลัก ขณะที่ “ไลฟ์คอมเมิร์ซ” กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ขาย

สำหรับประเทศอื่นๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 

  • Shopee: ครองตลาดในเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยยังคงเป็นผู้นำในภูมิภาค
  • Lazada: ใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งและเทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ทำให้เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • TikTok Shop: ผสานวิดีโอสั้น ไลฟ์สตรีม และอีคอมเมิร์ซเข้าด้วยกัน สร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งที่เน้นความบันเทิงและมีส่วนร่วมสูง ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้บริโภควัยรุ่น และกลายเป็นแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์สำคัญในตลาด เช่น อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม โดยเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งของอีคอมเมิร์ซแบบดั้งเดิม

ในเอเชียตะวันออก ตลาดอีคอมเมิร์ซมีความหลากหลายสูง โดยมีทั้งผู้เล่นระดับโลกและผู้ให้บริการท้องถิ่น ได้แก่

  • ญี่ปุ่น: Amazon เป็นผู้นำตลาด ตามมาด้วย Rakuten และ Yahoo Shopping นอกจากนี้ Temu ซึ่งเข้าสู่ตลาดในปี 2023 สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่น่าจับตามอง
  • จีน: Taobao, Douyin, Pinduoduo, Xiaohongshu และ JD.com เป็นแพลตฟอร์มหลักในตลาด โดยอีคอมเมิร์ซที่ขับเคลื่อนด้วยคอนเทนต์กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับอีคอมเมิร์ซแบบดั้งเดิม
  • เกาหลีใต้: Coupang ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 61% โดดเด่นด้านบริการจัดส่งที่รวดเร็ว ขณะที่ Naver ซึ่งผสานรวมบริการหลายประเภทไว้ในแพลตฟอร์มเดียว กำลังกลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับนักช้อปออนไลน์ที่มองหาความสะดวกสบายและข้อมูลที่ครบถ้วน

รายงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชียที่หันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวตามทิศทางของตลาดอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การเชื่อมโยงระหว่างโซเชียลมีเดียและการช้อปปิ้งออนไลน์ที่เลือนรางลงนี้ ได้สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภคสินค้าและบริการของผู้คนในภูมิภาค